เตือนเอเชียได้อานิสงส์จากศึกการค้าแค่ ‘ชั่วคราว’

เตือนเอเชียได้อานิสงส์จากศึกการค้าแค่ ‘ชั่วคราว’

ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ผลประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่อาเซียนได้รับขณะนี้จะเกิดขึ้นเพียง “ชั่วคราว” โดยบางประเทศรวมถึงอินโดนีเซียอาจเป็นเหยื่อรายต่อไป

นายหรวน ซ่งเสอ รองประธานบริหารและนักวิชาการอาวุโสของสถาบันศึกษาระหว่างประเทศของรัฐบาลจีน เผยกับเว็บไซต์จาการ์ตา โพสต์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาจได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในปัจจุบัน แต่ข้อได้เปรียบนี้จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น และอาจมีประเทศสมาชิกบางส่วนตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งนี้

“จริงอยู่ที่อาเซียนอาจได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ แต่จะคงอยู่ในระยะสั้น” นายหรวนกล่าว และว่า “อันที่จริง ลัทธิเอกภาพนิยมของสหรัฐในการปรับขึ้นภาษีนำเข้าไม่ได้พุ่งเป้าที่จีนประเทศเดียว แต่ปัจจุบัน เหยื่อเหล่านั้นยังรวมถึงเม็กซิโกและแคนาดาด้วย แต่ในอนาคตก็อาจเป็นอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ”

ผู้เชี่ยวชาญจีนรายนี้เน้นย้ำว่า ไม่ควรมองว่าสงครามการค้าเป็นเพียงการพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงลัทธิปกป้องการค้าของรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบพหุภาคี หรือความตกลงร่วมกันจากหลายฝ่าย

“ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วโลก โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียน ควรหนักแน่นกับพันธสัญญาของตนที่มีต่อระบบพหุภาคี”

นายหรวน เสริมว่า กลุ่มอาเซียนรวมถึงประเทศพันธมิตร ได้แสดงถึงเจตจำนงอันแข็งแกร่งที่จะสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เห็นได้จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งเป็นแผนข้อตกลงการค้าเสรีอันประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“ในขณะที่แรงหนุนระบบพหุภาคีถดถอยลง การเดินหน้าข้อตกลงอาร์เซ็ปถือว่าสำคัญต่อการย้ำถึงพันธกิจในการร่วมมือกันและทำให้เห็นว่าระบบพหุภาคีต้องเป็นอนาคตของเราทุกคน” นายหรวนชี้ และว่า “นั่นเป็นเหตุที่จีนต้องการให้การเจรจาอาร์เซ็ปเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด และเรียกร้องให้ประเทศที่เข้าร่วมเร่งเจรจา”

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เห็นพ้องให้มีการหาข้อสรุปข้อตกลงอาร์เซ็ปภายในสิ้นปีนี้

ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย กล่าววานนี้ (26 มิ.ย.) ว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังขยายตัว และเตือนให้ประเทศต่าง ๆ เตรียมรับมือผลกระทบ "ลูกหลง" ในขณะที่ระบบการค้าโลกกำลังถูกกดดันอย่างหนัก