อัด200ล้าน 'เกษตรอัจฉริยะ'

อัด200ล้าน 'เกษตรอัจฉริยะ'

เกษตรฯดันศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง 4,000 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรครบวงจรอัจฉริยะใน 5-10 ปี หลังวืดงบอีอีซี 200 ล้านบาท เปลี่ยนแผนใช้ 3 จังหวัด เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขั้นสูง รองรับสินค้าเกษตรออแกนิกส์-จีเอพี เชื่อมโลจิสติกส์ส่งออก

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้หารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบูรณาการเข้าร่วมโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ โดยจะพัฒนาให้เกษตรกรจะต้องเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ ซึ่งจะมีโรงงานแปรรูปที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการขับเคลื่อน
รวมทั้งมีระบบโลจิสติกส์รองรับการขนส่งและกระจายสินค้่า ซึ่งจะมีคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สะดวกต่อการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งสินค้าเกษตรที่ผลิตจะต้องได้ต้องมีมาตรฐานรับรองจีเอพีออแกนิกส์ เท่านั้น โดยสามารถแปรรูป ขอรับรองมาตรฐานและส่งออกในเขตนี้ได้ทันที

อัด200ล้าน \'เกษตรอัจฉริยะ\'

นางสาวจริยา กล่าวว่า ในเบื้องต้นการพัฒนาสินค้าเกษตรจะแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.พืช 2.ประมง และ 3.ปศุสัตว์ โดยในส่วนของพืชที่เหมาะสมจะพัฒนาศักยภาพในโครงการนี้ คือ มันสำปะหลัง ยางพารา และผัก-ผลไม้ ซึ่งการที่อีอีซีมุ่งพัฒนาเฉพาะพื้นที่ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยที่ระยองเป็นแหล่งผลิตผลไม้ ในขณะที่แหล่งผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่นอกอีอีซี เช่น ผักผลิตได้ในพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ ส่วนยางพารามีแหล่งผลิตที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และมันสำปะหลังมีแหล่งผลิตที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

"อีอีซี”แหล่งแปรรูปเพิ่มมูลค่า

ดังนั้นการพัฒนาด้านการเกษตรในอีอีซีจึงจะใช้เป็นแหล่งรองรับผลผลิตเพื่อพัฒนาด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันการส่งออกได้ทันที เพราะอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง โดยวิธีการนี้จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตด้านพื้นที่ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะที่ดินในเขตอีอีซีมีราคาแพงมาก เกษตรกรไม่มีศักยภาพพอที่จะย้ายฟาร์มเข้ามาได้ และการย้ายฟาร์มเป็นเรื่องยากเนื่องจากต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของดิน โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรอื่นๆ อีกมาก

“ในอีอีซี มีการผลิตสินค้าเกษตรอยู่แต่ไม่มาก และกระทรวงเกษตรฯ ไม่อยากเปิดพื้นที่เกษตรใหม่เพราะจะติดปัญหาพื้นที่อีอีซี และหากต้องยกระดับให้เกิดประสิทธิภาพตามเป้าหมายอีอีซี จะต้องเปลี่ยนวิธีการให้เป็นแหล่งรองรับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่รอบอีอีซีแทน โดยมันสำปะหลังจะรับซื้อจากอีสานเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงสินค้าชีวภาพหรือไบโอเทคโนโลยี เป็นอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม“

ตามกรอบที่กระทรวงเกษตรฯกำหนดขึ้นนี้ ข้อมูลทั้งหมดสามารถอัพเกรดให้อยู่ภายใต้โครงการอีอีซีได้ทันที โดยในเบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้ว โดยเสนอของบประมาณภายใต้อีอีซี อย่างน้อย 200 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะทั้งระบบได้ทันทีภายใน 1-2 ปี จะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพราะปัจจุบัน แต่ละหน่วยทั้งพืช สัตว์และประมง มีข้อมูลพร้อมจะขับเคลื่อนอยู่แล้ว

ห่วงปัญหางบประมาณหนุน

นางสาวจริยา กล่าวว่า จากการหรือกับ สกพอ.ระบุว่า งบประมาณอีอีซีส่วนใหญ่ มีเป้าหมายผลักดันเมกะโปรเจคด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่สามารถจะสนับสนุนทางด้านการเกษตรได้และให้กระทรวงเกษตรฯ จัดสรรงบประมาณตามปกติของแต่ละกรมเอง ดังนั้นการขับเคลื่อนงานเกษตรอัจฉริยะตามเป้าหมายของอีอีซีจึงต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อยภายใน 5-10 ปี

ทั้งนี้ในส่วนของผลไม้ ปัจจุบันในพื้นที่จันทบุรี มีระบบโลจิสติกส์ ล้ง ห้องแช่เย็นแช่แข็งและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว พร้อมจะพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงได้ทันทีภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งส่วนนี้จะรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารทั้งสินค้าปศุสัตว์ และประมง ด้วย โดยในส่วนของสินค้าปศุสัตว์นั้น ถือว่าตรงกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ที่ต้องการพัฒนาให้แหล่งผลิตแถบ จ.ฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าปศุสัตว์ปลอดโรค ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากแล้ว

“ระยอง”ศูนย์กลางยางพารา

ส่วนยางพารา สามารถใช้ระยองเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ แปรรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมล้อยาง เป็นต้น ซึ่งในจ.ระยองนี้ ปัจจุบันมี ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ พื้นที่ 4,000 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยทางจ.ระยองขอใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอาชีพการเกษตร 2,000 ไร่ โดยกระทรวงเกษตรต้องการผลักดันภายใต้โครงการอีอีซีให้เป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีทางด้านเกษตรแม่นยำ เกษตรยั่งยืนเทรนนิ่งให้กับเกษตรกรทั้งประเทศ อย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ในอนาคต

“กระทรวงเกษตรฯมีความพร้อมทุกด้านที่จะเข้าร่วมโครงการอีอีซี แต่เนื่องจากข้อมูลต่างๆอยู่ภายใต้การดำเนินงานของแต่ละกรม ยังไม่เชื่อมกันอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ไม่มีงบประมาณอีอีซีเพื่อผลักดันในด้านนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นเป้าหมายเกษตรอัจฉริยะอาจจะล่าช้าไปบ้าง ซึ่งเป็นไปตามกรอบการขับเคลื่อนปกติของกระทรวงเกษตรฯ”

สกพอ.ชงแผนเทคโนฯเกษตร

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า สกพอ.เตรียมแผนพัฒนาอีอีซีระยะต่อไปครอบคลุมกลุ่มการพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ โดยในรูปแบบเดิมจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ โดยจะครอบคลุมด้านเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การแปรรูป การค้าและการส่งถึงมือผู้บริโภค

ส่วนรูปแบบใหม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยการพัฒนาครอบคลุมด้านเมล็ดพันธุ์ การคัดพันธุ์ การเพาะปลูกที่ใช้เครื่องมือเครื่องจักร เทคโนโลยี โดรน หุ่นยนต์และจีพีเอส รวมทั้งมีการผลิตแบบปกติและออแกนิคในรูปแบบทำเองหรือจ้างทำ และมีการทำประกันภัย

นอกจากนี้ มีการนำระบบอัตโนมัติและไอโอทีมาใช้ 24 ชั่วโมง ทำให้ใช้แรงงานน้อย และจะมีการเชื่อมการตลาดด้วยอีคอมเมิร์ซและการขนส่งที่มีระบบแทรคกิ้ง เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่ตัวเองต้องการในระยะเวลาที่รวดเร็ว