'นอนไม่พอ' ฉุดเศรษฐกิจ วิกฤติ 'สุขภาพ' คนเอเชีย

'นอนไม่พอ' ฉุดเศรษฐกิจ วิกฤติ 'สุขภาพ' คนเอเชีย

ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นวิกฤติสุขภาพที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการนอนหลับไม่พอ มีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน และยังนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ทำให้ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากสำหรับค่ารักษาพยาบาล  

 “สจ๊วต เอ สเปนเซอร์”  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัทเอไอเอ หรือ AIA Group เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับ ที่ได้จากการสำรวจในประเทศจีน ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียว่า     มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (55%)  ระบุว่านอกหลับเพียงคืนละ 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น (คืนละ 7 - 9 ชั่วโมงเป็นจำนวนชั่วโมงการนอนหลับที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใหญ่)

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม69%รู้สึกไม่พอใจกับจำนวนชั่วโมงการนอนของตัวเอง อีก 62% กังวลว่าจะนอนหลับไม่เพียงพอ หรือต้องการมีเวลานอนมากขึ้น ส่วน 30%รู้สึกไม่พอใจในคุณภาพการนอนหลับของตัวเอง และ 62%เห็นด้วยว่าการนอนหลับเพิ่มอีก “หนึ่งชั่วโมง”จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและกระปรี้กระเปร่าขึ้น

ขณะเดียวกันจากการศึกษายังพบว่า การนอนหลับอย่างไม่เพียงพอเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและทวีความรุนแรงมากขึ้นในเอเชีย โดยเฉลี่ยแล้วคนเอเชียนอนน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก  และที่เลวร้ายกว่านั้น คนในเอเชียกว่า10%มีอาการป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับการนอนหลับ รวมถึงยังพบว่าคน70%ของไทย และ76% ของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นคนรวยขึ้น แต่ไม่มีสุขภาพที่ดี  ซึ่งเป็นวิกฤติสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย และมีโอกาสทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของประเทศลดลงได้

ดังนั้น บริษัทจึงต้องการกระตุ้นให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมให้นอนหลับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1 ชั่วโมงและมีคุณภาพมากขึ้น   จึงได้เปิดตัวโครงการ  “#OneMoreHour”  ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ พร้อมกับปรับแอพพลิเคชันเอไอเอ ไวทัลลิตี้เร็วๆนี้ เพื่อส่งเสริมและให้รางวัลแก่ผู้ที่มีนิสัยการนอนที่ดีต่อสุขภาพ

 โดยจะกระตุ้นให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน ผ่านแบบประเมินการนอนหลับและการเก็บคะแนนจากการนอนหลับในแอพพลิเคชั่น เอไอเอ ไวทัลลิตี้ ที่เชื่อมต่อกับเครื่องมือติดตามการนอนหลับ (Sleep Tracker)

นอกจากนี้ บริษัทยังได้สร้างศูนย์ข้อมูลการนอนหลับ(sleep content hub) ที่ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกมากมายเกี่ยวกับวิธีการปรับเปลี่ยนการนอนให้ดีขึ้น โดยมีทั้งบทความ และวีดีโอ รวมทั้งเคล็ดลับจาก “เดวิด เบคแฮม”  แบรนด์แอมบาสเดอร์ของกลุ่มบริษัทเอไอเอ และจากพันธมิตรอื่นๆ เช่น สโมสรท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ และเชฟชื่อดังจากประเทศอังกฤษ “ เจอเรมี แปง” อีกด้วย

สำหรับโครงการนี้ ตั้งเป้าหมายดูแลลูกค้าเอไอเอทั่วโลกในระยะยาว  และป้องกันผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจุบันมีมากกว่า34 ล้านคน ใน18ประเทศ และเป็นสมาชิกกรมธรรม์ประกันกลุ่มมากกว่า 16 ล้านคน

ขณะที่ “โครงการไวทัลลิตี้” ใน11ประเทศ ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากใน 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โดยพบว่า ลูกค้ามีการซื้อประกันและต่อสัญญาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตัวแทนของบริษัทก็มีความสุขในการขายประกันและขายเบี้ยประกันได้เพิ่มขึ้น

 นอกจากนี้ จากกลุ่มสำรวจลูกค้าใช้งานเอไอเอไวทัลลิตี้จำนวน 3,000คน พบว่ามีระดับพัฒนาการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น โดย75% มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและ39% มีระดับไขมันเลว LDL ลดลง

 ด้าน “ไมเคิล ฉี” ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ Duke -NUS Medical School ประเทศสิงค์โปร์  เปิดเผยว่า จากการร่วมศึกษากับเอไอเอในโครงการนี้ พบว่า ระยะเวลาการนอนที่เหมาะสม สำหรับเด็ ควรนอน 8-19 ชั่วโมง,  ผู้ใหญ่ 7-9 ชั่วโมง และผู้สูงอายุควรนอน 6 ชั่วโมงขึ้นไป  

ทั้งนี้ การนอนหลับอย่างเพียงพอ เป็นประโยชน์ต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ลดโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการควบคุมน้ำหนัก มีระบบภูมิคุมคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้น ทำให้อารมณ์ดี และเพิ่มระดับพลังงาน ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ลดความตึงเครียดและวิตกกังวล

อีกทั้ง จากการศึกษาวิจัยผลกระทบของการนอนหลับไม่เพียงพอ ยังพบอีกว่า การนอนหลับไม่เพียงพอมีผลกระทบต่อจีดีพีที่ลดลง เนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเสื่อมถอย เพราะคนต้องขาดงาน (Absenteeism) หรือ ถึงจะตัวจะมาทำงาน แต่ก็ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ (Presenteeism) เพราะไม่มีพลังมากพอที่จะทำงานได้เท่าที่ควร

โดยการทำวิจัยของ RAND CORPORATION ที่ได้วิจัยในประเทศในกลุ่มโออีซีดี( OECD)  5 ประเทศ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่า การนอนหลับอย่างไม่พอเพียง  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำนวนมาก   และถึงแม้ว่าการวิจัยดังกล่าว จะไม่ได้ครอบคลุมประเทศในเอเชีย แต่เขาก็เชื่อว่าประเทศกลุ่ม OECD เป็นประเทศที่มีแนวโน้มคุณภาพการนอนดีกว่าประเทศในแถบเอเชีย

 ดังนั้น ผลกระทบเชิงลบจากการนอนหลับไม่เพียงพอของคนในประเทศกลุ่มเอเชีย  น่าจะแย่กว่าประเทศในกลุ่ม OECD แน่นอน