รุมอัดนโยบายสธ.กัญชา 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ค้านให้อสม.ส่งยา

รุมอัดนโยบายสธ.กัญชา 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ค้านให้อสม.ส่งยา

หลายฝ่ายรุมอัดนโยบายสาธารณสุข นักวิชาการลั่นปลดล็อกกัญชารายได้ไม่คุ้มรายจ่าย สหวิชาชีพค้านให้อสม.ส่งยา หวั่นเป็นดาบสองคม ทับซ้อนวิชาชีพเภสัชกรรม

ส่วนเพิ่มค่าตอบแทนต้องวางระบบประเมินให้ชัด เกรงทำลายอุดมการณ์จิตอาสา-สร้างความขัดแย้งในชุมชน ขณะที่ “เทเลเมดิซีน” สุ่มเสียงเสียงบประมาณใช่เหตุ

จากที่มีการแถลงนโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องกัญชาเสรีทางการแพทย์ การยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะให้มีแพทย์และพยาบาลอยู่ประจำด้วยการเน้นจ้างแพทย์จบใหม่ การเพิ่มความชำนาญให้ อสม. และจ่ายค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาทต่อเดือน ตามความสามารถ และการให้อสม.ทำหน้าที่ในการช่วยส่งยาให้แก่ผู้ป่วย และเป็นผู้อธิบายยา การใช้ยา และผลข้างเคียงแก่ผู้ป่วยนั้น

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กล่าวว่า ผลการศึกษาล่าสุดเผยแพร่เมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก JAMA Network Open จากการวิเคราะห์ข้อมูลประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีกัญชาจากรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา สรุปว่า แต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์จากการขายกัญชาได้ ชาวโคโลราโดจะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเสรีกัญชา เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจากเสรีกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมถึงความสูญเสียจากการที่เด็กนักเรียนชั้นต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยม นอกจากนี้ อัตราการเสพผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่ากลุ่มแรกคือ กัญชาก็ยังคงมีการเสพกันมากในกลุ่มประชากรในสังคมที่มีระดับการศึกษาน้อย ข้อมูลที่มีระบุชี้ชัดว่า การใช้กัญชาจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น หรือจะมีการเสพยาเสพติดชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เหล้า

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า มีการประเมินในปีค.ศ.2016 พบว่า ธุรกิจโรงงานกัญชาผลาญพลังงานไฟฟ้าแต่ละปีในปริมาณเทียบเท่ากับบ้านเรือนจำนวน 32,355 หลัง โรงงานกัญชาที่ประกอบการ แต่ละปีปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 400,000 ปอนด์ และยังประมาณไว้ว่าผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ ที่จัดจำหน่าย ทำให้เกิดขยะพลาสติกราว 18.78 ล้านชิ้น และแม้กัญชาปั่นเงินให้หมุนเวียนได้ถึง 1,400 ล้านดอลล่าร์ แต่หากดูจริงๆ แล้วจะพบว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐในรูปแบบภาษีเงินได้ และมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นมีราว 400 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ต้องแลกด้วยค่าเสียหายกว่า 1,100 ล้านดอลล่าร์

“นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ที่ช่วยดูแลบ้านเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน แม้เสียงจะปริ่มน้ำ แต่หากกระทำการอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคม น่าจะเป็นการดีกว่าการทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และมีภาระระยะยาว” ผศ.นพ.ธีระกล่าว

ขณะที่นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายสาธารณสุข ในเรื่องการยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ว่า นโยบายการพัฒนาและยกระดับความรู้จากอสม.เป็นอสม.หมอประจำบ้าน โดยเฉพาะการจะให้อสม.ทำหน้าที่ในการส่งยาให้กับผู้ป่วยนั้น ไม่เห็นด้วย แต่ควรมีวิธีการ และวิธีคิดที่เหมาะสมมีกระบวนการที่สามารถป้องกัน การเกิดอุบัติการณ์ต่างๆ เช่น ความคลาดเคลื่อนทางยา(Medication error) การปฏิบัติงานที่ขาดทักษะความชำนาญและ การก้าวล่วงทับซ้อนวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม เพราะการจ่ายยาเป็นบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้ กระแสของสหวิชาชีพต่างๆ ล้วนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้อสม.ไปแจกยาที่บ้าน เพื่อลดระยะเวลารอคอย ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.)เสนอ

นายริซกี กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเพิ่มค่าตอบแทน อสม. ควรมีวิธีการที่เหมาะสม เช่น การคำนึงถึงอสม.ดีเด่นระดับต่างๆ หรือมีวิธีพัฒนาศักยภาพอสม.อย่างเหมาะสม และควรมีการประเมินการทำงานอสม.ที่ดี ระมัดระวังดาบสองคมของค่าตอบแทน อสม. จะเป็นการทำลายอุดมการณ์ อสม.เรื่องความเป็นจิตอาสา และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เช่น การใช้อิทธิพลในชุมชน ผลักดันเครือญาติหรือคนของผู้นำชุมชน มาเป็นอสม. เป็นต้น และนโยบายการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล(Telemedicine)ถือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ปัดฝุ่นมาทุกรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล ตั้งแต่ยุค skype จนถึงยุค VDO call ในปัจจุบัน ซึ่งการปรึกษาหารือระหว่างแพทย์ กับหมออนามัยและคนไข้ ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในทางปฏิบัติ ยิ่งจะอบรม อสม. ให้ใช้เทเลเมดิซีนยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

“ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาทุกนโยบายให้ครอบคลุม เป็นไปได้ในทางปฏิบัติแก้ทุกปัญหาที่บุคลากรเคยร้องทุกข์ร้องเรียนมาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับค่านิยมสธ.ที่ว่าประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”นายริซกี กล่าว