ส่องเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมการค้า 'ตลาดจีน'

ส่องเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมการค้า 'ตลาดจีน'

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

สำนักงานธุรกิจประเทศจีน คาดว่า ยอดค้าปลีกตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศจะเติบโต 37% ในปลายปี 2562 นี่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเชื่อมโยงการค้าออนไลน์กับจีน

เทค อี-บิสสิเนสเซ็นเตอร์ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ภูมิทัศน์การค้าอีคอมเมิร์ซจีน 4.0 และตลาดดิจิทัล” เพื่อผลักดันให้นักธุรกิจไทยขับเคลื่อนการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ และใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าถึงตลาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน

ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองและสะท้อนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการค้าในประเทศจีนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมโครงการผู้บริหารระดับสูงกับอาลีบาบา ทำให้เห็นถึงปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจในจีนเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี ได้แก่ ความเห็นความสำคัญในตัวเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจให้ง่ายขึ้น

"นักการตลาดหรือนักธุรกิจจีนในทุกแวดวงต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการค้า เช่น หุ่นยนต์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงธุรกิจในจีนอย่างมาก โดยธุรกิจแรกที่นำมาใช้งานได้แก่ ร้านแลกเหรียญอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่แทนคน" ณัฐพรระบุ

ณัฐพร ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เห็นการนำหุ่นยนต์มาใช้กับธุรกิจในจีนว่า ในปี 2556 จีนได้ทดลองนำหุ่นยนต์มาใช้ทำแฮมเบอร์เกอร์ โดยนำวัตถุดิบสำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์วางเรียงเป็นวงกลม ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง แฮม ผัก เพื่อให้หุ่นยนต์แขนกลหยิบวัตถุดิบเหล่านี้หยิบเรียงเป็นชั้น ๆ จนได้แฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น

ต่อมาปี 2558 เปิดตัวหุ่นยนต์พ่อครัวชื่อโคยา และโคนาของร้านขายราเมนในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเชฟปรุงราเมนได้ถึง 4 เมนู และในปี 2561 ได้มีการนำหุ่นยนต์เชฟบะหมี่ด้วยแขนกลปรุงบะหมี่ร้อนและเสิร์ฟลูกค้า ซึ่งจากนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ร้านราเมน แต่สามารถพบเห็นหุ่นยนต์เชฟบะหมี่ที่โรงอาหารในสำนักงานต่าง ๆ นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถสั่งบะหมี่ผ่านแอพพลิเคชั่นล่วงหน้าอีกด้วย 

ณัฐพร กล่าวด้วยว่า จีนยังใช้เทคโนโลยีในการให้บริการภายในโรงแรม อย่าง โรงแรมฟลายซู อาลีบาบา (Alibaba Flyzoo Hotel) ซึ่งแขกผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้งานหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารมาทานที่ห้องแล้วสามารถเรียกหุ่นยนต์มาเก็บจาน หรือแม้แต่บริการในภัตตาคารภายในโรงแรมหรือฟิตเนสที่ระบบสามารถเช็คข้อมูลความชอบส่วนตัวของแขกแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการบริการ

"การใช้เทคโนโลยีในการบันทึกจดจำความชื่นชอบและต้องการของลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างความประทับใจ หรือการนำเทคโนโลยีภาพเสมือน 3 มิติ มาใช้กับการสร้างบรรยากาศเหมาะแก่การพักผ่อน อย่าง ห้องฟิตเนส เพื่อให้ลูกค้าปั่นจักรยานออกกำลังกายในธีมต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน" ณัฐพรเล่า

ด้าน อาร์เธอร์ เหยียว รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท INnSHINE ซึ่งเป็นบริษัทการตลาดชื่อดังของจีน กล่าวว่า สมาร์ทโฟนได้สร้างระบบนิเวศการค้าภายในประเทศจีน และได้สะท้อนภาพตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนได้ชัดเจนที่สุด

"จีนเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับตลาดโลกและยังเป็นตลาดที่มีการพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาเอง อย่าง เวยโป๋ วีแชท และคิวคิว“ อาร์เธอร์กล่าว และว่า ”ดังนั้นการที่จะทำตลาดในจีน จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ผลักดันผู้บริโภคชาวจีน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในตลาด"

รองผู้จัดการทั่วไป INnSHINE ชี้ว่า แนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคจีนที่ควรจะทำความเข้าใจก่อนทำตลาด ได้แก่ 1. กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนนิยมใช้มือถือ เพื่อทำให้ทุกอย่างในชีวิตง่ายขึ้น โดยใช้เวลาไปกับมือถือเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจะคิดกลยุทธ์การทำตลาด ต้องคิดถึงพฤติกรรมที่โดดเด่น 2. อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย เพื่อเชื่อมโยงและเข้าถึงผู้บริโภค

3. คลิปวีดิโอ สื่อที่สะท้อนถึงความต้องการผู้บริโภค เจาะกลุ่มเป้าหมายและเข้าถึงทัศนคติของผู้บริโภค 4. พฤติกรรมแบ่งปันประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียของคนจีน เป็นจุดนำมาใช้ในธุรกิจได้

อาร์เธอร์ปิดท้ายว่า การทำตลาดที่มีขนาดใหญ่อาจดูเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่การที่รู้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะการชอบลองของใหม่ ซึ่งพบว่า ผู้บริโภคชาวจีน 54% เต็มใจที่จะซื้อสินค้าหรือทดลองซื้อแบรนด์ใหม่ ๆ ขณะที่ 46% สนใจเสิร์ชหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ดังนั้น จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่จากไทยในการบุกตลาดจีน