“พุทธิพงษ์” ชงงบ 2.1 หมื่นล้านป้อน 5 หน่วยงานในสังกัด

“พุทธิพงษ์” ชงงบ 2.1 หมื่นล้านป้อน 5 หน่วยงานในสังกัด

“พุทธิพงษ์” ชงงบ 2.1 หมื่นล้านป้อน 5 หน่วยงานในสังกัด เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดิจิทัล เดินหน้า “เน็ตประชารัฐ” อีกหมื่นจุดทั่วประเทศ พร้อมรับลูกนโยบาย “ประวิตร” 9 ข้อ ย้ำใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้ประชาชน สร้างสังคมการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงฯ ได้ทำตัวเลขเสนอของบประมาณในวงเงิน 21,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำปีและงบลงทุน ในส่วนของสำนักงานปลัดฯ และอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. โดยแบ่งเป็น สำนักงานปลัด 3,200 ล้านบาท กรมอุตุฯ 3,800 ล้านบาท สำนักงานสถิติ 2,000 ล้านบาท ดีป้า 6,900 ล้านบาท และ สพธอ.1,900 ล้านบาท

โดยหนึ่งในโครงการลงทุนภายใต้งบประมาณปี 2563 คือ การเพิ่มจุดติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐอีก 10,000 จุดทั่วประเทศ ทั้งเพิ่มจุดติดตั้งในพื้นที่เน็ตประชารัฐเดิม และพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะเป็นการใช้งบของ สดช. ด้านเงินลงทุนในโครงการกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล โดยจะอิงอยู่กับตัวเลขต้นทุนในการติดตั้งต่อจุดของโครงการเน็ตประชารัฐ ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้านก่อนหน้านี้ ส่วนการจัดหาผู้ดำเนินการติดตั้งจะพิจารณาจากรัฐวิสาหกิจในสังกัด คาดว่าจะได้ข้อสรุปและสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีนี้

ทั้งนี้ โครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ของกระทรวงดีอีติดตั้งแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 กำหนดวงเงินไว้ 13,000 ล้านบาท แต่ใช้งบติดตั้งไปเพียง 11,361 ล้านบาท

สำหรับกรอบพิจารณาพื้นที่ซึ่งจะติดตั้งเพิ่มในโครงการเน็ตประชารัฐ แบ่งเป็น 1.พื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกล เช่น ภูเขาหรือบนยอดดอย, พื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความยากลำบากในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และ 2.การเพิ่มจุดติดตั้งในพื้นที่เน็ตประชารัฐเดิม เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของประชาชน ซึ่งหลายพื้นที่มีการเข้าใช้งานมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับ capacity ด้านความเร็วของสัญญาณไวไฟ/บรอดแบนด์ในการให้บริการของเน็ตประชารัฐ ในกรณีที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันเกิน 20 คน

ขณะที่ วานนี้ (26 ส.ค.) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลฯ โดยกล่าวมอบนโยบายการดำเนินงาน 9 ข้อ ครอบคลุมการดำเนินงานพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 4 ข้อ ได้แก่ 1.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มรายได้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร คนในพื้นที่ห่างไกล มีการนำอีคอมเมิร์ซเข้ามาสนับสนุน

2.วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัยครอบคลุมทั่วประเทศ เร่งใช้ประโยชน์จากดิจิทัลส่งเสริมผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณสุข การศึกษาทางไกลกับประชาชน 3.เตรียมคนไทยพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างแพลตฟอร์มเรียนรู้ระบบดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาโค้ดดิ้ง สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้ดิจิทัล รู้เท่าทันภัยออนไลน์ 4.พัฒนาเศรษฐกิจ นวัตกรรมดิจิทัล ดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และเร่งส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

ด้านสังคมประกอบด้วย 2 ข้อ ได้แก่ 1.ช่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 2.เร่งแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ ในด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1. บูรณาการความร่วมมือป้องกันและจัดการภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง 2. เร่งดำเนินการตาม พรบ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 3.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ บูรณาการทำงาน และดำเนินการตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พร้อมทั้งยังมอบหมายแนวทางการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานเฟคนิวส์ให้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2-3 เดือน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการรับมอบนโยบายของกระทรวงดีอี จากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากการเน้นย้ำให้เร่งส่งเสริมการช่วยให้กลุ่มฐานรากและเกษตรกร เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโครงสร้าพื้นฐานดิจิทัล ‘เน็ตประชารัฐ’ เพื่อช่วยในการเพิ่มรายได้ทั้งจากการทำเกษตรและการจำหน่ายสินค้า/ผลผลิตผ่านออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้เร่งให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2-3 เดือน เพราะปัญหาข่าวปลอม สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมในภาพวรวม

ด้านรายละเอียดในการจัดตั้งศูนย์ Anti-Fake News Center แบ่งการทำงานได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.สร้างการรับรู้และความตระหนักให้ประชาชนรู้ว่าเป็นข่าวปลอม โดยใช้ช่องทางเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก และไลน์ ออฟฟิศเชียล เป็นช่องทางรับแจ้งข่าวปลอม และจะมีผู้รับผิดชอบเข้าไปคัดกรอง 2.คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคม และองค์กรสื่อ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการย่อย 3-4 คณะ เพื่อแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลเนื้อหาข่าวปลอมที่เป็นปัญหาต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

และ 3. การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องออกไป หลังจากมีการตรวจสอบและยืนยัน (Verify) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว โดยจะเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลและออนไลน์ข้างต้น อีกครั้งเตรียมเร่งพัฒนาหลักเกณฑ์การตรวจสอบยืนยันข้อมูล ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่แพลตฟอร์มระดับโลก เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ใช้อยู่ ซึ่งมีกรอบหลักเกณฑ์อยู่ 5-6 ด้าน ถ้าประเทศไทยทำได้สอดคล้องกับสากล การยืนยันข่าวปลอมของศูนย์ Anti-Fake News ก็จะได้รับการยอมรับจากแพลตฟอร์มโซเชียลเหล่านั้นด้วย และเป็นอีกช่องทางในการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง และระงับการเผยแพร่ข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง

“ส่วนกรณีบางคนเชื่อมโยงว่าการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และ Single Gateway เข้าด้วยกัน ขอยืนยันว่าเป็น “คนละเรื่อง” เพราะตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งที่กระทรวงดีอี ทางรัฐบาลยังไม่เคยมีการพูดถึงเรื่อง Single Gateway เลย” นายพุทธิพงษ์กล่าว