เยือน ‘คาซัคสถาน’ เปิดเวทีนักเขียนเอเชีย

เยือน ‘คาซัคสถาน’ เปิดเวทีนักเขียนเอเชีย

งานนี้จัดขึ้นเพื่อกระชับและพัฒนาสายสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและวรรณกรรมในหมู่ประเทศเอเชียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาวรรณกรรม และส่งเสริมคุณค่าทางวรรณกรรมและจิตวิญญาณแห่งคาซัคสถานให้แวดวงวัฒนธรรมโลก

ชาติอธิปไตยทุกชาติล้วนเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่จะดีกว่านั้นหรือไม่ หากชาติอธิปไตยจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวรรณกรรมด้วย เหมือนอย่างที่ “คาซัคสถาน” ประเทศในแถบเอเชียกลาง เพิ่งจัดงานประชุมนักเขียนเอเชีย (The First Forum of Asian Countries’ Writers)ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.ตอกย้ำภาพลักษณ์ความโดดเด่นด้านวรรณกรรมของดินแดนนี้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

งานจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่ศูนย์ประชุมคองเกรสในกรุงนูร์-ซุลตันประธานาธิบดีคัสซิมโจมาร์ท โตกาเยฟมาเปิดงานด้วยตนเอง ท่ามกลางนักเขียนทั้งชาวต่างชาติและชาวคาซัคร่วม 300 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเขียนชื่อดังราว 70 คนจาก 38 ชาติเอเชีย มีทั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม อย่าง โค อึน จากเกาหลีใต้ โมซา อัล มัลกี นักเขียนหญิงจากกาตาร์มันด์-อูโย จากมองโกเลียอมาร์ มิตรา

นักเขียนรางวัลนานาชาติเอเชียใต้จากอินเดียอนาร์ ราซุล รซาเยฟนักเขียนขวัญใจประชาชนจากอาร์เซอร์ไบจาน เป็นต้น

ประธานาธิบดีคาซัคสถานกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของทวีปเอเชีย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมสำคัญของโลก หากไม่มีอารยธรรมอาหรับ เปอร์เซีย จีน อินเดีย ก็คงจินตนาการไม่ออกว่ามนุษยชาติจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงคาซัคสถานและเอเชียกลางจะต้องนึกถึงเส้นทางสายไหม

“หลายคนยังคงคิดถึงเส้นทางสายใหม่เพียงเฉพาะในบริบททางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความจริงแล้วเส้นทางสายไหมในฐานะประวัติศาสตร์ คือพลังหลอมรวมอารยธรรม การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียไปพร้อมกับการผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วของวรรณกรรม ศิลปะ และระบบการศึกษา” ประธานาธิบดีกล่าว

ส่วนงานวรรณกรรมคาซัคสถานเองก็ไม่น้อยหน้าใคร ประธานาธิบดีโตกาเยฟขอบคุณนักเขียนในชาติ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน และว่าขณะนี้ประชาคมโลกกำลังสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมของคาซัคสถาน ผลงานของนักเขียน 30 คนและกวี 31 คน จะได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาประจำสหประชาชาติ 6 ภาษา เผยแพร่ไปสู่ผู้อ่าน 2.5 พันล้านคนในกว่า 90 ประเทศจาก 5 ทวีป

เท่านั้นยังไม่พอสำหรับการพัฒนาวรรณกรรมเอเชีย ประธานาธิบดีโตกาเยฟ เสนอให้รางวัลพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะและเสนอให้สร้างห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เก็บผลงานของนักเขียนเอเชีย

เสร็จจากภาคพิธีการบนเวทีมีการเสวนาเรื่องวรรณกรรมเอเชีย โดยนักเขียนชั้นนำในภูมิภาคต่างมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หนึ่งในนั้นคือมูฮัมหมัด ฮาญี ซาลเละห์นักเขียนรางวัลซีไรต์จากมาเลเซีย ที่เล่าว่า เอเชียเป็นศูนย์กลางอัจฉริยะด้านวรรณกรรม แต่น่าเสียดายที่ชาวเอเชียรู้จักตะวันตกมากกว่าตนเอง

ซาลเละห์เคยเป็นครูมาหลายปีจึงให้ความสำคัญกับงานวรรณกรรม เล่าว่าสมัยก่อนมีการเรียนวรรณกรรมที่ช่วยให้เด็กได้รู้จักคนอื่น ได้รู้จักจริยธรรมความเป็นมนุษย์ แต่ตอนนี้ไม่มีการสอนแบบนี้อีกแล้วมีแต่เทคโนโลยีประเทศที่ไม่สอนวรรณกรรมเป็นประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ “จำเป็นต้องนำหลักสูตรนี้กลับมา เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความเป็นมนุษย์”

นอกจากนี้วรรณกรรมยังเขียนเรื่องธรรมชาติ การเกิดไฟป่าที่ไม่ได้มีแค่ในบราซิล แต่อินโดนีเซียและมาเลเซียก็มีเช่นกันชี้ให้เห็นว่า เพราะมนุษย์ไม่สนใจธรรมชาติ เราต้องนำธรรมชาติกลับมาเพราะเป็นส่วนหนึี่งของชีวิต และงานวรรณกรรมจะเขียนเรื่องเหล่านี้

และการส่งเสริมงานวรรณกรรมที่นักเขียนผู้นี้นำเสนอไว้คือ ควรแปลวรรณกรรมเอเชียให้มากมายหลายภาษา เพื่อให้ชาวเอเชียได้รู้จักกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักเขียนรุ่นใหม่ และแจกรางวัลนักเขียนเอเชีย

งานวันนั้นมีนักเขียนหญิงไทยไปร่วมงานด้วย ทั้งจิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ “พี่จี๊ด” กวีซีไรต์ประจำปี 2532 และ "พี่ต๋อย" ชุติมา เสวิกุล" ทั้งสองคนเพิ่งมาคาซัคสถานเป็นครั้งแรกและประทับใจกับงานนี้มาก

“มาถึงแล้วถึงรู้ว่าประเทศแถบนี้ไม่ได้ยากจนเลย เห็นได้จากการจัดงานนักเขียนเอเชีย บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยความล้ำสมัย อาคารสูง สถาปัตยกรรมสวยงาม กรุงนูร์-ซุลตันเป็นเมืองใหม่ที่มีการวางผังเมืองอย่างสมบูรณ์ ยิ่งรู้ว่าสถาปนิกเป็นคนคาซัคก็ยิ่งทึ่ง” กวีซีไรต์กล่าวถึงความประทับใจกับเมืองหลวงใหม่ของคาซัคสถาน ที่ความงดงามของสถาปัตยกรรมฝีมือของคนในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์

ส่วนมุมมองต่อศักยภาพด้านวรรณกรรมคาซัคสถานที่ได้จากเวทีเสวนา จิระนันท์กล่าวว่าวรรณกรรมที่นี่ยังเป็นแนวชาตินิยม อาจเป็นไปได้ว่าเป็นประเทศที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต อิทธิพลของโซเวียตในงานวรรณกรรมคาซัคสถานมีสูงมากปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลอง 175 ปีของ “อาไบ” (Abai)นักกวีและนักปรัชญาชาวคาซัคที่ไม่ได้โดดเด่นแค่ในแง่วรรณศิลป์ แต่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสังคม บทกวีของอาไบ กล่าวว่า “เราจะพ้นจากความยากจนได้ก่อนอื่นต้องมีปัญญา” หรือ “ถ้าจะเอาชนะคนร้อยคนต้องใช้อาวุธ แต่ถ้าจะเอาชนะคนพันคนต้องใช้ปัญญา” กวีคนนี้จึงเปรียบเสมือนผู้นำทางความคิด

จากความเฟื่องฟูในอดีตเข้าสู่ยุค Technology Disruption ผู้คนอ่านหนังสือน้อยลงเมื่อเป็นเช่นนี้วรรณกรรมและนักเขียนจะอยู่หรือไป กวีซีไรต์อย่างจิระนันท์จะหวาดหวั่นกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่

“เรื่องอวสานสิ่งพิมพ์รู้กันอยู่แล้ว แต่พี่ไม่เชื่อว่าจะอวสานผู้อ่าน ผู้อ่านไม่อวสานแต่ย้ายแพลตฟอร์ม วรรณกรรมอาจจะฝ่อลงเพราะความสนใจของคนวาไรตี้มากขึ้น มีฟิลด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย อินเทอร์เน็ตอาจ disrupt พฤติกรรมการอ่าน แต่ไม่ได้ disrupt สติปัญญาทั้งหมด ต่อไปนักอ่านจะเหลือแต่คนที่รู้จริงแน่จริงที่ยังอ่านหนังสืออยู่ ส่วนพวกที่วันๆ ดูแต่ชม ชิม ช็อป แชะก็จะหายไป ในฐานะคนเขียนก็สะใจเหมือนกันที่ต่อไปจะเหลือแต่ของแท้กลั่นกรองกันเอง” นักเขียนดังให้ความเห็น

ขยับจากคาซัคสถานไปสู่ความสัมพันธ์ในหมู่นักเขียนอาเซียน ในทัศนะของจิระนันท์มองว่า นักเขียนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นักเขียนไทย-ลาวใกล้ชิดกัน นักเขียนมาเลเซียใกล้ชิดกับนักเขียนทางภาคใต้ของไทย ที่ยังไม่ค่อยคุ้นกันคือนักเขียนเมียนมา เป็นไปได้ว่าเพราะปิดประเทศมานาน แนวโน้มความสัมพันธ์นักเขียนอาเซียนดีขึ้น แม้ว่านักอ่านน้อยลง รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงหรือแม่โขงอวอร์ดส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจข้ามชาติมากขึ้น

ส่วนความสัมพันธ์ต่อยอดระหว่างนักเขียนไทยกับคาซัคสถาน ชุติมา ในฐานะประธานชมรมวรรณศิลป์ “ประภัสสร เสวิกุล” เผยว่า ชมรมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสหภาพนักเขียนคาซัคสถานถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการ “เปิดประตูสู่สากล” นำวรรณกรรมไทยสู่ผู้อ่านในเอเชียกลาง แลนำวรรณกรรมเอเซียกลางมาให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่คุณประภัสสร หวังและตั้งใจไว้

จากมุมมองนักเขียนสู่สายตาผู้สังเกตการณ์เซโน โจโก สุโยโนบรรณาธิการสื่อเครือเทมโปของอินโดนีเซีย ตั้งข้อสังเกตว่า น่าเสียดายที่ควรจะมีนักเขียนจากเมียนมาและจีนได้ร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถูกทางการปราบปราม

ส่วนตัวเขานั้นมองว่าเราทุกคนล้วนเป็นชาวเอเชียด้วยกัน แต่ไม่รู้จักกัน มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์แต่ไม่เคยเข้าใจกัน งานวรรณกรรมจะช่วยให้เอเชียรักษาคุณค่าของโลกในแง่สันติภาพและความอดทนอดกลั้นเอาไว้ได้