เริ่มแล้ว! 'รฟท.' ถก 'ซีพี' ชี้ชะตาไฮสปีด 'ไปต่อ' หรือ 'เริ่มใหม่'

เริ่มแล้ว! 'รฟท.' ถก 'ซีพี' ชี้ชะตาไฮสปีด 'ไปต่อ' หรือ 'เริ่มใหม่'

รฟท.นัดหารือ "ซีพี" วันนี้ ได้ข้อสรุปเดินหน้าหรือยุติเจรจาไฮสปีดเทรน เล็งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยถกข้อเสนอกลุ่มง่ายทันที หวังจบดีลภายในเดือน มี.ค.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 มี.ค.) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้นัดประชุมเพื่อเตรียมการหารือร่วมกับกลุ่มซีพี ในเวลา 10.00 น. ถือเป็นการประชุมนัดสำคัญที่จะทราบว่ากลุ่มซีพีต้องการเดินหน้าเจรจาต่อ หรือจะยุติการเจรจา

“ซีพียังยืนยันเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือก จะประเมินบรรยากาศการหารืออีกครั้ง หากกลุ่มซีพียืนยันว่าจะเดินหน้าเจรจาต่อ ก็จะจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อเจรจาข้อเสนอส่วนง่ายที่ยังเหลืออยู่ใม่กี่ข้อ ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับร่างสัญญา ไม่มีอะไรซับซ้อน ดังนั้นน่าจะใช้เวลาไม่มากในการเจรจา ดังนั้นตอนนี้ก็ยังคงตั้งเป้าที่จะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้”
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาตัดสิทธิ์ เพื่อเริ่มเจรจาร่วมกับกลุ่มบีเอสอาร์นั้น ยังคงจำเป็นต้องรอให้การเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพียุติลงอย่างเป็นทางการก่อน โดยทั้งคณะกรรมการคัดเลือก และกลุ่มซีพีต้องเห็นพร้อมกัน รวมทั้งต้องมีหนังสือยุติการเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษร คณะกรรมการคัดเลือกจึงจะเริ่มต้นขั้นตอนเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ และเริ่มต้นเจรจากับกลุ่มบีเอสอาร์ได้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ประเด็นที่คณะกรรมการคัดเลือกเตรียมชี้แจงให้กลุ่มซีพีทราบนั้น เป็นข้อเสนอเรื่องหลักที่ไม่สามารถรับไว้ได้ เช่น 1.ขอแก้ไขนิยามระยะเวลาของโครงการ โดยกลุ่มซีพีขอแก้ไขระยะเวลาโครงการ ให้เท่ากับระยะเวลาการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง 2.ขอแก้ไขให้ขยายเวลาของงานระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงให้เกินกว่า 45 ปี

3.การขอแก้ไขให้ขยายระยะเวลาของงานในระยะที่ 2ในส่วนของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้เกินกว่า 48 ปี 4.การขอแก้ไขให้ขยายระยะเวลาของงานในระยะที่ 2ในส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ Extension (ส่วนขยาย) เพื่อให้เกินกว่า 45 ปี และ 5.การขอแก้ไขระยะเวลาของ TOD (Transit-Oriented Development) พื้นที่รอบศูนย์กลางการคมนาคม โดยให้เริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่การก่อสร้างงานโยธาของ TOD เรียบร้อย