'คอร์ทีวา' ปักธงสิงคโปร์ รุกอะกริเทค 'อาเซียน'

'คอร์ทีวา' ปักธงสิงคโปร์ รุกอะกริเทค 'อาเซียน'

ประชากรโลกเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เพาะปลูกลดลง จากปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาดและศัตรูพืชคอยรังควานผลผลิตทางการเกษตรจนมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนของชาวไร่ชาวนา

แต่นั่นหมายถึงอาหารการกินของมนุษยชาติที่กำลังจะลดลง ทำให้เรื่องความมั่นคงด้านอาหารเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือแม้แต่การเมือง

“เทคโนโลยีทางการเกษตร หรือ อะกริเทค” จึงเกิดความสำคัญมากขึ้้นสอดคล้องกับแผนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่กำหนดให้นวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านอย่าง“สิงคโปร์” กำลังเร่งพัฒนาด้านนี้ผ่านการลงทุนจากบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่จากสหรัฐ อย่าง “คอร์ทีวา อะกริซายด์”

ปีเตอร์ ฟอร์ด ประธาน เอเชียแปซิฟิก คอร์ทีวา อะกริซายด์ กล่าวว่า การลงทุนเปิดศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรหรือ อะกริ ซายด์ ที่สิงคโปร์นี้ จะมีส่วนช่วยสร้างอนาคตความมั่นคงด้านอาหารในเอเชียแปซิฟิก โดยการลงทุนนี้รวมถึงการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคด้วย

\'คอร์ทีวา\' ปักธงสิงคโปร์ รุกอะกริเทค \'อาเซียน\'

ศูนย์วิจัยนี้นับเป็นการลงทุนเพื่อก้าวไปข้างหน้าโดยนำความเชี่ยวชาญและความสามารถทางเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนเกษตรกรในภูมิภาคและตอบสนองความต้องการของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคว่าด้วยเรื่องการมองหาความมั่นคงด้านอาหาร
การลงทุนนี้ ว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์วิเคราะห์นานาชาติซึ่งประกอบด้วยการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ซึ่งจะมีการวิจัยใหม่ๆ และที่ดีที่สุด จากห้องทดลองที่ออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแห่งภูมิภาคเพื่อสร้างระบบแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตร

"บริษัทได้นำความโดดเด่นของธุรกิจมาเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งและทุ่มเทเพื่อดูแลผลผลิตของเกษตรกร ประกอบด้วย ประสบการณ์การแก้ปัญหาทางการเกษตรด้วยหลักวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร(agromic) ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญคือนวัตกรรม”

คอร์ทีวามีเป้าหมายผลักดันผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อาหารทั้งหมดให้ได้มีความเป็นเลิศด้านการเกษตรในทุกๆ เรื่องซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการส่งต่ออาหารเพื่อสุขภาพซึ่งนับเป็นความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้อย่างหนึ่ง
สำหรับศูนย์วิจัยฯได้รับการสนับสนุนจากกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ และองค์การด้านอาหารสิงคโปร์ ซึ่งจะได้มีการแบ่งปันการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่การสร้างห่วงโซ่การเกษตรที่ไม่ใช่แค่การสร้างผลผลิตแต่หมายถึงความยั่งยืน

ภายใต้การทำงานที่ศูนย์นี้ คอร์ทีวา จะนำทักษะการอนุบาลต้นอ่อน ทักษะอาร์แอนด์ดีและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในแผนการผลิต รวมไปถึงความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ สร้างความมั่นคงต่ออนาคตด้านอาหารสำหรับภูมิภาคสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดปัจจัยแวดล้อมเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านสถาบันการศึกษาและองค์กรสาธารณะต่างๆ รวมไปถึง กองทุนเพื่อการวิจัยที่มีอยู่ด้วย

ทั้งนี้ คอร์ทีวา สามารถที่จะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการแก้ปัญหาต่างๆ มาช่วยเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียฯกำลังให้ความสนใจอย่างมาก และสิงคโปร์เองก็ต้องการเป็นผู้พัฒนาหลักด้านอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเช่นกัน

นอกจากนี้ สำนักงานประจำเอเชียแปซิฟิกของคอร์ทีวา ยังได้ประกาศความร่วมมือระหว่างศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์นานาชาติ หรือ ACE เพื่อช่วยกันทำให้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเกษตรที่ยั่งยืน ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร

โดยคอร์ทีวา อะกริซายด์ จะร่วมมือกับทุกประเทศในเอเชียเพื่อทำงานเชิงรุกด้วยการนำสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเกษตร (Ag-Tech) และผู้เล่นสำคัญๆ ด้านการเกษตรเพื่อช่วยเกษตรกรรายเล็กๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ได้เข้าถึงข้อมูลจากเชิงลึก การมีเครื่องมือเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ การหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาประยุกต์ใช้

“ACE มีแผนที่จะนำข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับการเกษตรให้เป็นการเกษตรที่มีการวิเคราะห์ ซึ่งศูนย์นี้จะค้นหาและรวบรวมข้อมูลเรียลไทม์ไว้และให้เกษตรกรเข้าถึงได้ผ่านระบบคราวด์ การพัฒนานี้สามารถใช้เพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศ การเกิดโรคระบาด และการรุนรานจากแมลงศัตรูพืชที่จะมีผลต่อผลผลิต และจะช่วยเกษตรกรสามารถวางแผนแม้ในช่วงทำการเพาะปลูกไปแล้วก็ตาม”

สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ประกอบด้วย ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ระบบบล็อกเชนและเทคโนโลยี IOT รวมไปถึงการนำตัวเกษตกรเอง ซับพลายเออร์ด้านอาหาร ให้ได้มาทำงานร่วมกับภาครัฐ หน่วยงานผู้กำหนดกฏระเบียบต่างๆ รวมถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเข้าใจและใกล้ชิดมากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อการเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับและการพิสูจน์ได้ถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองด้วย

ปัจจุบัน คอร์ทีวา อะกริ ซายด์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนา ที่อินเดียนาโปลิสในสหรัฐ, ดรูเซนเฮม ในฝรั่งเศส และฟรานส์ ดา โรชา ที่บราซิล, ที่อินเด่ีย และล่าสุดที่ได้เปิดทำการไปแล้วคือที่สิงคโปร์ สำหรับเทคโนโลยีของคอร์ทีวาที่น่าสนใจได้แก่ การแก้ไขยีน CRISPR ซึ่งสามารถสร้างพืชที่ได้รับการปรับปรุงให้ได้ลักษณะเฉพาะ เช่น ทนต่อความแห้งแล้งความต้านทานโรคและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการปรับปรุงลักษณะเฉพาะของพืชยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ยังคงมีข้อจำกัดในหลายประเทศเช่นที่ประเทศไทย แต่ก็มีความพยายามผ่านการเรียกร้องในเวทีองค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ เมื่อ พ.ย.2561 ที่ผ่านมา ให้เปิดการยอมรับเพื่อการทำวิจัยรวมถึงสนับสนุนความต้องการท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาการตัดแต่งจีโนม(Genome editing) โดยประเทศที่ให้การสนับสนุนเช่น บราซิล สหรัฐ เวียดนาม ออสเตรเลีย เป็นต้น ในเบื้องต้น

“สำหรับประเทศไทย คอร์ทีวา ได้มีความร่วมมือกกับสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงภาครัฐบาลและเอกชนในการพัฒนาให้ภาคการเกษตรที่มีแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมสำคัญและกำลังมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างน่าจับตามอง”