ระอุ! 'ชำนาญ รวิวรรณพงษ์' แจ้งความกลับ 6 ผู้พิพากษาร้องถอดก.ต.ฎีกา

ระอุ! 'ชำนาญ รวิวรรณพงษ์' แจ้งความกลับ 6 ผู้พิพากษาร้องถอดก.ต.ฎีกา

"ปธ.แผนกคดีล้มละลาย" แจงยิบ ข้อกล่าวหาแทรกแซงศาลชั้นต้น คดีมรดกครอบครัว พร้อมแจ้งความหมิ่นฯ-พรบ.คอมพ์ 6 ผู้พิพากษาแชร์ไลน์ ลุ้นข้อเท็จจริงยุติ หลัง ก.ต. ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง

นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ชั้นฎีกา ได้เปิดเผยภายหลังช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้พิพากษา 1,735 คน ร่วมลงรายชื่อเสนอถอดถอนให้พ้น ก.ต. ชั้นฎีกา ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่า กระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ขณะสืบพยานในบัลลังก์ ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่นั้นว่า วันนี้ิ ( 16 ก.ย.) ตนได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง

3_59

กล่าวโทษกับ นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 , นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 , นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ , นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในข้อหาหมิ่นประมาท , หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา , นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

และร้องทุกข์กล่าวโทษนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 คนที่เป็นตุลาการชั้นผู้ใหญ่และเคยเป็น ก.ต. ต้องยึดมั่นในหลักการฟังความทั้งสองฝ่าย ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่หรือโพสต์ว่าเป็นเท็จหรือไม่ กลับเผยแพร่และโพสต์ข้อความในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นการหมิ่นประมาททำให้ตนเสียหายจึงจำเป็นต้องดำเนินคดี

นายชำนาญ กล่าวอีกว่า ที่ต้องมาดำเนินคดีวันนี้ เพื่อต้องการปราบปรามการกระทำของผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งที่ชอบอ้างความถูกต้องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน จึงต้องให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินว่า สิ่งที่พวกท่านทำนั้นถูกต้องหรือไม่ และเพื่อสูจน์ว่าการที่นายสืบพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 กล่าวหาตนว่า ใช้อิทธิพลข่มขู่แทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา (คดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดกในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ครอบครัวภรรยาของนายชำนาญเป็นคู่ความ) ในวันที่ 2 ก.ค.61 นั้น ไม่เป็นความจริงเลย เป็นเพียงการสร้างเรื่องปกปิดการกระทำของผู้พิพากษาในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิ.ย.61 ที่ตนร้องเรียนว่าไม่บันทึกคำเบิกความจำเลยที่ตอบคำถามค้าน ซึ่งเป็นประเด็นและเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดี และบันทึกไม่ตรงกับที่จำเลยเบิกความ ทั้งยังบันทึกแบบอมความในลักษณะคำวินิจฉัยคำเบิกความของจำเลยไว้ในคำเบิกความ ซึ่งผิดวิสัยของผู้พิพากษาทั่วไปที่ไม่กระทำกัน โต้แย้งก็ไม่ได้เพราะบันทึกเบาจนไม่รู้ว่าบันทึกหรือไม่บันทึกอะไร และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวก ที่กระทำในวันที่ 3 ส.ค.61 ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายน้องภรรยาของนายชำนาญ ในคดียักยอกทรัพย์มรดก) ได้ขอให้ประธานศาลฎีกาสอบสวนการกระทำดังกล่าวเพราะทำให้โจทก์เสียหายมาก

จนเมื่อวันที่ 6 ส.ค.61 ในการประชุม ก.ต. วาระการพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาของตน ตนต้องขอประธานศาลฎีกาให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 26 ตามคำร้องของโจทก์ โดยตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดี ก.ต. ทั้งที่ตนโต้แย้งในที่ประชุมว่ากระบวนพิจารณาเพื่อแต่งตั้งตนให้ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้ จะหาว่าตนไปมีอิทธิพลข่มขู่ก้าวก่ายได้อย่างไร

"ข้อกล่าวหาต่างๆ ของนายสืบพงษ์เป็นไปไม่ได้ หากตนมีอำนาจเหนือผู้พิพากษาจริงโต้แย้งให้ผู้พิพากษาบันทึกได้ตามใจ ทนายโจทก์คงไม่ขอถอนตัวเฉพาะคดีนี้ หรือที่กล่าวหาว่าขอคุยกับหัวหน้าศาลนอกห้องพิจารณาก็เป็นไปไม่ได้ แต่ละเรื่องที่กล่าวหาร้ายแรงทั้งนั้น หากเกิดขึ้นจริงต้องลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลทันที หรืออย่างน้อยท่านต้องรายงานหัวหน้าศาล หัวหน้าศาลต้องรายงานอธิบดี และอธิบดีต้องรายงานประธานศาลฎีกาในทันทีว่ามีผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่แสดงอำนาจบาตรใหญ่ ไม่มีทางที่จะปล่อยไว้เป็น 10 วัน เพราะเป็นการหมิ่นเกียรติยศของผู้พิพากษาอย่างร้ายแรง" นายชำนาญ กล่าวต่อว่า ตลอดชีวิตราชการของตนไม่กระทำเช่นนั้นเด็ดขาด

ส่วนที่กล่าวหาว่าตนไม่ใช่คู่ความแต่ไปแนะนำให้คำปรึกษานั้น นายสืบพงษ์กับพวกก็ทราบดีว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องยักยอกทรัพย์มรดกเพื่อเรียกคืนทรัพย์มรดกเข้าสู่กองมรดก (มีคดีฟ้องกันในครอบครัวรวม 22 สำนวน) โจทก์-จำเลย และภรรยาตนเป็นพี่น้องกัน ภรรยาตนเป็นทายาทและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ตนจึงมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง คดีที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรานี่มูลค่าทรัพย์ 2,000 ล้านบาท ตนจึงให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสมัยที่ตนเป็น ก.ต. ชั้นศาลอุทธรณ์ก็เคยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ร้องเรียนเกี่ยวกับที่ศาลนี้เป็นคดีสำคัญที่ประธานศาลฎีกาหลายท่านรับรู้

นอกจากนี้ในส่วนคดีของพี่น้องภรรยาตน จำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีตลอด ขอจำหน่ายคดีชั่วคราว เจ้าของสำนวนเดิมไม่ให้ พอเปลี่ยนเจ้าของสำนวนมาเป็นท่านนี้กลับขอให้คดีเสร็จการพิจารณาอ้างว่าโจทก์ประวิงคดีทั้งที่เป็นคดีอาญา ในขณะที่คดีอาญาที่ศาลอื่นจำเลยก็ยังประวิงคดีเช่นเดิม จึงมีเหตุที่ตนต้องเอาใจใส่ แต่ไม่ใช่ว่าเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงคดีอย่างที่นายสืบพงษ์กล่าวหา ตนไม่เคยทำ ตนได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าของสำนวนให้นายสืบพงษ์ทราบตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.61 นายสืบพงษ์แจ้งว่าจะส่งรองอธิบดีฯ มาร่วมนั่งพิจารณาในวันที่ 2 ก.ค.61 แต่ไม่ส่งมาและไม่แก้ไขปัญหา เจ้าของสำนวนก็ปฏิบัติเช่นเดิม จนทนายโจทก์ขอถอนตัว และมีการกระทำในวันที่ 3 ส.ค.61 ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ขัดหลักความเป็นธรรม

นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีผู้พิพากษาระดับสูง ซึ่งเป็นผู้บริหารศาล นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ผู้พิพากษาโดยไม่เกรงกลัวต่อความผิดหรือความไม่สมควร ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นของจำเลยในคดีแต่มาอยู่ผู้พิพากษาและนำออกเผยแพร่ได้อย่างไร การกระทำแบบนี้คนเป็นผู้พิพากษาไม่ทำกัน

นายชำนาญ กล่าวตอนท้ายว่า ในส่วนของตนขณะนี้ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายฯ และฐานะ ก.ต. ชั้นฎีกา เพราะกระบวนการที่กล่าวหาตนนั้น ยังไม่ได้สรุปข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติ ซึ่งในส่วนของการเสนอถอดถอนตนให้พ้นจาก ก.ต. ชั้นฎีกานั้น กระบวนการอยู่ระหว่างการตรวจสอบความสมบูรณ์รายชื่อที่ยื่น (1,735) ซึ่งจะครบกำหนดเวลาตรวจสอบรายชื่อในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) โดยตนก็เตรียมทำคำชี้แจงภายใน 7 วัน ส่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ตามขั้นตอน ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยในวันนี้และข้อมูลที่ได้แจ้งความก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำคำชี้แจงในกรณีดังกล่าวด้วย โดยรายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในคำชี้แจงที่ปิดไว้หน้าศาลทั่วประเทศเร็วๆ นี้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่า ที่ประชุม ก.ต. เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นกรณีของนายชำนาญที่ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาและคดีครอบครัวนั้น นายชำนาญกล่าวว่า นั่นก็แสดงให้เห็นว่าข้อที่นำมากล่าวหาตนนั้น ยังไม่ยุติว่าเป็นจริงหรือไม่ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติ โดยขณะนี้ตนก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. ชั้นฎีกาอยู่ ยังมีหนังสือเชิญแจ้งวัน-เวลาร่วมประชุม ก.ต. ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ย.นี้อยู่ อย่างไรก็ดีสำหรับคดีที่ตนได้แจ้งผู้พิพากษาทั้ง 6 คน ตามขั้นตอนกฎหมายพนักงานสอบสวนก็จะรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปโดยในส่วนของนายสืบพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ที่ตนแจ้งความข้อหาตามมาตรา 157 ด้วยนั้น หากรวบรวมหลักฐานแล้วก็จะต้องส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป