เปิดสัมพันธ์สามเส้า ‘สหรัฐ-ซาอุฯ-อิหร่าน’

เปิดสัมพันธ์สามเส้า ‘สหรัฐ-ซาอุฯ-อิหร่าน’

ท่าทีระมัดระวังของทรัมป์สะท้อนนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ประชาชนสนับสนุนมากจนเขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 และตอนนี้ทรัมป์จะใช้นโยบายนี้อีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2563

เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน2 แห่งของซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ (14 ก.ย.) สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดน้ำมันโลก ล่าสุดเจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า ต้นตอมาจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน เมื่อผลการประเมินออกมาเช่นนี้ก็ยิ่งสร้างความตึงเครียดในตะวันออกกลางให้เพิ่มขึ้นไปอีก

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐ 3 รายเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การโจมตีครั้งนี้ใช้ทั้งขีปนาวุธร่อนและโดรน ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า การโจมตีซับซ้อนมากกว่าที่เคยประเมินกันไว้ตอนแรก

แหล่งข่าวไม่ได้ระบุหลักฐานหรืออธิบายวิธีการประเมินจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐ เพราะข้อมูลแบบนี้ถ้าเปิดเผยออกสู่สาธารณะ จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลวอชิงตัน ริยาด และอื่นๆ ให้ตอบโต้ เผลอๆ ถึงขั้นใช้กำลังทหาร

สถานีโทรทัศน์ทางการซาอุดีอาระเบียรายงานว่า กระทรวงกลาโหมจัดแถลงข่าวเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) แสดงหลักฐานว่าอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงกลั่นซาอุดีอารัมโก รวมทั้งมีการใช้อาวุธอิหร่าน

ขณะที่อิหร่านปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ สวนทางกับกบฏฮูตี พันธมิตรอิหร่านในสงครามกลางเมืองเยเมน ที่อ้างว่า ตนเป็นผู้ใช้ฝูงโดรนโจมตีโรงกลั่น โดรนหลายลำใช้เครื่องยนต์เครื่องบิน

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ย.) ว่า อิหร่านอาจอยู่เบื้องหลัง แต่พันธมิตรรายอื่นยังไม่ปักใจเชื่อ อาทิ ฌ็อง อีฟ เลอ แดรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีใครมีหลักฐานระบุได้ว่า โดรนดังกล่าวมาจากที่ใดกันแน่

ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ได้โทรศัพท์หารือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.) ระบุ ฝรั่งเศสยินดีให้ความช่วยเหลือคณะเจ้าหน้าที่สอบสวนนานาชาติ

สิ่งที่ต้องจับตามองทันทีหลังเกิดเหตุคือ นานแค่ไหนกว่าซาอุฯ จะฟื้นกำลังการผลิตได้ เพราะซาอุฯฟื้นเร็ว ราคาน้ำมันก็กระทบน้อย ซึ่งรัฐบาลริยาดก็รู้ตัวดีพยายามสร้างความเชื่อมั่นกับตลาดว่า จะกลับมาผลิตน้ำมันได้เต็มกำลังภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

ส่วนสิ่งที่ประชาคมโลกต้องจับตาตามมาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านประกาศชัด ไม่ยอมเจรจากับสหรัฐ จนกว่ารัฐบาลทรัมป์จะกลับมาเป็นภาคีข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่อิหร่านทำกับชาติตะวันตกแล้วสหรัฐถอนตัวไปเมื่อปี 2561

“ทางการอิหร่านไม่ว่าระดับใด จะไม่หารือกับทางการสหรัฐ นี่คือนโยบายสหรัฐที่ต้องการกดดันอิหร่าน” ผู้นำสูงสุดอิหร่านประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

เช่นเดียวกับทรัมป์ ที่กล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขาจะไม่พบกับประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่านในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์กเดือนนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐเสื่อมถอยหนัก หลังจากทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และคว่ำบาตรรัฐบาลเตหะรานอีกรอบฐานทำโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ การคว่ำบาตรส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจอิหร่าน เท่านั้นยังไม่พอทรัมป์ยังอยากให้อิหร่านยุติการสนับสนุนกลุ่มทำสงครามตัวแทนทั้งหมดในตะวันออกกลาง รวมทั้งฮูตีในเยเมน

ผู้นำศาสนาสูงสุดอิหร่านเปิดเผยว่า สนับสนุนกบฏฮูตี สู้รบกับกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุฯ ในเยเมน แต่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธว่าไม่เคยสนับสนุนฮูตีไม่ว่าจะด้านการเงินหรือการทหาร

สำหรับฮูตีแม้จะถูกถล่มทางอากาศมานานหลายปี แต่กลุ่มก็ยังโวว่ามีโดรนและขีปนาวุธที่สามารถเข้าไปถึงตอนในของซาอุดีอาระเบีย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทรัมป์อีกรายหนึ่งเผยว่า ข้ออ้างของฮูตีที่ว่าใช้โดรน 10 ลำโจมตีนั้นไม่น่าเชื่อถือ จริงๆ แล้วโรงกลั่นอับกิกถูกถล่มอย่างน้อย 17 ครั้ง ส่วนโรงกลั่นใกล้เคียงก็ถูกโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีที่แม่นยำมากอย่างน้อย 2 ครั้ง ข้ออ้างของฮูตีจึงไม่ตรงกับผลการตรวจสอบ ฮูตีไม่เคยใช้โดรนในการโจมตี

ย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานตึงเครียดหนัก หลังเกิดเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายลำในอ่าวเปอร์เซีย ที่สหรัฐกล่าวโทษว่าเป็นฝีมืออิหร่าน หรือเหตุอิหร่านยิงโดรนกองทัพสหรัฐ 1 ลำ จนสหรัฐต้องเตรียมโจมตีทางอากาศแก้แค้น แต่ทรัมป์มายกเลิกในวินาทีสุดท้าย

ด้านซาอุฯ ที่เป็นฝ่ายถูกโจมตีโรงกลั่น กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า รัฐบาลริยาดขอให้ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมาร่วมสอบสวนเหตุที่บ่งชี้ว่าต้นตอไม่ได้มาจากเยเมน

เจ้าหน้าที่สหรัฐ 1 ใน 3 คน มั่นใจว่า หลักฐานที่ซาอุฯ เก็บได้มีมากพอบ่งชี้ได้ว่า การโจมตีโรงกลั่นมาจากไหน

วานนี้ (18 ก.ย.) สำนักประธานาธิบดีฝรั่งเศสแถลงว่า ฝรั่งเศสจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปซาอุฯ เพื่อช่วยสอบสวนการโจมตีโรงกลั่น ที่ประธานาธิบดีมาครงประณามอย่างรุนแรง และรับรองกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแล้วว่า ฝรั่งเศสจะร่วมดูแลเสถียรภาพให้กับตะวันออกลาง

อย่างไรก็ตาม หันมาดูท่าทีทรัมป์ต่ออิหร่านในกรณีนี้เห็นชัดว่าอ่อนลงมาก วันแรกที่เกิดเหตุทรัมป์บอกว่าพร้อมตอบโต้ แต่ 4 วันผ่านไปบอกว่า รอผลสอบสวนโดยส่งไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศไปหารือกับซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) เมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.)

“มีเวลามากมาย ไม่ต้องรีบหรอก”ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ย.)

ท่าทีระมัดระวังของทรัมป์สะท้อนนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ประชาชนสนับสนุนมากจนเขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 และตอนนี้ทรัมป์จะใช้นโยบายนี้อีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2563

จอน อัลเตอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา อดีตเจ้าหน้าที่กระทรงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ทรัมป์ระมัดระวังมากขึ้นเรื่องการใช้ปฏิบัติการทางทหาร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคงคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดีหากทำสงครามกับอิหร่าน ฐานเสียงทรัมป์จำนวนมากเชื่อว่า เป็นเรื่องงี่เง่าที่สุดหากสหรัฐจะผูกมัดตัวเองเข้ากับสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดในตะวันออกกลาง

ท่าทีของทรัมป์วันนี้ถือว่าตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อปี 2560 หรือตอนที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ถึง 3 เดือน เขาใช้เวลาเพียง 2 วันก็เปิดการโจมตีทางอากาศสั่งสอนกองทัพประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย ที่ใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือน แต่ถึงวันนี้ทรัมป์เริ่มมีอาการลังเล ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างสหรัฐ อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย ยังไม่จบเพียงแค่นี้แต่มีให้ลุ้นเรื่อยๆ พร้อมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก