นักเดินทาง ‘จีน’ ขาลง ฉุดท่องเที่ยว ‘อาเซียน’

นักเดินทาง ‘จีน’ ขาลง ฉุดท่องเที่ยว ‘อาเซียน’

แหล่งท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับบรรยากาศซบเซา ไล่ตั้งแต่ชายหาดอันเงียบเหงาบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ไปจนถึงโรงแรมที่มีห้องพักว่างจำนวนมากในกรุงฮานอยของเวียดนาม

ความเจ็บปวดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้ มีปัจจัยหลักจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปต่างประเทศน้อยลง

กระแสเฟื่องฟูของการเดินทางออกไปต่างแดนของชาวจีนเคยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกลับส่งผลตรงกันข้าม ตัวเลขที่ลดลงอย่างกะทันหันของนักเดินทางชาวจีนกลายเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดสำหรับประเทศอย่างไทยและอินโดนีเซีย ที่พึ่งพาเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียมากเกินไป

“การลดลงของจำนวนผู้มาเยือนชาวจีนและการใช้จ่ายท่องเที่ยวลดลงส่งผลกระทบลามไปทั้วภูมิภาค” กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยกับเว็บไซต์บลูมเบิร์ก และว่า “ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวเกิดขึ้นเมื่อพึ่งพาตลาดแห่งเดียวมากเกินไป และหลายประเทศอาจหาตัวแทนสำหรับการเติบโตนี้ได้ไม่เร็วพอ”

กำพล คาดการณ์ว่า ภาวะขาลงนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 หากสงครามการค้ายังคงบั่นทอนเศรษฐกิจของจีน

รายงานของบริษัทแมคคินซีย์ ระบุว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้ผู้บริโภคชนชั้นกลางของจีนต้องการไปต่างประเทศมากขึ้นและทำให้จีนกลายเป็นตลาดส่งออกนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขการเดินทางที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจาก 57 ล้านครั้งในปี 2553 มาอยู่ที่ 131 ล้านครั้งในปี 2560

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักกลายเป็นจุดหมายปลายทางแรกสำหรับนักเดินทางชาวจีน เมื่อต้องเลือกปลายทางที่ไกลบ้านเกิดที่สุด” รายงานดังกล่าวระบุ

นอกจากนั้น ผลสำรวจนักเดินทางต่างแดนของจีนเมื่อปี 2560 ของแมคคินซีย์ยังพบว่า ชาวจีนจองทริปท่องเที่ยวไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด

กลุ่มทัวร์จีน ร้านอาหารจีน และบริการชำระเงินผ่านมือถือภาษาจีน ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เมืองดานังของเวียดนาม ไปจนถึงเมืองยอกยาการ์ตาของอินโดนีเซีย นักเดินทางเหล่านี้แห่เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีข้อดีตรงที่อยู่ใกล้กับประเทศจีนและรสชาติอาหารคุ้นปาก

อย่างไรก็ตาม ภาวะขาลงในขณะนี้กำลังคุกคามอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังจากบรรดาบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มความพยายามและทุ่มเงินทุนหลายล้านดอลลาร์เพื่อขยายรีสอร์ท โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่สุดท้ายอาจกลายเป็นลงทุนศูนย์เปล่า

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทโรงแรม บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาของไทย รายงานว่า ธุรกิจโรงแรมของตนซบเซาลงในไตรมาส 2 ซึ่งรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหารบริษัทกล่าวกับนักลงทุนเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงจากจีน

อัตราการเข้าพักโรงแรมเครือเซ็นทรัล ลดลง 7% ในไตรมาสดังกล่าว และบริษัทยังมีแผนจะสร้างห้องพักเพิ่มอีก 2,040 ห้องจากที่มีอยู่ 6,678 ห้องในปัจจุบัน

ในกรุงเทพมหานคร บริษัทเดอะ ริทซ์ คาร์ลตัน โฮเต็ลของสหรัฐ คาดหวังที่จะสร้างโรงแรมหรูแห่งใหม่ภายในปี 2566 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนามูลค่า 3,900 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทฮิลตัน โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เตรียมจะบริหารโรงแรม 2 แห่ง ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565

ส่วนที่ภูเก็ตซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมจัดงานแต่งงานริมหาดและดำน้ำชมปะการัง บริษัทซีไนน์ โฮเต็ลเวิร์คส มีแผนจะสร้างห้องพักโรงแรมเพิ่มอีก 18% ภายในปี 2567

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้ว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ เติบโตเพียง 2%

“จำนวนห้องพักโรงแรมอิงตัวเลขคาดการณ์ที่ไม่ตรงความเป็นจริง” บิล บาร์เนตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีไนน์ กล่าว

ในสิงคโปร์ บริษัทลาส เวกัส แซนด์ส คอร์ป และบริษัทเกนติงสิงคโปร์ 2 ผู้ดำเนินการกาสิโน ประกาศขยายรีสอร์ทของตัวเองมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์เมื่อต้นปีนี้ ผลจากกระแสภาพยนตร์ของฮอลลีวูด “เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ เหลี่ยมโบตั๋น

ขณะที่แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ มีแผนสร้างโรงแรม 140 แห่งในภูมิภาคนี้ โดยจะเพิ่มจากที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 3 เท่าภายในปี 2566 ในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีหาดทรายขาวและน้ำทะเลใสเป็นเสน่ห์ดึงดูด และรัฐบาลได้ประกาศปิดเกาะโบราไกย์เมื่อปีที่แล้ว เพื่อฟื้นฟูระบบระบายน้ำและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ นักเดินทางชาวจีนกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดที่มาเยือนภูมิภาคนี้ และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 4.037 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 โดยในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตจนครองสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของจีดีพี หรือ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

กระแสเฟื่องฟูดังกล่าวค่อย ๆ ซบเซาลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาวะขาลงนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศจีนด้วย เนื่องจากยอดขายมูลค่าสูง ๆเช่น รถยนต์และสินค้าหรู ชะลอตัวลง