สกพอ.ปั้นแรงงานเกรด 'เอ'

สกพอ.ปั้นแรงงานเกรด 'เอ'

เร่งผลิตบุคลากรป้อนอีอีซีเฉียด 5 แสนคน ใน 5 ปี ดึงเอกชนในพื้นที่มอบทุนการศึกษา เปิดโรงงานฝึกอบรม ปั้นนักศึกษาเกรด A รองรับ 10 อุตฯ เป้าหมายปีละ 2 หมื่นคน พร้อมตั้ง 7 ศูนย์ ระดมมหาวิทยาลัย-อาชีวศึกษาผลิตบุคลากร

นายอภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และประธานคณะทำงานศูนย์ประสานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาบุคลากรรองรับการขยายตัวของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีคาดว่าภายใน 5 ปี ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 470,000 ราย หรือ ต้องการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 100,000 คน

แยกผลิตแรงงาน3กลุ่ม

สำหรับแผนการสร้างบุคลากรนี้ จะร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักศึกษาเข้ามารองรับภาคอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม A จะเป็นการผลิตนักศึกษาแบบ “อีอีซี โมเดล” โดยสถาบันการศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการในอีอีซี ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะระบุชัดเจนว่าต้องการแรงงานกี่คนคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าหลักสูตร และร่วมกับสถาบันการศึกษาคัดเลือกนักศึกษาเข้าโครงการนี้ โดยสถานประกอบการจะออกทุนการศึกษาต่างๆ ให้ทั้งหมดจนจบหลักสูตร นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้จะมีงานทำ 100% ส่วนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% จากมูลค่าทุนการศึกษาที่ให้สนับสนุน

สกพอ.ปั้นแรงงานเกรด \'เอ\'

“ในกลุ่ม A นักศึกษาจะเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการของผู้ให้ทุน เพื่อให้จบออกมามีคุณภาพมาตรฐานการทำงานตามที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสูง รองรับความต้องการของภาคเอกชนได้ทันที โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 นักศึกษาชุดแรกจะทยอยจบออกมาในปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวน 15,000-20,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 15-20% ของความต้องการบุคลากรในแต่ละปีที่มี 1 แสนคน”

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้สถาบันการศึกษามีการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เพราะทำงานร่วมกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด และนักศึกษาที่จบออกมาก็มีความมั่นคงในอาชีพการงาน รวมทั้งสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะพัฒนาได้ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 8 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอีก 46 แห่ง ในจำนวนนี้มี 12 แห่งที่ผลิตนักศึกษาในกลุ่ม A

ดึงโรงงานยกระดับนักศึกษา

กลุ่ม B จะมีการเรียนการสอบแบบทวิภาคี ซึ่งเรียนในห้องเรียนและฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรป้อนให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต่างจากกลุ่ม A ที่ไม่มีทุนการศึกษาให้ สถานประกอบการเพียงแต่เปิดให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงาน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีทั้งความรู้จากห้องเรียนและประสบการณ์จริงในการทำงาน จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมามีโอกาสในการเข้าทำงานสูงมาก โดยคาดว่าจะผลิตนักศึกษาในกลุ่มนี้ได้ 50,000-60,000 คนต่อปี หรือ 50-60% ของความต้องการแรงงานปีละ 100,000 คน

กลุ่ม C จะเป็นการผลิตนักศึกษาแบบเดิม โดยนักศึกษาที่จบออกมาจะต้องหากที่ฝึกอบรม ฝึกทักษะในด้าน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้มีโอกาสการหางานได้สูงขึ้น คาดว่านักศึกษาในส่วนนี้จะมี 20,000 คน หรือคิดเป็น 20% ของความต้องการแรงงานในอีอีซี 100,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตนักศึกษาในแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนไป โดย สกพอ.จะผลักดันให้มีสถาบันอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมโครงการในกลุ่ม A เพิ่มขึ้น โดยในปีที่ 2 จะเพิ่มผู้ที่จบการศึกษาในกลุ่ม A ปีละ 5-20% มีเป้าหมายที่จะผลิตนักศึกษาในกลุ่ม A ให้ได้ 50-60% ของความต้องการแรงงานทั้งหมดในอีอีซี โดยกลุ่ม C จะหมดไป มาเพิ่มในกลุ่ม A และ B มากขึ้น

ผลิตคนป้อน7กลุ่มธุรกิจ

นายอภิชาต กล่าวว่า ปัจจุบันการ สกพอ.เน้นในการผลิตบุคลากรใน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มดิจิทัล เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยกลุ่มที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งมีมหาวิทยาลัยบูรพา และวิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนสร้างบุคลากรในกลุ่มนี้ ซึ่งในกลุ่มดิจิทัลเป็นกลุ่มที่ต้องการแรงงานมากที่สุด

2.กลุ่มธุรกิจอากาศยาน มีเป้าหมายผลิตบุคลากรป้อนให้กับธุรกิจสายการบิน และการซ่อมอากาศยาน โดยได้ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สายการบินและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ผลิตบุคลากรด้านต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการในธุรกิจนี้

3.กลุ่มระบบราง มีเป้าหมายผลิตบุคลากรป้อนให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟฟ้า โดยได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และสถาบันการศึกษาอื่นในอีอีซี ร่วมกันสร้างบุคลากรในกลุ่มนี้

ร่วมมือมหาวิทยาลัยในพื้นที่

4.กลุ่มพาณิชย์นาวี จะร่วมมือกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติของมหาวิทยาลัยเกษตร ศูนย์ศรีราชา สร้างบุคลากรด้านการขนส่งทางเรือ รองรับการขยายตัวของท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบังที่จะมีการนำเข้า-ส่งออก เพิ่มขึ้นมาก

5.กลุ่มโลจิสติกส์ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และมหาวิทยาลัยอีก 6-7 แห่ง ผลิตบุคลากรด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ช และคลังสินค้า

6.กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และ 7.กลุ่มเชื้อเพลิงและปิโตรเคมี จะร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี

ต่างชาติสนใจเปิดวิทยาเขต

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศในการผลิตบุคลากรชั้นสูง เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) มหาวิทยาลัยโตไก ของญี่ปุ่น และกำลังเจรจากับสถาบันการศึกษาของเยอรมนี ออสเตรียและจีน

รวมทั้งยังมีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในไทยหลายแห่ง ล่าสุดมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมจากอังกฤษ สนใจมาตั้งวิทยาเขตในอีอีซี โดยมีจุดเด่นด้านแพทยศาสตร์ วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนแรงงานเดิมในอีอีซีต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ โดยผลสำรวจพบว่าโรงงานในไทย 300,000 แห่ง จะทยอยนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้น คาดว่ามีแรงงานออกนอกระบบเกือบ 70% ดังนั้นแรงงานเดิมต้องอบรมเพิ่มทักษะ โดยดีป้าเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น 50-60 หลักสูตร