ภาคปชช.แนะรัฐบาล จัดทำนโยบายพัฒนาแม่น้ำโขง ถ่วงดุลย์โครงการกระทบคนลุ่มน้ำ

ภาคปชช.แนะรัฐบาล จัดทำนโยบายพัฒนาแม่น้ำโขง ถ่วงดุลย์โครงการกระทบคนลุ่มน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงา นแนะ “ประชาธิปไตยพลังงาน” เพื่อปลดแอกการพึ่งพิงการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่

โดยตัวแทนภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและด้านการพัฒนาลุ่มน้ำโขงได้ร่วมเวที อภิปราย “สถานการณ์ภัยแล้งน้ำโขง:ผลกระทบและทางออก”โดยศูนย์สันติภาพและความขัดแย้งแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กำลังสะท้อนว่า ภาครัฐไม่ไ้ด้ให้ความสนใจแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแม่น้ำโขง เพราะปัญหาได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น 

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนออกมาพูดชัดเจนว่าจะพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างไร ซึ่งสะท้อนว่ารัฐไทยไม่เคยมีนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และไม่ได้ให้ความสำคัญ

“ในฐานะที่เราเป็นประธานอาเซียน จริงๆมันต้องยกประเด็นปัญหาขึ้นมาวางบนโต๊ะของอาเซียนแล้ว ไม่ใช่ว่านายกฯ ไปขอจีนให้ปล่อยน้ำ อย่างนั้นมันกระจอกเกินไป

“ถ้าจะถ่วงดุลย์การพัฒนาแม่น้ำโขงให้ยั่งยืน คุณต้องรู้เรื่องระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งผมว่ามันสำคัญมากที่เราเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องชิงจังหวะและโอกาสนี้กำหนดทิศทางร่วมกัน” นายนิวัฒน์กล่าว พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีประเทศไหนจริงจังที่จะหยิบยกประเด็นมาพูดคุยบนโต๊ะของอาเซียน

นายนิวัฒน์กล่าวว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงหลังจากมีเขื่อนตัวแรกในจีนตั้งแต่ 2539 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มผิดปกติ และเมื่อปี 2546 เกิดเขื่อนแห่งที่ 2 พอปี 2551 เกิดความเสียหายจากการขึ้นลงของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จนปี 2553 เกิดเขื่อนตัวที่ 4 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤติ และเกิดปรากฏการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่เห็นคือแม่น้ำโขงแห้ง 

ต่อมาเมื่อเกิดเขื่อนตอนบนอีกหลายแห่ง ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงชัดเจน ซึ่งทางจีนกลับบอกว่าเขื่อนจีนมีประโยชน์สำหรับคนท้ายน้ำที่กักน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ 70% และปล่อยน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่วิปริต เพราะทำลายระบบนิเวศ 

จีนยังบอกอีกว่าการปล่อยน้ำมาเป็นบุญเป็นคุณกับคนท้ายน้ำ นายนิวัฒน์กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่ามันเป็นความขัดแย้งของวิธีคิด ซึ่งจีนมองในมุมวิศวกรรมและพลังงาน แต่ชาวบ้านมองมุมชีวิตมนุษย์ เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำซากมาตลอดจนมาปีนี้ที่ระดับน้ำอยู่ในสภาวะที่ผันผวนรุนแรง และมันถึงเวลาแล้วที่ต้องมาคุยกัน

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ภาคประชาชนตื่นตัวมากในการจัดการแม่น้ำโขง เกิดการรวมตัวและเครือข่าย แต่ก็ยังช้าเมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มนักวิชาการก็ยังไม่มีความชัดเจนในการวางบทบาทในเรื่องนี้ ซึ่งองค์ความรู้ที่มีน่าจะเป็นสิ่งที่จะช่วยชี้นำการพัฒนาแม่น้ำโขงไปอย่างถูกต้องที่สุด

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ถึงเวลาที่นักวิชาการที่ทำเรื่องแม่น้ำโขงต้องมาคุยกันเพื่อจัดการศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้มีพลัง 

ในขณะที่หน่วยงานของรัฐอย่างสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ยังมีบทบาทน้อยและเป็นการตั้งรับ ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ก็ยังไปไม่ถึงไหน ไม่มีความเฉียบคมพอในการแก้ปัญหา นายนิวัฒน์กล่าว

ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จำเป็นต้องถามกันว่า อะไรเป็นหลักการความร่วมมือการจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดน ซึ่งจีนควรเข้ามาคุยด้วย 

สถานการณ์ความแห้งแล้งสะท้อนว่า จีนมีความสามารถกักเก็บแม่น้ำโขงตอนบนได้มากแค่ไหน ดังนั้นเราต้องพูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะระหว่างรัฐบาลแต่ละประเทศกับจีน และ “การทูตเรื่องนำ้” เพื่อการแบ่งปันประโยชน์จำเป็นต้องมีการออกแบบบนกฎเกณฑ์ที่ยึดถือร่วมกันและเป็นระบบ 

MRC ในเวลานี้ อาจทำงานศึกษาดีๆ แต่ความท้าทายคือมันสามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากน้อยขนาดไหน ดร.คาร์ล กล่าว

ศุภกิจ นันทะวรการ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าทศวรรษแล้ว ซึ่งข้อมูลปี 2561 กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เกินเพิ่มขึ้นสูงอีกซึ่งเท่ากับกำลังการผลิต 5 เขื่อนไซยะบุรี แต่เราก็ต้องรับซื้อโดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระนี้ 

ในขณะเดียวกัน กลับพบว่า อัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระดับที่ลดลงเพราะมีการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นและผู้บริโภคพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีทางเลือกพลังงานที่ยั่งยืน ขณะที่ทุกประเทศในย่านนี้มีศักยภาพในการทำพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างมาก สามารถพึ่งพาตนเองได้ 

“ในความเป็นจริงเราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เขาได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล็อคไว้หมดแล้ว กลไกลต่างๆของประเทศถูกกลุ่มธุรกิจพลังงานแทรกเข้าไปหมด ทั้งกลไกลราชการ และคณะกรรมการชุดต่างๆ เราต้องการ “ประชาธิปไตย” ด้านพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ตนเองผลิตได้ ไม่ใช่ถูกผูกขาดจากเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่”นายศุภกิจ กล่าว