'จีซี' ทุ่ม7หมื่นล้านปิโตรฯขั้นสูง

'จีซี' ทุ่ม7หมื่นล้านปิโตรฯขั้นสูง

ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ลงทุน 3 โครงการปิโตรเคมีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีอีซี เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2563 สร้างรายได้เพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท จับมือยุโรปตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก กำลังผลิต 4 หมื่นตันต่อปี ช่วยลดมลพิษ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จีซี ก็ได้เดินหน้าโครงการลงทุนในอีอีซีทันที และมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดใน อีอีซี กว่า 7 หมื่นล้านบาท

\'จีซี\' ทุ่ม7หมื่นล้านปิโตรฯขั้นสูง

โดยเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง

เร่งแผนลงทุน3โครงการ

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนโครงการสำคัญหลายโครงการซึ่งได้รับการอนุมัติลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยแต่ละโครงการมีความคืบหน้า ดังนี้ 1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่บริษัทฯ มีอยู่แล้ว และเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน และ โพรพิลีน 250,000 ตัน ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณ 45% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท

2. โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) ดำเนินการโดย บริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดย จีซี ถือหุ้น 100% เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลีออลส์ ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 56 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

โพลีออยส์ต่อยอดซัพพลายเชน

3. โครงการโพลีออลส์ ดำเนินการโดย บริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) โดย จีซี ถือหุ้น 82.1% Sanyo Chemical 14.9% และ Toyota Tsusho 3% เพื่อผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ 130,000 ตันต่อปี โพลิเมอร์โพลีออลส์ 30,000 ตันต่อปี และ พรีมิกซ์ 20,000 ตันต่อปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 60% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 โดยทั้ง 2 โครงการ PO/Polyols มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์จาก Polyols สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูงประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า และกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน New S-Curve เพื่อตอบสนองต่อแนวทางส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่ลงทุนในพื้นที่ อีอีซี

ทั้งนี้ ภายหลังโครงแล้วเสร็จในปี 2563 บริษัทจะสามารถบันทึกรายได้เต็มปีภายในปี 2564 โดยคาดว่ากำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอีก 7.5 แสนตัน และผลิตโพรพิลีนออกไซด์ได้ 2 แสนตัน จะทำให้รายได้ปี 2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปี 2561

จับมือยุโรปลงทุนรีไซเคิล

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิอลขยะพลาสติก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจากยุโรป เพื่อจะนำเทคโนโลยีระดับสูงของยุโรปเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลในไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่ง จีซี จะถือหุ้นสัดส่วน 70% โดยขยะพลาสติกจะนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก ตั้งเป้าว่าจะให้มีคุณภาพสูงสุดเป็นเกรดเม็ดพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งจะใช้ขยะพลาสติกประมาณปีละ 5 หมื่นตัน นำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกได้ประมาณ 4 หมื่นตันต่อปี สามารถสร้างรายได้ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี

“โรงงานรีไซเคิลพลาสติกนี้จะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ จีซี ที่ตั้งอยู่ในจ.ระยอง ซึ่งจะเป็นโรงงานระบบปิดไม่มีกลิ่นเหม็นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานสูงสุดของยุโรป โดยจะรับขยะพลาสติกจากผู้ประกอบการคัดแยกพลาสติก ซึ่งจะเป็นโครงการที่สำคัญในการช่วยลดมลภาวะขยะใน จ.ระยอง”

ด้าน ความคืบหน้าโครงการ​ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและตัดสินใจลงทุนขั้นตอนสุดท้ายในช่วงกลางปีนี้ ส่วนการลงทุนโรงงานรีไซเคิลพลาสติก แบบครบวงจรมาตรฐานสากลในระดับโลก คาดว่าจะสามารถสรุปรายชื่อพันธมิตรภายในเดือนมิ.ย.นี้

หนุนคุณภาพชีวิตชุมชน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ อีอีซี แล้ว จีซี ยังสนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน การสร้างงานสร้างอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ ตลอดจนส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานของคนในชุมชน เช่น โครงการระยองเส้นทางแห่งความสุข เป็นโครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของจ.ระยอง เพื่อจัดทำเส้นทางแห่งความสุขที่เกี่ยวกับการกิน การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการบูรณาการโครงการ ซีเอสอาร์ ที่สำคัญ โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) และ โครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

“จีซี พร้อมแล้วกับการต่อยอดขยายการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ อีอีซี ที่เป็นพื้นที่ที่ จีซี เป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่เข้าลงทุนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ณ วันนี้ จีซี พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับประเทศ สามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรีในยุคปัจจุบัน”