กพอ.เคาะผังเมือง มิ.ย.

กพอ.เคาะผังเมือง มิ.ย.

กรมโยธาฯ เตรียมเสนอ กพอ.เคาะร่างผังเมืองอีอีซี มิ.ย.นี้ หลังรับฟังความเห็น 19 ครั้ง ขีดเส้นพื้นที่อุตสาหกรรม 3 แสนไร่ ลดพื้นที่เกษตร 5% มั่นใจรองรับการขยายตัวชุมชน-ภาคธุรกิจ มั่นใจประกาศใช้ทัน ส.ค.นี้

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการจัดทำร่างแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ทำประชาพิจารณ์ประชาชน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา แล้ว 19 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความคิดเห็นของประชาชนมาปรับผังเมืองอีอีซี และจะเสนอคณะอนุกรรมการจัดทำแผนผังการพัฒนาอีอีซี ภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในเดือน มิ.ย.นี้

สำหรับแผนผังการพัฒนาอีอีซีฉบับนี้ ส่วนใหญ่ยึดตามผังที่กรมโยธาฯ วางไว้ ซึ่งจะปรับผังเล็กน้อยในพื้นที่อุตสาหกรรมที่จะขยายพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมที่กระจัดกระจายให้เชื่อมต่อกันภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยพื้นที่อุตสาหกรรมในอีอีซีทั้งหมดจะมี 3 แสนไร่ เพิ่มเติมจากเดิมที่ยื่นขอมา 8-9 หมื่นไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว

กพอ.เคาะผังเมือง มิ.ย.

ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ชาวบ้านเป็นห่วงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในผังเมืองฉบับนี้ได้กำหนดให้พื้นที่ส่วนที่ติดแม่น้ำบางปะกงห่างจากฝั่งแม่น้ำ 100 เมตร ห้ามก่อสร้างเด็ดขาด แต่จะปรับผังสีหรือไม่จะประชุมหารือกันอีกครั้ง

“ในผังการพัฒนาอีอีซีฉบับนี้ จะปรับจากเดิมเล็กน้อยในส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เขตเมืองเพิ่มเติม ให้รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และภาคบริการ ที่จะเข้ามาตั้งในอีอีซีในอนาคต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความแออัด การจราจรติดขัด และมลพิษในระยะยาว”

ไม่แตะพื้นที่ป่า-สปก.

ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมจะลดจากเดิมเล็กน้อย 5% ซึ่งจะเป็นพื้นที่เกษตรที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก หรือให้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่า จึงควรนำไปพัฒนาในด้านอื่นจะเกิดผลทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ขณะที่พื้นที่เกษตรชั้นดี และพื้นที่ป่า ในผังเมืองฉบับนี้จะไม่เข้าไปแตะต้อง
ในขณะที่พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ก็ไม่ได้ปรับแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่ชุมชนและการพัฒนาเมืองก็มีสัดส่วนที่เพียงพอรองรับการขยายตัวของ อีอีซี ได้ในระยะยาว รวมทั้งยังได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และการตัดถนนให้เพียงพอต่อการขยายตัวเมืองและภาคอุตสาหกรรม และไม่ส่งผลต่อการระบายน้ำ

สำหรับสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) นั้น ในผังเมืองอีอีซี ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดพื้นที่ไว้ เพราะมองว่าพื้นที่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดไว้ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่เหมาะสมที่จะจัดทำไอซีดีจึงไม่ได้กำหนดพื้นที่รองรับแต่อย่างใด

มั่นใจประกาศใช้ ส.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า แผนผังการพัฒนาอีอีซีจะแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ไม่เกินวันที่ 9 ส.ค. 2562 แน่นอน โดยได้ปรับผังเล็กน้อยในส่วนที่ชาวบ้านเสนอแนะ เช่น พื้นที่พัฒนาเมือง พื้นที่อุตสาหกรรมที่ใกล้กับแม่น้ำที่จะปรับให้ถอยห่างจากริมแม่น้ำ

ส่วนพื้นที่ด้านฝังตะวันออกที่ติดทะเล ก็จะปรับให้ห่างจากชายฝั่งทะเล รวมทั้งจะกำหนดพื้นที่ สปก.ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรเข้าไปแตะต้อง แต่ถ้าในอนาคตรูปแบบการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปก็ปรับเปลี่ยนได้ โดย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาตรา 36 เปิดช่องให้ปรับไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรได้ในอนาคต แต่ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนพื้นที่อ่อนไหวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น พื้นที่ผังสีขาวทแยงเขียว หรือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
วางผังตามศักยภาพเมือง

นอกจากนี้ การทำผังใช้ประโยชน์พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดนั้น กำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา จะเน้นในการพัฒนาให้เป็นเมืองรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยและเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์

จ.ระยองมีศักยภาพพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สามารถต่อยอดทั้งการผลิตและวิจัย รวมไปถึงพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารระดับสูง และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ส่วนพื้นที่อู่ตะเภาจะพัฒนาไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน

จ.ชลบุรีจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ เพื่อรองรับความต้องการด้านแรงงานมีฝีมือสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และศูนย์กลางทางการเงิน ส่วนพื้นที่แหลมฉบังและศรีราชา จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของอาเซียน มีการลงทุนระบบโลจิสติกส์ยุคดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางบกทางทะเล และทางอากาศ

รองรับประชากรเพิ่มปีละ4%

เมืองพัทยา จะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลาย และยกระดับเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์เชิงท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการจัดอบรมสัมมนาและการจัดประชุมต่างๆ และสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเจาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง

ทั้งนี้ การจัดทำผังดังกล่าวได้นำข้อมูลประชากรที่ สกอพ.ศึกษามาใช้ในการออกแบบผังด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับจำนวนประชากรในอนาคตได้อย่างเพียงพอ โดยจากการคาดการณ์ประชากรในอีอีซี โดยปี 2580 จะมีประชากรรวม 6.29 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าจากประชากรปี 2560 ที่มี 2.93 ล้านคน โดยในปี 2580 จ.ชลบุรีจะมีประชากร 3.42 ล้านคน จ.ระยอง 1.03 ล้านคน และ จ.ฉะเชิงเทรา 1.84 ล้านคน อัตราการเพิ่มเฉลี่ย 4% ต่อปี นักท่องเที่ยวคาดว่าจะมี 51.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า จากปัจจุบัน