ก.วิทย์ผนึก 5 มหาวิทยาลัยยกชั้นโอท็อปใน 10 จว.ยากจน

ก.วิทย์ผนึก 5 มหาวิทยาลัยยกชั้นโอท็อปใน 10 จว.ยากจน

ปลาร้าสูตรเด็ดกาฬสินธุ์ เหล้าอุเรณูของนครพนม สาหร่ายไกจากน่าน หรือถั่วแปยีของดีเมืองตาก และอื่นๆ อีกมากใน 10 จังหวัดยากจนจะถูกวิทยาศาสตร์ฯ ยกระดับจากสินค้าโอท็อปกลุ่ม C และ D ให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับ สามารถแข่งขันในตลาดที่กว้างขึ้น

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นราธิวาสปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และจังหวัดน่านกับ 5 มหาวิทยาลัยภาครัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนโยบายนวัตกรรมของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณค่าให้สามารถแข่งขันในตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน


นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เป็นผู้ประกอบการโอท็อปกลุ่ม C จำนวน 20% ของผู้ร่วมโครงการและ D อีก 80% ตามแนวทางที่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้กำหนดกลุ่มของผลิตภัณฑ์โอท็อป เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม A ดาวเด่นสู่สากล เป็นสินค้ามีคุณภาพราคาสูงและผลิตได้ปริมาณมาก, กลุ่ม B อนุรักษ์สร้างคุณค่าในกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เป็นสินค้ามีคุณภาพราคาสูงและผลิตในปริมาณน้อย เพื่อตอบสนองลูกค้าเฉพาะราย, กลุ่ม C พัฒนาเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน เป็นสินค้ามีคุณภาพหรือราคาต่ำ และผลิตได้ปริมาณมาก และกลุ่ม D ปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิต : สินค้ามีคุณภาพหรือราคาต่ำและผลิตได้ปริมาณน้อย


กิจกรรมหลักของโครงการแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การรวบรวมฐานข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย วทน. (MOST KM Catalogue for Mass Customized solution technology) โดยการจัดทำรายการเทคโนโลยีพร้อมใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว และเชื่อมโยงถ่ายทอดองค์ความรู้กลางให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ สถาบันอาชีวศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป

2.การพัฒนากลไกการทำงานในพื้นที่ ร่วมกับจังหวัด เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์โอท็อปเป้าหมาย รวมทั้งรับทราบปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ สามารถจัดกลุ่มปัญหาและแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา และเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญของหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญภายนอกกระทรวง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปผ่านกลไกประชารัฐ

และ 3. การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ผ่านคลินิกเทคโนโลยี และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ ภายนอกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เช่น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนธุรกิจ และการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น


ทั้งนี้ จากการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโอท็อปและกลุ่มเกษตรกรได้นำเสนอความต้องการพัฒนาทาง วทน. เพื่อจับคู่เทคโนโลยีกับภูมิปัญญาหรือสินค้าของตน เป้าหมายของโครงการฯ คือยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อปให้ขึ้นไปอีก 1 ระดับ รวมถึงเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการอย่างน้อย 10% จากเดิม ที่สำคัญ มีแผนที่จะพัฒนาผู้นำกลุ่มผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้เรื่องการตลาดและอีคอมเมิร์ซ เพื่อเดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่า จะแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมจากหน่วยที่เล็กที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางภัทราวดี วงษ์วาศ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งดูแลใน 2 จังหวัดคือ นครพนมและกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เป้าหมายเป็นผู้ประกอบการโอท็อป 260 กลุ่ม แบ่งเป็น 200 กลุ่มสำหรับกาฬสินธุ์และ 60 กลุ่มสำหรับนครพนม ซึ่งได้มีการประสานกับกรมการพัฒนาชุมชนในเครือข่ายจังหวัด รวมถึงลงพื้นที่สำรวจแล้ว พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่คือ ไม่มีความรู้ในการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขยายตลาดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงความรู้ในเรื่องอาหารปลอดภัยและมาตรฐานการผลิต" การสนับสนุนจะมุ่งที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ก็จะมุ่งที่ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ และปลาร้า ในขณะที่นครพนมมีเหล้าอุเรณู ปลาส้มและกาละแมโบราณ

ในขณะที่ บรรณนิสา ทิพย์วิจัย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มช. รับหน้าที่ดูแล 3 จังหวัดคือ ตาก แม่ฮ่องสอน และน่านจำนวน 110 กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งจากการประสานงานกับกรมพัฒนาชุมชนพบว่า ปัญหาหลักของผู้ประกอบการทั้ง 3 พื้นที่คือ ไม่มีตลาด ไม่มีระบบมาตรฐาน และขาดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จึงวางแผนไว้ 2 ส่วนหลักคือ เรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะมุ่งหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์โอท็อป และการตลาดซึ่งจะขึ้นอยู่กับความต้องการและศักยภาพของผู้ประกอบการ และมีการเตรียมทีมผู้เชี่ยวชาญไว้รอ โดยมุ่งที่การอบรมพัฒนาศักยภาพ วินิจฉัยรายกลุ่ม จากนั้นบูรณาการกับเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ เพื่อติดตามผล