ผ่าเทรนด์“ชาวเน็ต”ปี62 เข็มทิศแบรนด์รุกดิจิทัล 

ผ่าเทรนด์“ชาวเน็ต”ปี62 เข็มทิศแบรนด์รุกดิจิทัล 

ยุคดิจิทัล ผู้บริโภค ขาด“อินเตอร์เน็ต”เหมือนขาดใจ Group M FOCAL ชำแหละพฤติกรรม “ชาวอินเตอร์เน็ต”ที่นักการตลาด-แบรนด์ ต้องรู้ ก่อนดันยอดขาย..!! 

นาทีนี้ ดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงธุรกิจ และผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะถือเป็นสิ่งใหม่ปกติหรือ New Normal เข้าไปอยู่ในในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคโดยปริยาย เพียงแต่การเข้าถึงดิจิทัล สำหรับคนกรุง คนเมือง ยังคงมีมากกว่า ขณะที่ต่างจังหวัดค่อยๆคืบคลานตามการเข้าถึง อินเตอร์เน็ต” และ “ราคาแพ็คเกจ” หากต่ำลง จะทลายกำแพงการเสพสื่อดิจิทัล หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้หายไปได้

เมื่อดิจิทัลเป็นเรื่องใกล้ตัวแค่ปลายจมูก ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่บนจอหน้า เสพสื่อ ดูคอนเทนท์บนโลกออนไลน์ทุกวัน ทุกเวลา ขึ้นกับลักษณะประชากรศาสตร์ เพศ อายุ อาชีพ ความสนใจ ฯ แล้ว ในฐานะสินค้าและบริการติดอาวุธที่ปลายนวม “ตาม” ไปทำการตลาดกับลูกค้าประชิดหน้าจอและเสิร์ฟปลายนิ้วมากน้อยแค่ไหน

แต่ก่อนไปทำตลาด มารู้จักผู้บริโภคโลกดิจิทัลปี 2562 กันก่อน ซึ่งในงาน กรุ๊ปเอ็ม โฟคัล 2019(GroupM FOCAL 2019) ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้นำเสนอผลวิจัยพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปีถือว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชาวโซเชียลอย่างต่อเนื่อง

ณัฐวีร์ และทีมงานลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน มหาสารคาม ขอนแก่น ฯ ทั้งวัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และวิเคราะห์ข้อมูลสดๆร้อนๆ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า คนกรุง และ ต่างจังหวัด มอง อินเตอร์เน็ต” เป็นสิ่งที่ ขาดไม่ได้ ไปซะแล้ว ทำให้เส้นแบ่งของ New internet user และ Old Internet user ถูกสลายลงไปเรียบร้อย นั่นหมายความว่าอินเตอร์เน็ตอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นเรื่องปกติ

เพื่อการันตีว่า อินเตอร์เน็ตฝังอยู่ในชีวิตผู้บริโภค ณัฐวีร์ ยกตัวอย่าง ข้าราชการครูสูงวัยในจังหวัดลำพูน ที่โรงเรียนมีนักเรียน 1,200 คน ได้กำชับให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนใช้ Line ในการติดต่อสื่อสารกัน แม้กระทั่งคำสั่งทางราชการ ไม่มีจดหมายที่มีตราประทับหรือเมสเซ็นเจอร์มาส่งแล้ว กลายเป็นการส่งผ่าน Line E-mail แทน ซึ่งเป็นเรื่องหนักใจของข้าราชการในต่างจังหวัดเพราะสุดท้ายต้องปรินท์เปลืองค่าใช้จ่ายกระดาษอยู่ดี

เขา(ครู)มองว่าการใช้ดิจิทัล เริ่มเป็นการสื่อสารทางการมากขึ้นเรื่อยๆ 

สิ่งที่ตอกย้ำมากกว่าอินเตอร์เน็ต ป๊อปปูล่าสุดๆ เพราะคนต่างจังหวัดใช้เฟสบุ๊คโพสต์รับสมัครนักเรียนการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) แล้วที่นั่งเต็มใน 1 สัปดาห์เท่านั้น

มาดูรูปแบบการใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัดกันบ้าง 2 ปีก่อน อินเตอร์เน็ตทำให้คนรุ่นเก่าเข้าสู่งานบริการในโรงแรม ร้านกาแฟ แต่ปีนี้ งานเกษตรกรรม หัตถกรรม กลับมามีบทบาทต่อการหาเลี้ยงชีพของพวกเขาอีกครั้ง เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ มีคุณค่าต่อชุมชนของตัวเอง

ที่ต้องจับตา ต้องยกให้ “เทรนด์ ของคนรุ่นใหม่ ที่เลือกวิถีชีวต กลับบ้านเกิด” มากขึ้น เพราะต้องการไปพัฒนาหมู่บ้าน ถิ่นที่อยู่ของตัวเองให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทำสินค้าหัตถกรรม ขายสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มากขึ้น ตัวอย่างทีมวิจัยไปสอบถาม คือ นักศึกษาสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลือกออกจากงาน แล้วกลับบ้าน หรือข้าราชการ ก็ลาออกไปสร้างสรรค์กิจการเล็กๆเป็นของตัวเอง

“เมื่อก่อนชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก แต่ตอนนี้ทัศนคติการใช้ชีวิตเปลี่ยน คนต่างจังหวัดมีทางเลือก อยากทำอะไรก็ได้ เป็นนายตัวเอง อยากลาพักร้อนตอนไหน อยากทำอะไรก็ทำ”

ขณะที่วิถีชีวิตระหว่างวันของคนต่างจังหวัด ตื่นเช้ามาจะเริ่มหุงหาอาหาร รับประทานอาหาร ทำงาน พักเที่ยง กลับมาทำงาน เลิกงานแล้วคุยกับเพื่อนฝูงผ่านไลน์ เมสเซ็นเจอร์(แอพพลิเคชั่นแชทของเฟสบุ๊ค) เพราะไม่ต้องการเสียค่าโทรศัพท์ เหล่านี้เติมเต็มความสุขในชีวิต

@เปลี่ยนแพลตฟอร์มเสพสื่อ

เมื่อทุกอย่างอยู่บนมือถือ ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันว่าสทื่ไหนที่ชาวเน็ตเทใจให้ เริ่มจาก “ทีวี” ต้องยอมรับว่ามนต์สะกดของจอแก้วที่ตรึงคนดูอยู่หน้าจอ เสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆมีบทบาทมากขึ้น การดูละคร รายการทีวีต่างๆ จึงย้ายจากจอแก้วใหญ่ๆไปอยู่บน Youtube Live TV แอ๊พพลิเคชั่นดูทีวีย้อนหลังของช่อง 3 อย่าง Mello และ Facebook Live

ส่วนวิทยุ แน่นอนว่า Youtube มีอิทธิพลมาก ดูจากยอดวิวการฟังเพลงทั้งไทย ลูกทุ่ง และสากล ที่ฮิตมากๆ ยอดรับชมรับฟังหลัก ร้อยจนถึงพันล้านวิวทีเดียว และความฉลาดของอัลกอริธึ่ม ยังลิสต์เพลงที่ได้ถูกจริตคนฟังอีกต่างหาก นอกจากนี้ยังมี JOOX แต่ความนิยมค่อนข้างลดลง ขณะที่คนเมืองฟังวิทยุออนไลน์ของคลื่นต่างๆ

ฟากสื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงเผชิญขาลง ปีก่อนหน้าคนยังอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ตอนนี้ คนเลือกเสพคอนเทนท์สิ่งพิมพ์จาก Facebook feed แทน เพราะมีเพจดัง ผู้นำทางความคิด(Opinion leader) และเพจสื่อสิ่งพิมพ์เองหยิบยกข่าวมานำเสนอบนออนไลน์เรียบร้อย รวมถึง Twitter ซึ่งเป็นข่าวสั้นทันโลกและเร็วมาก ขาดไมได้คือ Facebook Live ของสื่อที่นำเสนอเอง สื่อนอกบ้าน ป้ายแอลอีดีใหญ่ๆ ยังเป็นที่นิยมและดึงดูดสายตา รวมถึงการโร้ดโชว์ รถแห่ที่ทำตลาดเจาะชุมชน หมู่บ้านที่ห่างไกลยังได้ผล ส่วนสื่อ ณ จุดขาย(POS)คูปองส่วนลด คูปองอิเล็กทรอนิกส์ ยังทรงพลัง เพราะผู้บริโภคยุคนี้รู้หมดว่าเว็บไซต์ไหน ค่ายใดจะจัดจัดแคมเปญ วัน เวลาไหน เรียกว่าตั้งตารอเลยทีเดียว

@เปิดโผ Apps ยอดฮิต 2562

บนโลกดิจิทัลมีแอ๊พพลิเคชั่นมากมายให้ดาวน์โหลดเลือกเสพคอนเทนท์ แต่คำถามคือ จะมีสักกี่แอ๊พฯ ที่ครองใจชาวเน็ตได้ ณัฐวีร์ จึงหยิบผลสำรวจผู้บริโภคที่ใช้แอ๊พฯต่างๆ ดังนี้ หมวดข่าว แพลตฟอร์ม Faccbook Youtube Instagram(IG) Twitter ฮอตสุด การสื่อสารสนทนาต้อง Line Messenger ส่วนความบันเทิง ต้องดู Youtube Google Line TV Joox Mello Netfix ที่น่าสนใจคือ Google ซึ่งแอ๊พฯนี้ผู้บริโภคใช้ค้นหาความบันเทิงที่ต้องการรับชม รับฟังนั่นเอง

การเงิน แอพของธนาคารกรุงไทยฮิตสุด เพราะข้าราชการส่วนใหญ่ใช้เป็นบัญชีเงินเดือน จากนั้นถอนไปฝากแบงก์อื่นๆ ทำให้แอพ Kbank SCB Krungsri TMB True Wallet นิยมรองลงมาตามลำดับ ด้านชอปปิง Facebook live ดูแม่ค้าแม่ขายขายสินค้าเรียลไทม์มาแรง ตามด้วย Facebook page Lazada Shopee IG การค้นหาต้อง Google Facebook ส่วนท่องเที่ยวไปที่ Traveloka booking.com Air Asia Nok Air

การที่แบรนด์คิดจะพัฒนาแอพอะไรเพิ่ม ต้องคิดให้มากว่าจะทำให้เปลืองพื้นที่ในมือถือของผู้บริโภคเพิ่มหรือเปล่า

ขณะที่รายการทีวีที่ดูบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซิทคอม ยกให้ “เป็นต่อ” ครองใจคนดูมาหลายปีแล้ว ละคร เมียน้อย2019 มาแรง และทองเอกหมอยาท่าโฉลง เซเลบริตี้คนดังที่ถูกพูดถึงมากสุดหนีไม่พ้น ซุป’ตาร์ตัวแม่อย่าง “อั้ม พัชราภา” ตามด้วยคู่รักข้ามค่าย “เวียร์ ศุกลวัฒน์-เบลล่า” แต่ที่ต้องขยายคือศิลปินที่มีบ้านเกิดในต่างแดน เช่น โตโน่ ณเดชน์ เมื่อมีแฟน ผู้บริโภคก็พร้อมจะชื่นชอบศิลปินที่เป็นคู่รักด้วย เช่น ขอนแก่น จะปลื้มญาญ่า อุรัสยา เป็นต้น

ส่วนรายการข่าว คุยข่าวเช้าช่อง 8 ฮิตสุด ตามด้วยไทยรัฐ ประเภทกีฬาที่คนสนใจ ยังเป็นวอลเล่ย์ยอล แบดมินตัน และฟุตบอล

@การใช้จ่ายเงินของชาวเน็ต

เห็นพฤติกรรมใช้เน็ต เสพสื่อแล้ว ที่ต้องรู้มากๆ คือ “เงิน” ในกระเป๋า เพราะนั่นหมายถึงกำลังซื้อที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายพร้อมจะ “จ่าย” ให้กับ “แบรนด์” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

ณัฐวีร์ ยกกรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างหารหาเงินเข้ากระเป๋าบางรายมีหน้าร้านขายซาลาเปา ทำการเกษตร สินค้าหัตถกรรม ทำงานพาร์ทไทม์ แต่เพิ่มช่องทางใหม่ด้วยการเปิดเพจ ร่วมกับกิจการเพื่อสังคม(SE)ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น บางคนเล่นเกมมากๆพยายามถ่ายตอนเล่นลง Youtube มีคนเข้ามาดูจำนวนมากขึ้น ท้ายสุดกลายเป็น Youtuber หาเงินตุงกระเป๋า แม้กระทั่งเปิดเพจขายสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ ได้เงินเดือนละหลายพันบาท เป็นต้น

มาดูการ จับจ่ายใช้สอย” กันบ้าง สินค้าหมวดไหนมีโอกาสชิงขุมทรัพย์ผู้บริโภค สำหรับ “ผู้ใหญ่” เงินที่มีจ่ายไปกับสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่าง สินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรหลาน และ ล็อตเตอรี่” ส่วน “คนรุ่นใหม่” ใช้จ่ายเงินกับ เกม เครื่องสำอาง มือถือใหม่ และรถจักรยานยนต์

ช่วงเวลาของการใช้จ่าย จะซือชื้อก็ต่อเมื่อสินค้าลดราคา มีโปรโมชั่นมาล่อใจ สินค้าต้องส่งเร็ว ไม่มีประวัติการตำหนิติเตียนจากชาวโซเชียล ซื้อเมื่อหมดและได้สินค้าคุ้มค่า เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา สถานที่ซื้อ คือ Lazada Shopee ตอนมีโปรโมชั่น แล้ว “ตลาดนัด” ตลาดสดล่ะ? ณัฐวีร์ บอกว่าผู้บริโภคยังเดินไปยังหน้าร้านเหล่านี้ แต่แค่โฉบไปเปิดหูเปิดตา ทดลองสินค้าเหมือนเป็นดิสเพลย์เท่านั้น

เห็นพฤติกรรมชาวเน็ตแล้ว ณัฐวีร์ แนะให้แบรนด์มองไปข้างหน้า เพราะขุมทรัพย์แห่งโอกาสมีทุกที่เสมอ

เราไม่ควรโฟกัสกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าเรามีความเชื่อว่าชาวอินเตอร์เน็ตไม่ใช่แค่คนเมืองอีก และการสร้างการรับรู้แบรนด์(Awareness)ไม่ใช่สิ่งสำคัญสุดอีกต่อไป หากต้องการขายสินค้าให้ได้ จะต้องดูเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค(Consumer journey)จริงๆ โฟกัสตรงนั้น เพื่อหาทางทำให้กลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าเร็วที่สุด โดยที่แบรนด์ใช้เงินทำตลาดน้อย

@เม็ดเงินโฆษณาไหลสู่ดิจิทัลไม่หยุด!

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และนายกสมาคมสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กางงบโฆษณาดิจิทัลปี 2561 มีมูลค่า 16,928 ล้านบาท เติบโต 36% จากปี 2560

ถอยหลังไปปี 2555 เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสื่อดั้งเดิมได้ 2,783 ล้านบาทเท่านั้น ทว่า การเติบโตน่าสนใจ เพราะเห็นตัวเลข ก้าวกระโดด” เกือบทุกปี โดยปี 2556 มีมูลค่า 4,248 ล้านบาท เติบโต 53% ปี 2557 มูลค่า 6,115 ล้านบาท เติบโต 44% ปี 2558 มูลค่า 8,084 ล้านบาท เติบโต 32% ปี 2559 มูลค่า 9,479 ล้านบาท เติบโต 17% และปี 2560 มูลค่า 12,402 ล้านบาท เติบโต 31%

ปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล โต “เกินคาดการณ์” เพราะมีบรรดาเอเยนซี่ เข้ามาเป็นสมาชิกสมาคม ยอมจะแชร์ตัวเลขลูกค้าแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆออกมามากขึ้น ขณะที่แบรนด์ก็เลือกที่จะ “ควักงบ” ลงสื่อโฆษณาดิจิทัลเพิ่มเป็นเงาตามตัวผู้บริโภคเช่นกัน

ที่น่าสนใจกว่าอดีต คือ อนาคต” โดยแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลปี 2562 ประมาณการณ์มูลค่าไว้ 19,692 ล้านบาท เติบโต 16% เรีกยว่าหย่อน 20,000 ล้านบาท เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคงต้องมารอลุ้นสิ้นปีว่าเม็ดเงินที่แบรนด์ใช้จ่ายจริงผ่านเอเยนซี่ จะทะลุเป้าต่อเนื่องหรือไม่

@แพลตฟอร์มไหน? โกยเงินโตต่อ!!

ไม่ต้องจับยามสามตา คงรู้ว่า Facebook ของ “มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก” ยังกอบโกยเงินโฆษณาดิจิทัลได้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ปี 2561 เงินกองที่ Facebook ถึง 4,941 ล้านบาท ครองเค้กก้อนโต 29% Youtube 2,931 ล้านบาท สัดส่วน 17% Search 1,651 ล้านบาท สัดส่วน10% Creative 1,580 ล้านบาท สัดส่วน 9% Social 1,446 ล้านบาท สัดส่วน 9% Display 1,373 ล้านบาท สัดส่วน8% Line 1,195 ล้านบาท สัดส่วน 7% และอื่นๆ 1,810 ล้านบาท สัดส่วน 17%

ส่วนแนวโน้มปี 2562 คาดว่า Facebook จะเก็บเกี่ยวเงินโฆษณาดิจิทัลได้ 5,558 ล้านบาท สัดส่วน 28% Youtube 3,364 สัดส่วน 17% Search 2,010 สัดส่วน 10% Creative 1,829 ล้านบาท สัดส่วน 9% Display 1,587 ล้านบาท สัดส่วน 8% Social 1,580 ล้านบาท สัดส่วน 8% Line 1,425 ล้านบาท สัดส่วน 7% อื่นๆ 2,330 ล้านบาท สัดส่วน 15%

ทั้งหมดเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค และแบรนด์สินค้าที่ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินบนโลกดิจิทัลมากขึ้น เพราะไม่ว่าผู้บริโภคจะอยู่บน “ออฟไลน์” หรือ “ออนไลน์” หน้าที่ของแบรนด์ต้องส่งสาร สื่อถึงกลุ่มเป้าหมาย ใครขยับตัวช้า นอกจากตกขบวน “ยอดขาย” จะหายไปเรื่อยๆ ต้องระวัง!

@“ 6 หมวดสินค้าเทงบให้ดิจิทัล

สมาคมสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)  ยังประเมินว่า กลุ่มสินค้าที่ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านดิจิทัลมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ 2,361 ล้านบาท หรือสัดส่วน 14% เหตุเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ก่อนซื้อรถรุ่นใหม่ จะต้องเสาะหาข้อมูลจากการ “รีวิว” โดยกูรู ผู้เชี่ยวชาญในสายรถยนต์เสียก่อน เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจซื้อนั่นเอง

ตามด้วยกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม 1,925 ล้านบาท สัดส่วน 11% ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค ต่างขับเคี่ยวแข่งขันกันทำตลาดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่ยอมแพ้กัน ใช้พรีเซ็นเตอร์ตัวท็อป เจาะออฟไลน์แล้ว ออนไลน์ก็ต้องเดินหน้าไม่หยุด เพื่อเชื่อมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณหรือสกินแคร์ 1,454 ล้านบาท สัดส่วน 9% กลุ่มนี้ไม่ต้องพูดถึง ยุคนี้มีบรรดาบล็อกเกอร์ ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด(Influencer)พรึ่บ ทำหน้าที่รีวิวสินค้า แบรนด์ไหน สูตรใดเหมาะกับผิวประเภทไหน เมื่อผู้บริโภคเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อของแบรนด์โดยตรงน้อยลง บล็อกเกอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ถือเป็น “สะพาน” เชื่อมแบรนด์และสร้างความเชื่อ(Trust)ได้อย่างดี

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,148 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา หมวดนี้มีการออกสินค้าใหม่เพียบ โดยเฉพาะสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อรับเทรนด์สุขภาพ ขณะที่แบรนด์เจ้าตลาดเดิมๆ ถ้าสินค้าที่มียังไม่เติมเต็มพอร์ตโฟลิโอ และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ Young Generation การสื่อสารจึงต้องเน้นออนไลน์มากขึ้น และยังมีการร่วมกับพันธมิตรทั้งวงใน ไลน์แมน แกร็ป ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญปีก่อนมีมหกรรม “ฟุตบอลโลก” จึงเห็นสินค้าปรับแพ็คเกจจิ้งใหม่ล้อไปกับซีซันนอลแคมเปญ รวมถึงบิ๊กแบรนด์แอลกอฮอล์ เมื่อเจอ “กฎเหล็ก” ห้ามโฆษณา ทางออกคือหาสินค้าใหม่แบรนด์เดิมแล้วโฆษณาแทน และห้ำหั่นกันบนออนไลน์มากขึ้นด้วย 

ปีที่แล้วเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใช้เงินบนออนไลน์ “แซง” สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งใช้จ่าย 1,080 ล้านบาท สัดส่วน 4% การโปรโมทสื่อสารส่วนใหญ่หนีไม่พ้น สังคมไร้เงินสด(Cashless soceity) ที่โหมสร้างการรับรู้กันจำนวนมาก

หากประเมินปี 2562 สินค้าไหนจะใช้เงินมากสุด DAAT ยังคงยกให้กลุ่มยานยนต์คาดใช้จ่าย 2,783 ล้านบาท ตามด้วยโทรคมนาคม 2,115 ล้านบาท สกินแคร์ 1,753 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ 1,396 ล้านบสาท และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,239 ล้านบาท

ที่น่าจับตาคือค่ายอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะใช้เงินบนดิจิทัลปี 2562 มูลค่า 683 ล้านบาท โต 114% การโตก้าวกระโดดจากปี 2561 เพราะอสังหาฯเป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับการซื้อสูง(High involvement Product) กระบวนการตัดสินใจซื้อต้องรอบคอบสุดๆ ทำให้การหาข้อมูลใช้เวลาร่วม 6 เดือน ถาม ฟัง อ่าน ดูรีวิวการพาไปเยี่ยมชมโครงการของบล็อกเกอร์ กูรู บนโซเชียลมีเดียบ่อยมาก แบรนด์จึงหาคอนเทนท์มาปล่อยบนออนไลน์เพื่อหาโอกาสในการขาย(Leads)แบบเรียลไทม์เพื่อกระตุ้นยอดขายได้

ฟากค้าปลีก(Retail)ก็ไม่น้อยหน้าคาดใช้เงินถึง 1,029 ล้านบาท โต 111% จากปี 2561 เพราะการเข้ามาของ “อี-คอมเมิร์ซ” ราวกับสึนามิ ถล่มจนค้าปลีกที่มีหน้าร้านต้องสะเทือน อยู่นิ่งไม่ได้ หันมาลุยแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเองหลายอย่าง มีร้านค้าออนไลน์แล้ว สิ่งที่แบรนด์ทำคือการ “เผาเงิน” เพื่อดึงคนเข้าเว็บหรือ Traffic เพื่อส่องและซื้อสินค้า นอกจากนี้ หน้าร้านบนแพลตฟอร์มโซเชีลคอมเมิร์ซอื่นๆ ทั้ง Instagram Facebook Line@ ล้วนเป็นร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยด้วย