ยาบ้า-ไอซ์ทะลัก ลดราคากระตุ้นการเสพ

ยาบ้า-ไอซ์ทะลัก ลดราคากระตุ้นการเสพ

ยธ.ยืนยัน ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับเดิมเข้าครม. ด้าน "เลขาธิการ ป.ป.ส." เผยสถานการณ์ยาเสพติดทะลักเข้าไทย ลดราคากระตุ้นการเสพ ยาบ้า-ไอซ์ ยังเป็นปัญหาหลัก จับตาสารตั้งต้นตัวใหม่เล็ดลอดเข้าตลาดมืด ย้ำกัญชายังผิดกม

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ... ว่า กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ยืนยันร่างกฎหมายฉบับเดิมต่อคณะรัฐมนตรี โดยสาระสำคัญเป็นการรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่เคยกระจัดกระจายอยู่ในความรับผิดชอบหลายกระทรวงมารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียว

ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดถูกกำหนดอยู่ในกรอบของการแก้ปัญหาในยุทธศาสตร์ทุกด้าน รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรามีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดมากถึง 200,000 คน โดยจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นผลจากสัดส่วนของการลงโทษ ซึ่งในยุคหนึ่งยาเสพติดถูกกำหนดให้มีโทษสูง ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกผลักดันเข้าสู่เรือนจำ แม้จะมีนโยบายว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้มีการบำบัดรักษาได้อย่างเต็มที่ ในร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดจึงเข้าไปจัดสัดส่วนการลงโทษให้เหมาะสม กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแลในกรอบของการรักษาผู้เสพ

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชายขอบ เพราะถ้าคนเหล่านี้ยังมีฐานะยากจนก็จะมีแนวโน้มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดที่มาจากสารสังเคราะห์

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดใหม่ และการเสียชีวิตจากการเสพสารเสพติดว่า ตัวเลขการเสียชีวิตจากการใช้สามารถเสพติดเกินขนาดในประเทศไทยมีสถิติน้อยกว่าประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรป แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งส่วนใหญ่มีสถิติการเสียชีวิตจากการนำสารสังเคราะห์ไปผสมกับยาเสพติดทั้งที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทและกดประสาท

อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการตัวเลขในปี 2559 ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ที่ใช้ยาเสพติดเดือนละ 20 วัน อยู่ที่ 340,000 คน ขณะที่ผู้ใช้หรือเคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมีจำนวน 1 ล้านคน ในแต่ละปีจะมีผู้เสพเข้าสู่การบำบัด 200,000 คน ยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหายาเสพติดทะลักเข้าประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีการลดราคาเพื่อกระตุ้นการใช้ ส่วนกลุ่มผู้ผลิตตามแนวชายแดนยังเป็นกลุ่มเดิมมีประมาณ 2-3 กลุ่ม โดยป.ป.ส.พบพฤติการณ์นำเคมีภัณฑ์ตั้งต้นตัวใหม่ เช่น คาเฟอีน เข้าไปใช้สังเคราะห์เป็นยาเสพติด โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้ซูโดเอฟีดีนที่เป็นสารต้องห้าม

“สถานการณ์ยาเสพติดในไทยที่ต้องจับตาเป็นยาเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ซึ่งผลิตจากสารสังเคราะห์ที่มีกระบวนการผลิตในระยะเวลาสั้น และมีตัวยาหลากหลาย แตกต่างจากการผลิตด้วยพืชเสพติดที่ต้องใช้พื้นที่ อากาศ และระยะเวลาในการปลูก ในไทยจึงมีกฎหมายควบคุมเอฟีดีน ซูโดเอฟีดีน และสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าและยาไอซ์ ขณะเดียวกันยังต้องแจ้งเตือนและป้องกันไปยังบริเวณชายแดนและประเทศต่างๆ ถึงการนำเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม่ให้ถูกเบี่ยงเบนมาเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดตัวใหม่ แต่ยอมรับว่ายังมีสารตั้งต้นที่หลุดรอดนำเข้าไปตลาดมืด” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว

นายนิยม กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการควบคุมกัญชาทางการแพทย์ ยอมรับว่ายังอยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างป.ป.ส.กับกระทรวงสาธารณสุขถึงการกำหนดคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุมกัญชาตั้งแต่การกำหนดจำนวนผู้ป่วย พื้นที่ปลูก การสกัดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยา ขอย้ำอีกครั้งว่ากัญชายังเป็นยาเสพติด ผู้ครอบครอง ปลูก จำหน่ายและใช้โดยไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วย และไม่ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์มีความผิดทางกฎหมาย