‘มูซังคิง’ ทุเรียนสร้างเศรษฐีมาเลเซีย

‘มูซังคิง’ ทุเรียนสร้างเศรษฐีมาเลเซีย

เมื่อต้นทศวรรษ 1900 เมืองราอับที่เงียบเหงาแห่งรัฐปาหัง มาเลเซีย ก็โด่งดังระดับประเทศ เรื่องการขุดหาแร่ทองคำ ครั้นทองคำหมดไปเมืองนี้ก็โด่งดังระดับโลกอีกครั้งด้วยการเป็นแหล่งสินค้าโภคภัณฑ์อันล้ำค่า นั่นคือทุเรียนมูซังคิง

ราอับ มีสภาพพื้นที่เหมาะสม จนได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของมูซังคิงในมาเลเซียทุเรียนพันธุ์นี้หรือเรียกอีกชื่อว่า เหมาซานหวัง ได้รับความนิยมมากในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และสิงคโปร์ จากเนื้อสัมผัสนุ่มละมุนและสีเหลืองอร่ามส่งผลให้ธุรกิจส่งออกทุเรียนในราอับรุ่งเรืองมาก จนเกษตรกรร่ำรวยกันไปหลายคน

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชีย พูดคุยกับโจวี คองเจ้าของสวนทุเรียน 2 แห่งในราอับ พื้นที่รวม 215.05 ไร่ เขาเริ่มปลูกทุเรียนเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนี้กลายเป็นเศรษฐีขับรถหรู มีที่ดินสองแปลงทั้งในราอับและกรุงกัวลาลัมเปอร์

“ราอับไม่เหมือนกับเมืองอื่นๆ ในมาเลเซีย คนที่นี่มีสตางค์ อำนาจซื้อมหาศาล ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะทุเรียน” คองวัย 44 ปีเล่าพร้อมเสริมว่า เจ้าของสวนส่วนใหญ่ในราอับล้วนเป็นเศรษฐี วัดจากบ้านและที่ดิน

 ที่ดินของคองในราอับนั้นประเมินค่ามิได้ เขาประกาศว่าไม่มีทางสวนทุเรียนเด็ดขาด เว้นแต่มีคนเสนอราคาเกิน 10 ล้านริงกิต

“ทุกวันนี้สวนทุเรียนมูซังคิง 2.5 ไร่ราคาปาเข้าไป 5 แสนริงกิตแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกันไม่ต่ำกว่า 250 ไร่”

ปัจจุบัน คอง มีรายได้จากการส่งทุเรียนไปจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ปีละ 2-3 แสนริงกิต ทั้งยังมีรายได้เสริมจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวมาชมสวนในราคาหัวละ 50 ริงกิต

หลู่ ยี่ ติงเจ้าของสวนอีกคนหนึ่งในราอับ ปลูกทุเรียนที่นี่มา 40 ปีแล้ว “สวนทุเรียนเพลินใจลุงติง” ของเขาส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์มูซังคิงและพันธุ์หนามดำ ที่ผู้นำเข้าจีนและฮ่องกงนิยมมาก ปีๆ หนึ่งเขามีรายได้เป็นตัวเลข 7 หลัก

“ดินในราอับเหมาะมากสำหรับปลูกทุเรียน สภาพอากาศก็ดี อุณหภูมิกลางวันกับกลางคืนต่างกันราว 10 องศาเซลเซียส ไม่มีปัญหามลพิษรุนแรง ไม่มีอากาศเสีย ทุเรียนที่เราปลูกจึงดีเป็นพิเศษ”

นอกจากนี้ ที่ตั้งของราอับ อยู่บนเนินเขาระหว่างที่ราบสูงเก็นติ้งกับคาเมรอน ก็เหมาะมากกับการปลูกมูซังคิง

“ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันเลือกมาเที่ยวราอับเพื่อมาชิมทุเรียน ลูกค้าแบบนี้มีมากมาย บางปีมากันครั้งหนึ่ง บางปีมา 2 ครั้ง มาแล้วก็ไปบอกต่อให้เพื่อนๆ มาเที่ยวด้วย”

หลู่ เล่าว่า เดิมทีธุรกิจทุเรียนไม่ได้ทำเงิน เนื่องจากราคาผันผวน ถ้าปลูกมากก็ไม่คุ้มทุน เกษตรกรหลายคนจึงหันไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน รวมทั้งตัวเขาด้วย หลายปีผ่านไปธุรกิจทุเรียนเริ่มดีขึ้น หลายบริษัทปลูกสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม

“เราเริ่มปลูกเหมาซานหวังเพื่อขยายตลาด จากนั้นก็เริ่มส่งออกไปสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า จีน ทุเรียนพันธุ์นี้ทำให้พวกเราเริ่มมีกำไร”

สตีเวน ยี เจ้าของรายหนึ่งของบริษัทอีเอฟ 999 ในราอับ เผยว่า ชาวจีนกระเป๋าหนักยินดีจ่ายเพื่อมูซังคิง ช่วยทำให้ได้กำไรมากขึ้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน มูซังคิงราคาแค่กิโลกรัมละ 25 ริงกิต แต่ตอนนี้กิโลกรัมละ 45 ริงกิต ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำเข้าจากต่างประเทศเต็มใจจ่ายแค่ไหน

ถึงตอนนี้ ยีและหุ้นส่วนอีก 3 คน มีรายได้ปีละราว 1 ล้านริงกิต จากสวนทุเรียน 25 ไร่

“ราอับ คือศูนย์กลางมูซังคิงใหญ่สุดของโลก พวกเรารวยขึ้นก็เพราะการลงทุนจากจีนเท่านั้น"

เมื่อวันศุกร์ (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา  รัฐปาหังจัดเทศกาลทุเรียนนานาชาติราอับ งานนี้ “วัน รอสดี วัน อิสมาอิล” มุขมนตรีรัฐปาหังปลาบปลื้มที่ราอับผลิตทุเรียนได้หลายสายพันธุ์ พร้อมระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นกำลังหาทางติดแบรนด์ทุเรียนมูซังคิงที่ผลิตจากปาหัง เพื่อระบุคุณภาพยอดเยี่ยมแตกต่างจากทุเรียนสายพันธุ์เดียวกันจากรัฐอื่น

มุขมนตรีกล่าวด้วยว่า ราอับควรใช้ประโยชน์จากทุเรียนระดับพรีเมี่ยม ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน

“ปีที่แล้วชาวจีนมาเที่ยวปาหังราว 700,000 คน แต่ปีนี้เราอยากให้ถึง 1 ล้านคน เราอยากให้ราอับเป็นเมืองที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน”

วันเปิดงานเทศกาลทุเรียนนานาชาติราอับ มีคนร่วมงานจากทั่วประเทศมาเลเซียราว 10,000 คน งานนี้รัฐบาลรัฐปาหังเชิญตัวแทนจากจีนมาเป็นแขกพิเศษด้วย เพื่อให้ได้สัมผัสความพิเศษของมูซังคิงด้วยตนเอง