นักธรณีวิทยาพบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาในถ้ำที่กระบี่

นักธรณีวิทยาพบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาในถ้ำที่กระบี่

ชี้ เคยมีสภาพเป็น “ทุ่งหญ้าสะวันนา”

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยวันนี้ว่า กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งการค้นพบโครงกระดูกหินขนาดใหญ่ในตะกอนดินโบราณ จากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือ จังหวัดกระบี่ จึงเข้าดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 โดยตรวจสอบภายในถ้ำเขายายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จนพบว่า มีความเป็นไปได้ว่า จะเป็น
ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 

กรมฯ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์

ผลการตรวจสอบ พบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุด (Crocuta crocuta ultima) ร่วมกับ แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) กวางป่า (Rusa unicolor) และเม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ ๔ สายพันธุ์ในพื้นที่

จากการคาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่าง ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) หรือประมาณ สองแสนถึงแปดหมื่นปีที่ผ่านมา 

“การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาลายจุดที่ถ้ำยายรวก ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต เรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติซึ่งจะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ” ดร.กันตภณ กล่าว

ดร.กันตภณ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียร (Isotope) ของธาตุคาร์บอน และศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบ

ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีนหรือเมื่อสองแสนปีที่แบ้ว มีสภาพแวดล้อมเป็น “ทุ่งหญ้าสะวันนา” สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ 

นอกจากนั้น ยังมีข้อสันนิษฐานว่าการกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่นี้เป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนา (Savanna Corridor) ที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน (Sundaland) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย ในช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน

ถิ่นฐานของไฮยีนาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสะวันนา ปัจจุบันจึงพบไฮยีนาแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น ดร.กันตภณ ระบุ


โดยซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุดที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณสี่แสนปี ถูกพบที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 

สำหรับประเทศไทย พบไฮยีนาลายจุดกระจายตัวอยู่ ๖ พื้นที่ ประกอบด้วย

1. ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน Middle Pleistocene หรือ 2-1.6 แสนปี

2. บ่อทรายบ้านโคกสูง จังหวัดนครราชสีมา Middle Pleistocene

3. ถ้ำวิมานคินทร์ จังหวัดชัยภูมิ Middle Pleistocene

4. ถ้ำเพดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช Middle Pleistocene

5. ถ้ำประกายเพชร จังหวัดชัยภูมิ Late Pleistocene

6. และถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ คาดว่ามีอายุ Late Pleistocene ประมาณสองแสนถึงแปดหมื่นปี

ปัจจุบัน ไฮยีนาสายพันธุ์ย่อยนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

ขณะเดียวกัน นายสมหมายกล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี จะพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก จังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

ภาพ/ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์