1 ปี ‘มหาธีร์’ ความหวังปฏิรูปมาเลย์เริ่มเลือนราง

1 ปี ‘มหาธีร์’ ความหวังปฏิรูปมาเลย์เริ่มเลือนราง

ส่วนนักลงทุนก็ห่วงเรื่องค่าเงินผันผวน เศรษฐกิจซบเซา ปีนี้เงินริงกิตอ่อนค่าลงมาก ตลาดหุ้นมาเลเซียก็ด้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นงานหนักที่นายกฯ วัย 93 ปีจะต้องเดินหน้าแก้ไขให้ลุล่วง

หนึ่งปีก่อนตอนที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย ในนาม “พันธมิตรแห่งความหวัง” (พีเอช) ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โค่นพรรคอัมโนที่ครองอำนาจมาตลอด 60 ปีลงไปได้ หลายคนหวังว่ามหาธีร์ โมฮัมหมัด วัย 93 ปี จะเป็นตัวเร่งการปฏิรูปและพลิกฟื้นประเทศ ที่มีปัญหาทุจริตและหนี้สาธารณะสูงมาก

แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดชี้ว่า ความเชื่อมั่นดังกล่าวค่อยๆ หดหายไป มหาธีร์รับภาระบริหารเศรษฐกิจหนี้ท่วมโดยมุ่งเน้นไปที่การสะสางหนี้สาธารณะ ผลพวงการทุจริตลั่นโลกหลายพันล้านดอลลาร์จากกองทุนวันเอ็มดีบี พัวพันอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค จนต้องถูกดำเนินคดีมากมายซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด

ขณะเดียวกันความแตกแยกร้าวลึกภายในรัฐบาลผสมทำให้ความพยายามเพิ่มรายได้ ดึงดูดการลงทุน และการสร้างงานไปไม่ถึงไหน โดยผลสำรวจจากสำนักโพลอิสระ “เมอร์เดกาเซ็นเตอร์” พบว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาลเดือน มี.ค.ลดลงเหลือแค่ 39%ดิ่งหนักจาก 66% เมื่อเดือน ส.ค.2561

คะแนนนิยมในตัวมหาธีร์ดิ่งลงจาก 71% เหลือ 46% ในช่วงเดียวกัน แม้เจ้าตัวจะบอกว่า ไม่ค่อยสนใจโพลพวกนี้นัก

สิ่งที่่น่าห่วงสำหรับมหาธีร์ตามข้อมูลของเมอร์เดกาเซ็นเตอร์คือชาวมาเลย์มุสลิม ที่มีสัดส่วนราว 60% ของประชากรมาเลเซีย 32 ล้านคน ส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมหาธีร์มากขึ้น

คนจนที่สุดของประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์ พวกเขาได้รับประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือเป็นพิเศษของพรรคอัมโนมานานหลายสิบปีแล้ว

หลายคนไม่พอใจตอนที่มหาธีร์แต่งตั้งคนเชื้อสายจีนเป็นรัฐมนตรีคลัง และเชื้อสายอิินเดียเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ทั้งยังกังวลว่าชาวมาเลย์อาจได้รับเงินช่วยเหลือน้อยลง

นอกจากนี้  มวลชนหัวอนุรักษ์ยังไม่ชอบใจที่รัฐบาลประกาศว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตและกฎหมายกดขี่หลายฉบับ เช่น กฎหมายยุยงปลุกปั่นที่ใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

“คนหนุ่มสาวหลายคนตั้งความหวังกับรัฐบาลใหม่ไว้มาก แต่ที่หวังไว้ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเราอยากมั่นใจว่าอนาคตของคนรุ่นใหม่จะดีกว่าเดิม โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวมาเลย์”อาลิฟ วัย 28 ปี ชาวมาเลย์หนึ่งในหลายร้อยคนที่ร่วมประท้วงกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนกล่าวถึงรัฐบาล

ปีนี้ รัฐบาลผสมพีเอชแพ้เลือกตั้งซ่อมหลายครั้ง ถูกชาวมาเลย์เดินขบวนประท้วงหลายหน หลายนโยบายที่เคยเล็งไว้ก็ต้องพับไปก่อน อย่างการยกเลิกโทษประหารและกฎหมายความมั่นคง เปลี่ยนใจไม่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับ หลังถูกกลุ่มสนับสนุนชนเชื้อสายมาเลย์คัดค้าน

แต่อัมโนและสมาชิกพรรคพาส ก็ไม่วายเตือนให้ประชาชนเห็นถึงความล้มเหลวของมหาธีร์ว่า ไม่ยึดมั่นต่ออิสลาม ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ชาวมาเลย์

อาดิบ ซัลคัลปี  ผู้อำนวยการประจำประเทศมาเลเซีย บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง “บาวเออร์กรุ๊ปเอเชีย” กล่าวว่า แนวร่วมพีเอชไม่ค่อยได้รับความนิยมในเขตเลือกตั้งชาวมาเลย์มุสลิมพรรคอัมโนและพรรคพาสตั้งแนวร่วมฝ่ายค้านแข็งแกร่ง ฉวยโอกาสที่ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาขึ้นมาท้าทายรัฐบาล

ประกอบกับการแตกแยกภายในแนวร่วมพีเอชก็บั่นทอนความฝันปฏิรูปลงด้วย พรรคการเมืองกลุ่มนี้ร่วมมือกันด้วยจุดหมายโค่นนาจิบและอัมโนลงให้ได้ แต่เรื่องอื่นๆ กลับไม่ค่อยเห็นตรงกันนัก

“ทุกคนทำงานแบบต่างคนต่างทำไม่แบ่งปันข้อมูลกัน พวกเขาเห็นปัญหาเหมือนๆ กัน แต่ไม่คุยกันว่าจะทำยังไงต่อไป พอโดนฝ่ายค้านใส่ไฟเรื่องเชื้อชาติ เราก็รับมือกันไปคนละทาง” แหล่งข่าวอาวุโสในรัฐบาลเผย

ส่วนมหาธีร์ก็ตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหารัฐบาลทำงานล้มเหลวนั้นไม่เป็นความจริง

“เรามุ่งมั่นแก้ไขความผิดพลาดทุกอย่างที่รัฐบาลก่อนทำไว้ ซึ่งกินเวลาเราไปมาก” นั่นคือคำชี้แจงล่าสุดจากนายกฯ มาเลเซียที่มีต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (9 พ.ค.)

ด้านความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เคยมีหวังตอนที่พีเอชชนะเลือกตั้งใหม่ๆ ตอนนี้ก็เริ่มอ่อนแรงลง ส่วนใหญ่เพราะรัฐบาลยังไม่มีจุดร่วมว่าจะเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างไร

ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 250 รายเมื่อเดือน เม.ย. จัดทำโดยอิปซอส บิสสิเนส คอนซัลติง ระบุว่า หากนโยบายเศรษฐกิจยังขาดความชัดเจนต่อไป ภาคธุรกิจก็ยิ่งกังวลจนเกรงว่าเศรษฐกิจชะลอตัว