กสอ.ดึงเอกชนลงขัน ตั้งตลาดกลางอีเอฟซี

กสอ.ดึงเอกชนลงขัน ตั้งตลาดกลางอีเอฟซี

เปิดแผนตั้ง "อีเอฟซี" ตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรภาคตะวันออก เล็งดึงเอกชนตลาดค้าส่ง โลจิสติกส์ โรงงานแปรรูปอาหาร ลงขันร่วมลงทุนแบบ บริษัท อินโนสเปช ตั้งเป้ายกระดับเทียบเท่า ฟู้ดวัลเลย์ของเนเธอร์แลนด์

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ว่าผลจากการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นการจัดตั้ง อีเอฟซี พบว่าโครงการนี้จะเพิ่มโอกาสให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมค้าขาย ส่งออก กระจายสินค้า และเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ของประเทศไทย โดยจะต้องมีการปรับพฤติกรรมการค้าขายผลไม้ในปัจจุบันไปสู่การเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจในโซ่อุปทาน

ดังนั้นขั้นตอนต่อไปควรจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอีเอฟซีฉบับเต็ม โดยครอบคลุมถึงการเปรียบเทียบสถานที่ตั้งที่เหมาะสมในการจัดตั้ง รูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมในการสร้างความยั่งยืนของ เอฟอีซี รูปแบบและองค์ประกอบของตลาดกลางที่เหมาะสม ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ

กสอ.ดึงเอกชนลงขัน ตั้งตลาดกลางอีเอฟซี

“ในการจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอีเอฟซีฉบับเต็ม คาดว่าจะใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท โดยจะศึกษาอย่างละเอียดทั้งด้านเทคนิค แผนการด้านการตลาด และการเงิน รายละเอียดการลงทุนด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการ อีเอฟซี เกิดขึ้นได้จริงทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเกษตรกรมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”

เอฟซีเพิ่มมูลค่าผลไม้ตะวันออก

นอกจากนี้ จะต้องสร้างความมีส่วนร่วมกับบุคคลและหน่วยงานในโซ่อุปทานผลไม้ในบริเวณพื้นที่ โดยบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ควรเข้ามาร่วมในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชนทุกฝ่ายจะต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวส่วนผลไม้ที่ตกเกรดสามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ในพื้นที่ รวมทั้งลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีน สร้างโอกาสในการหาแหล่งตลาดใหม่ๆ โดยใช้ตลาดกลางเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับซัพพลายเออร์ต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ โครงการ อีเอฟซี จะสำเร็จได้ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ธนาคาร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งการสนับสนุนในเรื่องการส่งออก

ดึงตลาดไท-สี่มุมเมืองร่วมตั้งอีเอฟซี

2. ตลาดกลางที่ดำเนินงานประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โดยควรดึงตลาดกลางที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้เข้ามาร่วมลงทุนในอีเอฟซี หรือเข้ามาเป็นพันธมิตรการค้าร่วมกันกับอีเอฟซีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3. บริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และบริษัทขนส่งต่างๆ เพราะบริษัทเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารพื้นที่ให้เช่าคลังสินค้า ทั้งแบบคลังสินค้าทั่วไปและคลังสินค้าห้องเย็น ส่วนบริษัทขนส่งก็เป็นกลไกที่สำคัญในการส่งออกผลไม่และสินค้าการเกษตรอื่นๆ กระจายไปยังต่างประเทศ หากบริษัทเหล่านี้เข้ามาสนับสนุนโครงการ ทั้งการร่วมลงทุน การเป็นเครื่อข่ายขนส่งของตลาดกลาง จะช่วยสนับสนุนการค้าให้กับอีเอฟซีได้มาก

4. บริษัทผู้แปรรูปอาหาร หรือบริษัทที่เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ใกล้เคียง อีเอฟซี โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่ 5. บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการลงทุนในธุรกิจการบริหารตลาดกลาง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับการประมูลสินค้าเกษตร มีเครือข่ายในการเชื่อมโยงกับบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างๆ และมีความน่าเชื่อถือในการบริหารงานดึงดูดให้โซ่อุปทานในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่มีการเพิ่มคุณค่าและการพัฒนาอย่างยั้งยืน

และ6. หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากรอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าออกจากอีเอฟซีไปต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือเรื่องการค้าภายในประเทศและการส่งออก การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเขตการค้าเสรี กระทรวงเกษตรฯเข้ามาตรวจสอบและควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และการให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิสกับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีเอฟซี

จับมือบริษัทใหญ่ร่วมลงขัน

นายเดชา กล่าวว่า รูปแบบการจัดตั้ง อีเอฟซี จะคล้ายๆ กับการตั้ง บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เกิดจากการดึงริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศ ลงขันทั้งเงินลงทุนและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมถือหุ้นดำเนินงานในบริษัทนี้ เพื่อบ่มเพาะสร้างบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในไทย โดย อีเอฟซี ก็จะดำเนินงานในแนวทางนี้เช่นกัน เพราะหากให้ภาครัฐเป็นตัวนำจะทำงานได้ช้าขาดประสิทธิภาพความเชี่ยวชาญ ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารจะทำให้อีเอฟซีเกิดผลสำเร็จมากกว่า ส่วนภาครัฐจะเป็นเพียงผู้ร่วมก่อตั้งผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงแรก ซึ่ง อีเอฟซี จะใช้พื้นที่ประมาณ 37.6 ไร่ ใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท

“การดำเนินงานจะเป็นในลักษณะกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ผลผลิตการเกษตร กิจการตลาดค้าส่ง และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมลงทุนโครงการนี้ รวมทั้งจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อีอีซี เข้ามาร่วมวิจัยพัฒนาการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเป็นสินค้ามูลค่าสูง การวิจัยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้กับเกษตรกร เป็นต้น คล้ายๆ กับฟู้ดวัลเลย์ของเนเธอร์แลนด์โดยจะตั้งทีมเจรจาไปหารือกับทุกฝ่ายในเร็วๆ นี้”

ในส่วนของความร่วมมือกับ ปตท. นั้น ในช่วงเริ่มต้นมองว่าควรจะนำความเย็นเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการแปรสภาพแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ให้เป็นก๊าซธรรมชาติ มาใช้สร้างความเย็นให้กับคลังสินค้าห้องเย็นสำหรับผลไม้สดของ อีเอฟซี แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพื้นที่ อีเอฟซี จะอยู่ที่นิคมสมาร์ทพาร์ค จ.ระยอง อยู่ห่างจากคลังแอลเอ็นจี ของปตท. กว่า 10 กิโลเมตร หากต้องวางท่อนำความเย็นมายังอีเอฟซีจะต้องใช้เงินลงทุนมากจนโครงการอาจไม่มีความคุ้มทุน

เราจึงมองว่าควรนำก๊าซไนโตรเจนเหลวที่เกิดจากโครงการร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. กับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) นำความเย็นจากการแปลงสภาพแอลเอ็นจีมาผลิตก๊าซอุตสาหกรรม โดย อีเอฟซี จะใช้ก๊าซในโตรเจนเหลววันละ 1 คันรถ มีต้นทุนต่ำกว่าต่อท่อมายัง อีเอฟซี ซึ่งโครงการร่วมลงทุนระหว่างปตท. กับ บีไอจี จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 สอดรับกับโครงการ อีเอฟซี ที่จะเสร็จในช่วงปี 2564