‘มองตะวันออก’ หนุนนศ.มาเลย์เรียนญี่ปุ่น

‘มองตะวันออก’ หนุนนศ.มาเลย์เรียนญี่ปุ่น

ขณะนี้นักศึกษามาเลเซียสนใจไปเรียนที่ญี่ปุ่นมากขึ้น อิทธิพลจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด แต่คำถามคือเมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งไปความสนใจนี้จะยังคงมีอยู่หรือไม่

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งมาแบบถล่มทลายจนได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน มหาธีร์ก็รื้อฟื้นนโยบาย “มองตะวันออก” มรดกตกทอดตั้งแต่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกอย่างยาวนานระหว่างปี 2524-2546 แนวคิดก็คือเพืื่อเรียนรู้บทเรียนการพัฒนาจากประเทศก้าวหน้าในเอเชีย หลักๆ คือญี่ปุ่น

เมื่อเขานำนโยบายกลับมาก็ช่วยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวมาเลเซียสนใจประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้

ตัวอย่างเช่น ที่มหาวิทยาลัยมลายา 1 ในสถาบันการศึกษาระดับท็อปของประเทศ เปิดสอนภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานนักเรียนปี 1 จำนวน 83 คนจากทั่วประเทศมุ่งมั่นฝึกภาษาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น “ฉันชอบอารีฟ” “ขอโทษนะผมมีแฟนแล้ว”

หลักสูตร “ประตูสู่ญี่ปุ่น” หรือ “เอเอเจ” ในภาษามาเลเซียโครงการเตรียมตัวพิเศษเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแดนซากุระ เพิ่งเปิดสอนเมื่อเดือน พ.ค. รับนักศึกษาจากทั่วประเทศมาอยู่หอพักเพื่อเรียนเข้มเป็นเวลา 2 ปี อุทิศตัวให้กับภาษาญี่ปุ่นจริงๆ จังๆ อาจารย์สั่งการบ้านทุกวันไม่เว้นกระทั่งวันหยุด

“อยู่ที่นี่เหมือนอยู่ในนรก ครูสั่งการบ้านกองเป็นภูเขาทุกวัน มีเวลานอนแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น” คุมิโกะ ดาเตะ อดีตหัวหน้าอาจารย์ภาษาญี่ปุ่นของเอเอเจเล่าบรรยากาศ

สำหรับนักศึกษาส่วนใหญ่ พวกเขาสัมผัสการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกในโครงการเข้มข้นนี้ ตลอดช่วง 2 ปีนักศึกษาต้องจำศัพท์ราว 5,500 คำ และตัวอักษรคันจิ 1,400 ตัวลงไปในสมอง สิ่งเหล่านี้จำเป็นยิ่งสำหรับการเอาตัวรอดในชีวิตการเรียนที่ญี่ปุ่น คนที่จบจากเอเอเจได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซียไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแห่งชาติของญี่ปุ่น

เอเอเจมีมาตั้งแต่ปี 2524 ปีที่มหาธีร์เริ่มใช้นโยบายมองตะวันออก รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องมีโครงการพิเศษเตรียมตัวนักศึกษาไปญี่ปุ่น ด้วยหวังว่านักศึกษาจะนำความรู้และเทคโนโลยีก้าวหน้ากลับมาตุภูมิ นักศึกษาที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์หลายคนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

จุนอิจิ วาตานาเบ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้มาสอนในโครงการเอเอเจนานหลายปี เล่าว่า นักศึกษารุ่นแรกๆ ไม่รวยแต่มุ่งมั่นมาก

“นักศึกษาหลายคนฝันอยากมีส่วนร่วมสร้างมาเลเซีย มีเงินซื้อบ้านและรถให้พ่อแม่”

โครงการได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2548 สองปีหลังจากมหาธีร์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอเอเจส่งนักศึกษาไปญี่ปุ่น 172 คน จากนั้นความสนใจก็ค่อยๆ ลดลง ในปี 2561 ปีสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค อยู่ในอำนาจ เอเอเจมีนักศึกษาเพียง 51 คนเท่านั้น

แต่กระแสกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อมหาธีร์วัย 94 ปีหวนสู่อำนาจ แหล่งข่าววงในเผยว่า มหาธีร์ให้ความสำคัญกับการกระชับสัมพันธ์ญี่ปุ่น และปรารถนาอยากเพิ่มจำนวนนักศึกษาเอเอเจ

ปีนี้นักศึกษาเข้าเรียน 83 คน อีกโครงการหนึ่งที่เป็นทุนรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นมากทันตา

อย่างไรก็ตาม รอบนี้แรงจูงใจของเด็กๆ อาจแตกต่างออกไป หลายคนเติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นและวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ ทำให้พวกเขาสนใจอยากไปเรียนในประเทศนั้นๆ

อีลีซาร์ นักศึกษาเอเอเจปีที่ 2 เล่าว่า เขาอยากเรียนเรื่องหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่น เพราะดูการ์ตูนเรื่อง “แอสโตรบอย” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ไมตี้อะตอม”

“ผมอยากไปหลายๆ ที่ในญี่ปุ่นเพื่อไปกินราเม็ง ซูชิ และอาหารอื่นๆ” คำตอบจากอีลีซาร์ ไม่ได้มีความต้องการเหมือนนักศึกษาเอเอเจยุคแรกๆ ที่ต้องการเป็นตัวแทนมาเลเซียเลย

แต่ถึงกระนั้นนักศึกษาปัจจุบันก็สามารถหาแรงบันดาลใจจากเรื่องราวความสำเร็จของรุ่นพี่ได้

ผ่านไปเกือบ 40 ปีนับตั้งแต่ตั้งโครงการเอเอเจ ตอนนี้สมาคมนักศึกษาเก่านโยบายมองตะวันออก กลายเป็นศูนย์รวมทั้งอดีตนักศึกษาเอเอเจและคนที่จบการศึกษาจากญี่ปุ่นด้วยโครงการอื่นๆ รวมเกือบ 10,000 คน

พวกเขาทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชนของมาเลเซีย ที่อยู่ในบริษัทก็มีบทบาทสำคัญช่วยกระชับสัมพันธ์สองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น บางคนก็ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ เช่น โก๊ะ เป็ง อุย ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาระบบ “ซิลเวอร์เลค แอ็กซิส”

อดีตนักศึกษาหลายคนค้นพบที่อยู่ที่ยืนของตนในบริษัทญี่ปุ่น เช่น ชิว ฮวต เส็ง ทำงานกับฮิตาชิในปี 2536 หลังจบการศึกษาจากคณะพาณิชศาสตร์และการเงินจากมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิในกรุงโตเกียว ตอนนี้เป็นผู้บริหารฮิตาชิเอเชีย (มาเลเซีย) ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

ชิวยังจำได้ถึงบรรยากาศตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องอยู่หอพักร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น ที่ต้องเคารพอาวุโสระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องอย่างเคร่งครัด ที่นี่เขายังได้เรียนรู้ความสำคัญของกาทำงานเป็นทีมอีกด้วย

“คนมาเลย์มักคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ค่อยรู้สึกว่าคนเราไม่ควรทำให้คนอื่นเดือดร้อน การคิดในฐานะหน่วยของสังคมหรือทีมเป็นจุดแข็งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น” ชิวเล่าประสบการณ์การเรียนหนังสือในต่างแดน

มหาธีร์เองก็หวังว่านักศึกษาจะซึมซับบทเรียนเช่นนั้นกลับมา “นโยบายมองตะวันออกไม่ใช่มองแค่เศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ต้องเลียนแบบคุณค่าและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนญี่ปุ่นเร่งพัฒนาประเทศได้ในช่วงเวลาสั้นๆ” นายกฯ มาเลเซียกล่าวในคลิปวีดิโอจัดทำเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี สมาคมนักศึกษาเก่านโยบายมองตะวันออก

สำหรับบริษัทญี่ปุ่น บัณฑิตอย่างชิวกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า แต่โทชิโอ มิซุโน อาจารย์เอเอเจเล่าว่าเมื่อนักศึกษาสนใจมาเข้าโครงการเอเอเจอีกครั้ง ช่วงหลังเริ่มมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เมื่อคนที่เรียนจบกลับมาแล้วไปทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น

บางคนหันหลังให้บริษัทญี่ปุ่นเลย เพราะจ่ายเงินเดือนน้อยกว่าบริษัทต่างชาติอื่นๆ และไม่มีโอกาสขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัท โดยทั่วไปญี่ปุ่นเลือกเฉพาะคนชาติตนเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือ

มากิโอะ มิยากาวะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย แนะนำว่า มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจำเป็นต้องรับนักศึกษาปริญญาตรีจากต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะโดยรวมมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มรับระดับบัณฑิตศึกษามากกว่า โดยทูตให้เหตุผลว่านักศึกษาต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นช่วงวัยรุ่นปลายๆ หรือต้น 20 สามารถเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นได้เร็วและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้มากกว่า

การกลับมาของมหาธีร์จึงสร้างโอกาสที่ 2 ที่มาเลเซียกับญี่ปุ่นจะได้ร่วมมือกันพัฒนาคนเก่ง แต่นายกฯ ก็ประกาศว่าจะถ่ายโอนอำนาจไปให้ทายาททางการเมืองภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ จึงน่าห่วงว่าเมื่อมหาธีร์ลาจากตำแหน่งไปแล้ว ความสนใจในโครงการเอเอเจจะลดลงหรือไม่