สธ. แนะผู้ปกครองสังเกตตุ่ม แผลที่ปากเด็ก อาจเป็นโรคมือเท้าปาก

สธ. แนะผู้ปกครองสังเกตตุ่ม แผลที่ปากเด็ก อาจเป็นโรคมือเท้าปาก

สธ. แนะผู้ปกครองสังเกตตุ่ม แผลที่ปากเด็ก อาจเป็นโรคมือเท้าปาก

นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหน้าฝน เด็กเล็กมักป่วยบ่อยจากโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งมือเท้าปาก ซึ่งในเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปี ช่วง 3 เดือนหน้าฝนเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูง โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยมือเท้าปาก 34,630 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยตลอดทั้งปี สำหรับในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 มิถุนายน พบผู้ป่วย 14,294 ราย เฉพาะวันที่ 1 - 17 มิถุนายน พบแล้ว 1,603 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 68 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังสถานการณ์โรค และให้คำแนะนำศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล/ประถมศึกษา คัดกรองเด็กทุกวัน และล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ หากพบเด็กมีไข้ มีตุ่มแดงหรือมีแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ขอให้แจ้งผู้ปกครอง รับเด็กกลับบ้าน และทำความสะอาดห้องเรียน ของเล่น เครื่องเล่น เครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

“ขอให้ผู้ปกครองหมั่นล้างมือให้เด็ก หากเด็กมีไข้ บ่นเจ็บในปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร ไม่ดูดนม อาจมีน้ำลายไหล ขอให้สังเกตภายในปากว่ามีตุ่มแผล หรือมีตุ่มพองสีขาวขุ่น รอบๆ เป็นสีแดงที่นิ้วมือ นิ้วเท้า     ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า กดเจ็บ ไม่ค่อยแตกเป็นแผล ในเด็กเล็กๆ บางครั้งจะพบมีผื่นนูนสีแดงเล็กที่ก้น ส้นเท้า อาจเป็นโรคมือเท้าปาก ขอให้หยุดเรียน เพื่อป้องกันแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่น แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ให้รีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที” นายแพทย์สุขุมกล่าว

 

IMG_20190625102814000000

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคมือเท้าปากทำได้โดย ไม่ควรพาเด็กเล็กไปในที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร และภายหลังขับถ่ายทุกครั้ง ใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก แพทย์จะรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับไว้นอนรักษาในโรงพยาบาล โดยให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด หยอดยาชาในปาก เพื่อลดอาการเจ็บแผลที่ปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยการขาดน้ำ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ส่วนใหญ่จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ มีอาการสมองอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ แพทย์จะรับไว้รักษาเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล