"บอริส จอห์นสัน "เต็งหนึ่งนายกฯคนใหม่อังกฤษ

"บอริส จอห์นสัน "เต็งหนึ่งนายกฯคนใหม่อังกฤษ

ผู้เป็นฝันร้ายของอียูและมีความเป็นไปได้สูงที่เบร็กซิทจะไร้ข้อตกลง

การแถลงลาออกจากตำแหน่งของเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ด้วยน้ำตาคลอเบ้าเมื่อวันศุกร์ (24พ.ค.)ถือเป็นฝันร้ายของกระบวนการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)ของสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง แต่การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนที่นางเมย์ โดยมีเต็งหนึ่งคือ บอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษถือเป็นฝันร้ายสุดๆสำหรับชาติสมาชิกอียูเช่นกัน

หากมองเผินๆ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเมย์ เหมือนจะช่วยปลดล็อกสหราชอาณาจักร จากการเจรจาต่อรองกับอียู แต่ในความเป็นจริงกลับทำให้สหราชอาณาจักรต้องเจอความท้าทายอันยิ่งใหญ่ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหาวุ่นวายทางการเมืองตามมา และทำให้อนาคตของเบร็กซิทมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมย์ ก็ยากที่จะรอดพ้นปัญหาความวุ่นวายต่างๆเหล่านี้ไปได้ แต่สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ การเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ท่ามกลางความแตกแยกภายในพรรค ที่แบ่งเป็นกลุ่มหนุนเบร็กซิท และกลุ่มต่อต้านยุโรป

จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศวัย 54 ปี ที่ลงจากตำแหน่งเมื่อกลางปีที่แล้ว ชูประเด็นการขึ้นเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมเรื่อยมา และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังยืนยันว่าจะขอชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยจอห์นสัน อยู่ในกลุ่มเบร็กซิทสายเหยี่ยวที่สนับสนุนเบร็กซิทแบบไม่ต้องมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรป(อียู) และเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มคนที่ภักดีต่อพรรค พูดได้ว่าเขามีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษในอัตราต่อรอง 4 ต่อ 6

นอกจากนี้ จอห์นสัน ยังประกาศจุดยืนชัดเจนว่า อังกฤษควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือสถานการณ์เบร็กซิทโดยไม่มีการทำข้อตกลง

“เราจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค. ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตามและการที่จะได้รับข้อตกลงที่ดีก็คือการเตรียมพร้อมที่จะไม่มีข้อตกลง”จอห์นสัน กล่าว

หากจอห์นสันได้รับความไว้วางใจจากพรรคให้ขึ้นมาแทนที่เมย์ อนาคตของสหราชอาณาจักรอาจแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะจุดยืนสนับสนุนเบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลง เพราะเท่ากับว่า สหราชอาณาจักรต้องกลับมาใช้กฏหมายการค้าระหว่างประเทศทั่วไปที่ไม่มีการยกเว้นภาษีพิเศษระหว่างกันอีก ความสามารถด้านการค้าของสหราชอาณาจักรจะลดลง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหลายๆครั้งของชาติสมาชิกอียูที่ผ่านมา มีการเอ่ยชื่อของจอห์สันแทบทุกครั้ง ซึ่งบรรดาทูตจากชาติสมาชิกอียูทุกประเทศกังวลว่า นับจากนี้ไป จอห์นสันจะเร่งรณรงค์เรื่องการออกจากยุโรปแบบไม่มีเงื่อนไข หรือข้อตกลงใดๆถี่ขึ้น และมีการจัดจอห์นสันไว้ในกลุ่มเดียวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่ถือเป็นผู้นำที่ทำให้ปัญหาต่างๆแย่ลง