ดึงญี่ปุ่นตั้งมหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรในอีอีซี

ดึงญี่ปุ่นตั้งมหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรในอีอีซี

"สมคิด" หารือประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพแห่งญี่ปุ่น ขอให้ช่วยเจรจาเรื่องการตั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นในอีอีซี เล็งดึงมหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยวาเซดะเปิดหลักสูตรการศึกษาในอีอีซี

อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายลำดับที่ 12 ที่จะส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ได้ประกาศสิทธิประโยชน์ไว้แล้ว และที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 2 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนใน จ.ชลบุรี คือ 1.มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เปิดสอนปริญญาโทด้านหุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ และยานยนต์แห่งอนาคต 2.สถาบันเลส์โรช (สวิสเซอร์แลนด์) เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการบริหารธุรกิจการโรงแรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายโนริโอะ ยามากูจิ รองประธานคณะผู้แทนสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (FEC) ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนของ FEC ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น

ดึงญี่ปุ่นตั้งมหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรในอีอีซี

ทั้งนี้ มีการหารือถึงการพัฒนาด้านการศึกษาในไทย ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในการเข้ามาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบวิทยาลัยเทคนิค“โคเซน” (KOSEN) โดยเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่ให้นักเรียนนักศึกษาได้พัฒนาทักษะทางวิชาชีพ มีการทดลอง วิจัยในระหว่างการเรียนให้ได้ลองผิดลองถูก ซึ่งทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในการทำงาน

“ได้หารือกับ FEC เพิ่มเติมว่าในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาในไทยเพิ่มเติมอยากให้ช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่นมาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี”

ดึง 2 มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น

สำหรับ ก่อนหน้านี้ระหว่างที่มีการเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นได้มีการเชิญชวนมหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งมีชื่อเสียงในการวิจัยและเทคโนโลยีให้มาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งหาก FEC ช่วยประสานงานให้เพิ่มเติมเชื่อว่าจะมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งจะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในอีอีซีได้

นอกจากนี้ ได้หารือกับ FEC เกี่ยวกับการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย โดย FEC ได้เข้าพบกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อหารือในเรื่องบทบาทของสถาบันการเงินที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ

รวมทั้ง ได้หารือกับ FEC เกี่ยวกับบทบาทของญี่ปุ่นที่มีต่อเศรษฐกิจไทยและอาเซียนทั้งในเรื่องของการลงทุน การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งได้บอกว่าอยากให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และหากมีการพัฒนาการเชื่อมโยงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในระหว่างประเทศได้มากขึ้นก็จะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

ร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยว

ส่วนบทบาทในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เสนอให้ญี่ปุ่นกับไทยมีการพัฒนาการท่องเที่ยวในเมืองรองร่วมกันเพราะในแต่ละเมืองของญี่ปุ่นมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างมากเช่นเดียวกับประเทศไทยที่รัฐบาลมีการส่งเสริมนโยบายด้านนี้อยู่จึงเป็นโอกาสที่จะมีการส่งเสริมนโยบายด้านนี้ร่วมกัน

สำหรับ FEC เป็นองค์การไม่แสวงหากำไรของประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งในปี1983 โดย นายชิฮิโร่ คานากาวา ประธานบริษัท Shin-Etsu เคมิคอล และนายเคน มัทซูซาวา ที่ปรึกษาและอดีตประธานกลุ่มธุรกิจประกันภัย KOA ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นกว่า 1,000 บริษัท โดยมีพันธกิจในการสร้างความเข้าใจและสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างญี่ปุ่นกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ

หนุนต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศที่มีศักยภาพและมีชื่อเสียงเข้ามาเปิดการศึกษาในพื้นที่อีอีซีเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานของไทยให้สอดคล้องกับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต โดยเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ Asian Institute of Hospitality Management, In Academic Association With Les Roches (เลส์โรช) สมาพันธรัฐสวิส เข้ามาจัดการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาการบริหารธุรกิจการโรงแรม
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งใน 2 พื้นที่ คือ จ.ชลบุรีและกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 1 ใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของพื้นที่อีอีซี หลังจากก่อนหน้านี้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเหล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดหลักสูตร โดย สจล.มีแผนจะเปิดการเรียนการสอนในอีอีซี

เรทติ้งมหาวิทยาลัยดีกว่าไทย

สำหรับ สถานศึกษาที่จะได้รับอนุมัติให้จัดการเรียนในพื้นที่อีอีซีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ 1.ต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองในสาขาวิชาจากการจัดอันดับของ Quacquarelli Symonds (QS) หรือ Times Higher Education (THE) หรือหน่วยงานอื่น

2.ต้องจัดการเรียนหลักสูตรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย 3.ต้องจัดการศึกษาในไทยในหลักสูตรที่มีมาตรฐานเดียวกับวิทยาเขตหลัก เช่น หลักสูตร อาจารย์

4.สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ต้องยื่นแบบฟอร์มคำขอจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการอุดมศึกษากำหนด