เริ่มแล้ว! ศาลปกครอง เดินหน้าสู่ระบบ E-Court

เริ่มแล้ว! ศาลปกครอง เดินหน้าสู่ระบบ E-Court

"ปธ.ศาลปกครองสูงสุด" เปิดปฐมฤกษ์ E-Court ทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปชช.สะดวกตั้งแต่ยื่นฟ้อง-ตัดสินคดี-บังคับคดี สร้างศาลปกครอง Smart Court

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการแถลงข่าวโอกาสศาลปกครองเปิดใช้ “ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน” เป็นวันแรก โดยมีนายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุดในฐานะประธานกรรมการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกบัวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์และเตรียมความพร้อมศาลปกครองสู่ศาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้แนะนำระบบ และวิธีใช้งานระบบดังกล่าว

ทั้งนี้ นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า วันที่ 30 พ.ค.62 ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ของการดำเนินงานของศาลปกครอง ที่เข้าสู่การเป็น “ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Court” ซึ่งจะยกระดับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ให้อยู่ในระดับสากล ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ที่ศาลปกครอง ได้จัดตั้งขึ้น ก็พัฒนาระบบการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยความ มุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ ศาลปกครองอย่างจริงจัง เพื่อที่จะสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการศาลปกครอง และให้บริการแก่ประชาชนและคู่กรณี ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การเป็น "ศาลอัจฉริยะ หรือ Smart Court" โดยมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการคดีและสถิติคดีที่ทำงานในลักษณะ Web-based application เพื่อติดตามสถานะของแต่ละคดี สร้างระบบสืบค้นกฎหมายและกฎออนไลน์ รวมทั้งระบบสืบค้นคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครอง และยังดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อที่ทำการศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ด้วย

ซึ่งผู้มาติดต่อสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการติดต่อราชการ และระบบจัดหาที่จอดรถ ระบบการรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วยใบรับรองดิจิทัล และให้บริการขอคัดและรับรองสำเนาคำพิพากษา คำสั่งศาลปกครองในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เป็นต้น

"จากความมุ่งมั่นพัฒนาดังกล่าว วันนี้ศาลปกครองพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าเข้าสู่การเป็นศาลปกครอง อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเปิดใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน ซึ่งรองรับตั้งแต่ขั้นตอนตอนเริ่มต้นคือการยื่นฟ้อง ไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการ พิจารณา คือการพิจารณาพิพากษา และการบังคับคดี ให้สมกับความเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ ที่จะสามารถ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและคู่กรณีอย่างมีคุณภาพ ให้เป็นไปตามข้อตกลง หรือ Enforcing contracts ภายใต้ดัชนีการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก"

ด้วยความสำคัญและความสำเร็จของการพัฒนาระบบดังกล่าวนี้เอง ศาลปกครองจึงได้เสนอ “โครงการพัฒนาศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน” เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 เพื่อเป็น การเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของปวงชนชาวไทยด้วย

ด้านนายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการยกร่าง กฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ มีหลักคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1.เป็นระบบที่มีมาตรฐานและความชัดเจนทางวิธีพิจารณาคดี 2.เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง ทุกครั้งที่มีการเข้าใช้งานระบบจะบันทึกผู้เข้าใช้ไว้ทั้งหมด ทำให้ทุกกระบวนการมีความโปร่งใส มั่นคงในการใช้งาน 3.เป็นระบบที่สามารถใช้งานได้จริง ใช้งานได้ง่าย มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โดยระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะครอบคลุมทุกกระบวนงาน ตั้งแต่ การยื่นฟ้องคดีการแจ้งหมายศาล การชำระเงิน ค่าธรรมเนียมศาล และการจ่ายสำนวน โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลปกครอง และรับทราบหมายแจ้ง กับคำสั่งต่างๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการลดระยะเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในบางขั้นตอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการเข้าใช้ “ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์” สามารถทำได้โดยสะดวกในทุกเวลา และทุกสถานที่ที่ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งมีขั้นตอนการเข้าใช้งานที่เรียบง่ายเพียง 2 ขั้นตอน เท่านั้น

คือขั้นตอนแรก การระบุตัวบุคคลผู้ใช้งาน โดยการระบุชื่อผู้ใช้งาน (user name) และรหัสผ่าน (password) ซึ่งได้รับมาจากการเข้าลงทะเบียนในระบบ และขั้นตอนที่สอง การใช้งานตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เช่น การยื่นฟ้อง การยื่นคำให้การ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีการใช้งานได้ด้วยตนเอง โดยการใช้งาน แต่ละส่วนจะเริ่มจากการให้ผู้ใช้งานสามารถเตรียมเรื่องของตนได้เองภายในระบบ เช่น การร่างคำฟ้อง หรือการร่างคำให้การฯลฯ จากนั้นระบบจะให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจทานความถูกต้องครบถ้วนของสิ่งที่ได้จัดทำขึ้น สุดท้ายก็ใหผู้ใช้งานทำการตกลงใจดำเนินการ เช่น ยื่นคำฟ้อง คำให้การ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าใช้งานสามารถที่จะ ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในระบบได้ทุกขั้นตอน และที่สำคัญเมื่อมีการส่งเอกสารผ่าน ระบบแล้วระบบจะดำเนินการตอบกลับอัตโนมัติทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่ยื่นเอกสารผ่านระบบดังกล่าวด้วย