‘สหรัฐ’ แบนบริษัทไฮเทคจีนเพิ่ม 5 ราย

‘สหรัฐ’ แบนบริษัทไฮเทคจีนเพิ่ม 5 ราย

สหรัฐออกคำสั่งแบนบริษัทเทคโนโลยีจีนเพิ่มอีก 5 ราย โดยอ้างเหตุผลความมั่นคง นับเป็นมาตรการล่าสุดจากวอชิงตันที่อาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศก่อน 2 ผู้นำจะพบกันในสัปดาห์หน้า

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐขึ้นบัญชีดำบริษัทเทคโนโลยีจีน 5 รายเมื่อวันศุกร์ (21 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัท “ซูกอน” (Sugon) ผู้ผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีน ร่วมกับบริษัทไมโครชิพในเครือ 3 ราย และสถาบันคอมพิวเตอร์ที่เป็นของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการโจมตีอุตสาหกรรมซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลปักกิ่งอีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเพิ่มความตึงเครียดก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนจะพบกันนอกรอบการประชุมซัมมิต จี20 ในญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้

บริษัททั้งหมดนี้จะถูกห้ามไม่ให้รับเทคโนโลยีของสหรัฐ หลังจากรัฐบาลตัดสินว่า บริษัทเหล่านี้กำลังการขัดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติหรือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

ความตึงเครียดระหว่าง 2 เศรษฐกิจใหญ่ของโลกลุกลามเข้าสู่ภาคเทคโนโลยีเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เนื่องจากคณะบริหารของนายทรัมป์สั่งแบน “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของจีนออกจากตลาดสหรัฐ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

เมื่อเดือนพ.ค. สหรัฐระบุว่าได้เพิ่มหัวเว่ยลงใน “รายชื่อนิติบุคคล” ที่ถูกห้ามไม่ได้รับชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในสหรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลวอชิงตัน ถึงแม้ว่าหัวเว่ยจะได้รับสิทธิยกเว้น 90 วันก็ตาม

หลังจากนั้น “เฟซบุ๊ค” และ “กูเกิล” ได้ประกาศว่าจะตัดขาดกับหัวเว่ยเพื่อให้เป็นไปตามการคว่ำบาตรของสหรัฐ ทำให้หัวเว่ยยิ่งโดดเดียวขึ้นไปอีก

รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการข่มขู่ว่าจะจัดทำบัญชีดำบริษัทและบุคคลต่างชาติที่ “ไม่น่าเชื่อถือ” เพื่อกดดันให้เหล่าบริษัทต่างชาติยังคงความสัมพันธ์ทางการค้ากับหัวเว่ย

เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า เมื่อต้นเดือนนี้ ปักกิ่งเรียกผู้บริหารจากบริษัทสหรัฐอย่าง “เดล” และ “ไมโครซอฟท์” รวมถึงซัมซุงของเกาหลีใต้เข้าพบเพื่อเตือนว่า ความเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตาม ที่จะยุติธุรกิจของพวกเขาในจีนอาจนำไปสู่การตอบโต้

เมื่อไม่นานนี้ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงแอ๊ปเปิ้ลยื่นหนังสือต่อรัฐบาลสหรัฐให้ยกเว้นการขึ้นภาษีรอบใหม่สำหรับสินค้าของบริษัทเหล่านี้ซึ่งมีฐานผลิตในจีนเพราะทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก