"พุทธิพงษ์ รมว.ดีอี" เร่งเครื่องงานค้างปั้นไทยสู่ดิจิทัล

"พุทธิพงษ์ รมว.ดีอี" เร่งเครื่องงานค้างปั้นไทยสู่ดิจิทัล

รมว.ดีอีเร่งเครื่องงานค้าง ปั้นไทยสู่ดิจิทัล ดึงบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ พร้อมเรียกข้าราชการที่เกี่ยวข้องถกกฎหมายลูกภายใน้พรบ.ดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานหลังรับตำแหน่งว่า ภารกิจหลักหลังเข้ามาทำงานคือการขับเคลื่อนโครงการตามโรดแมพการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ทั้งหมด อาทิ โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง 24,700 หมู่บ้าน (เน็ตประชารัฐ) ,โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในส่วนของ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ , การกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ , โครงการเป็นการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล

" โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ เป็นการวางแนวทางการสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลในระดับอาเซียน ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน และก็เพื่อรองรับบทบาทของประเทศไทยที่ปีนี้เป็นประธานอาเซียนด้วย"

ในส่วนของโครงการเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ปีที่ผ่านมาได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานนำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สำหรับปีนี้จะจะนำร่องเพิ่มเติมเป็นไม่ต่ำกว่า 24 เมืองตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเร่งการจัดทำระเบียบข้อบังคับและกฎหมายลูกที่ต้องออกตาม พ.ร.บ. ดิจิทัลทั้งหมด โดย เมื่อตนเข้ามาทำหน้าที่แล้วจะเชิญหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมาพูดคุยถึงแนวทางการทำงานและการกำหนดภารกิจเร่งด่วนที่ยังคงเหลือ

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงาน ระเบียบและกฎหมายลูกที่รัฐบาลและ หรือโดยกระทรวงดีอีจะต้องดำเนินการจัดทำเพื่อรองกฎหมายดิจิทัลที่ผ่านการพิจารณาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 (รองรับกฏหมายดิจิทัลทั้ง 7 ฉบับ) อาทิ ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ออกระเบียบและหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการกมช. ดำเนินการภายใน 90 วัน ตั้งสำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กำหนดนโยบายแบะแผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จัดทำประมวลวิธีปฏิบัติและกรอบมาตรฐานการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ ออกระเบียบกมช.เรื่องมาตรฐานการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์