โลมาไทย ในภาวะ "เสี่ยง"

โลมาไทย ในภาวะ "เสี่ยง"

ภารกิจสำรวจน่านน้ำอ่าวไทยฟากตะวันออก เพื่อทำสัมมะโนประชากรชาว “โลมา” สู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ถึงตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกาจะระบุเวลาเป็นช่วงบ่ายแล้ว แต่หลังฟ้าหมาดฝนแบบนี้ แสงแดดก็แทบไม่ลอดออกมาให้เห็นเลย ยิ่งเมื่อประเมินจากมวลเมฆฉ่ำน้ำลอยเลียดจนแทบจะติดปลายยอดคลื่นที่ม้วนตัวสูงขึ้นด้วยแล้ว ดูเหมือนตอนนี้ อะไรก็ไม่น่าไว้ใจทั้งนั้น

แต่ไม่ว่าสภาพอากาศจะแปรปรวนอย่างไร คนกลุ่มหนึ่งก็ยังคงเดินมุ่งหน้าต่อไปตามแนวชายหาด

“อยู่ข้างหน้านี่เองครับ” ใครบางคนชี้ไปยังปลายหาดที่เกือบจะติดกับโขดหินแล้ว

ตรงนั้น เป็นบริเวณ “ที่ขึ้น” ของซากวาฬ ซึ่งพบแถบคลองมะนาว บ้านไม้รูด จ.ตราด เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“เราทิ้งให้มันย่อยสลายไปตามธรรมชาติก่อนครับ แล้วค่อยมาเก็บกระดูกไปประกอบเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน” หมอฟิวส์ - น.สพ.ภุมเมศ ชุ่มชาติ จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก หรือ ศวทอ. อธิบายเหตุผลว่า ทำไมซากวาฬตั้งแต่หลายเดือนก่อนจึงยังอยู่ที่เดิม

เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก ทีมสำรวจและศึกษาสัตว์ทะเลหายากทางอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อันประกอบด้วย สัตวแพทย์ และนักวิชาการ โดยมีภารกิจดำเนินการสำรวจประชากรสัตว์ทะเลหายาก กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

โครงกระดูกทรงสามเหลี่ยมดูแปลกตาถูกคลื่นซัดใส่เป็นระลอก นี่คือส่วนกระโหลกของวาฬตัวนั้น มันหันหน้าเข้าหาฝั่ง และทอดตัวลงไปในทะเล

หมอฟิวส์เล่าว่า โดยปกติ วิธีจัดการซากวาฬที่ทำกันก็คือการปล่อยให้ซากจมลงสู่ก้นทะเล เพื่อปล่อยให้ย่อยสลายไปตามกระบวนการธรรมชาติ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน แล้วจึงนำโครงกระดูกขึ้นมาทำการศึกษา

สำหรับประเทศไทยจะนิยมใช้วิธีฝังกลบมากกว่าซึ่งเป็นความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้าน ซึ่งถือว่า “วาฬเป็นสัตว์ใหญ่ที่ควรให้ความเคารพ”

แต่ไม่ใช่กับวันนั้น..

วันที่ซากวาฬตัวนี้ถูกนำขึ้นฝั่ง มีมรสุมเข้าพอดี การทำงานของพวกเขากับกลุ่มอนุรักษ์ที่นี่จึงทุลักทุเลพอสมควร เพราะหาดอยู่หลังแนวป่า ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ฝังกลบจากถนนเข้ามาได้

ทีมงานจึงต้องปล่อยซากทิ้งไว้ให้สลายไปตามธรรมชาติ และหมั่นมาดูความคืบหน้าแทน และทุกครั้งที่เขากับทีมนักวิจัยของศูนย์ฯ อีก 2 คนลงพื้นที่บริเวณนี้ ก็จะแวะมาตรวจสอบความคืบหน้าของซากตรงหน้าหาดนี้เสมอ

“คลื่นทะเลยิ่งกว่าวันนี้อีกนะ” ใครบางคนเปรียบเทียบ

นอกจากเป็นภาพจำลองความปั่นป่วนของคลื่นลมในวันนั้น มันยังหมายถึงความเป็นไปได้กับสภาพอากาศที่ทีมสำรวจต้องเจอในทะเลวันพรุ่งนี้ สำหรับติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมของญาติใกล้ชิดสนิทกับวาฬที่สุดในท้องเลอย่าง “โลมา”

“เอ้า! ซ้อมเมาเรือกันหรือยัง” หลายคนยิ้มเจื่อนเมื่อมองเห็นคลื่นในทะเลตรงหน้าเต็มตาอีกครั้ง

  • เจ้าถิ่นแห่ง “อ่าวตราด”

หากกางแผนที่ประเทศไทยออกดู ทะเลบริเวณปลายแหลมฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ ขึ้นมาถึง อ.เกาะช้าง จ.ตราด กินพื้นที่ประมาณ 800 ตร.กม. ที่นี่ถูกเรียกว่า “อ่าวตราด”

ชื่อเสียงของอ่าวตราดไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เวิ้งอ่าวชายแดนไทย-กัมพูชาแห่งนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

สำหรับ ชาวประมงบ้านไม้รูดอย่าง วิจิตร ชำนาญช่าง ที่หากินกับทะเลมากว่า 20 ปี ท้องเลบางนี้เป็นเหมือนหม้อข้าวใบใหญ่ที่เลี้ยงดูผู้คนไม่น้อยกว่า 4,000 ครัวเรือน จาก 160 หมู่บ้าน

“กุ้ง หอย ปู ปลา มีหมดน่ะ เพราะว่าทะเลแถวนี้มันสมบูรณ์ไง”

สิ่งที่วิจิตรพูดดูจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย เพราะประมงถือเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวของจังหวัด ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประมงจังหวัดตราดระบุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดตราดปี 2558 - 2561 ถึงเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเลต่างๆ นั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

นอกจากปลาจะเยอะแล้ว “โลมา” ก็ “ชุก” เหมือนกัน

“เจอบ่อย ชาวประมงที่นี่เขาเห็นกันประจำ มันจำเสียงเรือได้นะ” วิจิตรเล่าถึงเพื่อนเรือประมงลำหนึ่งที่ทำอวนกุ้ง เขามักโยนปลาให้อยู่เป็นประจำ เป็นค่าแรงที่โลมาจะมาช่วยไล่สัตว์น้ำให้เข้ามาในอวนดักที่วางอยู่

กฤตภาส ศรีแสงขจร รองนายกอบต.ไม้รูด ประธานเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ตราด อธิบายถึงโลมาที่พบในแถบทะเลบริเวณนี้นั้น ‘อิรวดี’ มากที่สุด รองลงมาเป็น‘โลมาหลังโหนก’ และ ‘หัวบาตรหลังเรียบ’

“พอมีการเก็บรวบรวมข้อมูลก็มีการพบพฤติกรรมของโลมาในพื้นที่ แล้วก็พบว่า ซากโลมาที่เสียชีวิตที่มีการผ่าชันสูตรก็พบลูกอยู่ในท้อง อาหารก็มีความสัมพันธ์กับสัตว์น้ำที่อยู่บริเวณนี้ หรืออย่างในช่วงมรสุมชาวประมงก็จะพบโลมาอยู่เป็นประจำ ก็ทำให้พอสรุปได้ว่า โลมาก็อาศัยหากินประจำถิ่นอยู่ในพื้นที่”

คำบอกเล่าของรองนายกอบต.ไม้รูด สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากแถบอ่าวไทยฟากตะวันออกซึ่งกินพื้นที่ของชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จาก ศวทอ. ซึ่งระบุชัดเจนว่า บริเวณ จ.ตราดเป็นถิ่นอาศัยของโลมาไม่ต่ำกว่า 260 ตัว ทั้งโลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก และโลมาอิรวดี

ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โลมาอ่าวตราด มีจำนวนมากกว่าโลมาในท้องน้ำอ่าวไทยบริเวณอื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะแต่ละวัน โลมาต้องกินปลาราว 4-9 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว มันจึงถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ไปโดยปริยาย

“ปกติโลมามักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ เพราะฉะนั้นการหากินก็จะมีลักษณะเป็นฝูง ดังนั้นก็จะต้องเลือกพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารที่ชุกชุม และพื้นที่อ่าวตราดตั้งแต่แหลมสอบ ไปจนถึงหาดเล็กติดกับกัมพูชาก็เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมาก ทำให้เหมาะกับการเป็นแหล่งอาศัยของโลมา ซึ่งเราก็พบกับโลมาหลายๆ ชนิดที่นี่”

  •  “เสี่ยงภัย” ในความสมบูรณ์

วันนี้ สังคมไทยรู้จัก “โลมา” มากกว่า “ปลา” ที่อยู่ในแบบเรียนสมัยก่อนแล้ว

โลมาถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ออกลูกเป็นตัว และมีหัวใจ 4 ห้องเช่นเดียวกับมนุษย์ จัดอยู่ในกลุ่มวาฬและโลมา (Cetacea) มีอยู่ถึง 80 สายพันธุ์ทั่วโลก มีทั้งโลมานํ้าจืด และโลมานํ้าเค็ม

ความเป็นสัตว์ฉลาดมีนิสัยร่าเริง และขี้เล่น ส่วนหนึ่งมาจากวิวัฒนาการของสมองที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีอัตราขนาดสมองต่อขนาดร่างกายเป็นรองเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น

แต่ความฉลาดเหล่านั้น กลับไม่ได้ช่วยให้พวกมันรอดพ้นจาก “ความเสี่ยง” ในเวิ้งอ่าวอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้เท่าที่ควรจะเป็น..

กฤตภาส ในฐานะประธานเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ตราด คลี่ตัวเลขรายงานการเสียชีวิตของโลมาที่พวกเขาพบในอ่าวตราดระหว่างปี 2555 - 2557 มีไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ถึงจะเป็นยอดรวมย้อนหลัง 3 ปี แต่เมื่อเทียบเคียงรายงานสถานภาพของสัตว์ทะเลหายากบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ปี 2559 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ที่พบสัตว์ “เกยตื้น” (เสียชีวิต) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออกราว 670 ตัวตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โลมาจำนวนนี้ถือว่ามีนัยยะสำคัญอย่างมาก เพราะตั้งแต่ที่มีการบันทึกมา ซากโลมากว่าร้อยละ 98 ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้เลย

ขณะที่สัตว์ชนิดอื่นอย่าง เต่าทะเล ร้อยละ 53 มีสาเหตุการเกยตื้นจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ เช่น อวนจมปู ลอบหมึก เศษอวน กลืนเบ็ดตกปลา และกินขยะ เป็นต้น

เรือประมงกว่า 3,200 ลำที่กระจายกันหากินอยู่ทั่วน่านน้ำแถบนี้ ได้กลายเป็นข้อสันนิษฐานถึง “ความเสี่ยง” ทั้ง “ไม่ตั้งใจ” และ “เจตนา”

ถ้าถามชาวประมงอย่างวิจิตร เขายอมรับว่า บ่อยครั้งที่โลมาว่ายเข้ามาในรัศมีของใบพัด หรือแม้กระทั่งลอดข่ายเอ็นเข้ามาติดกับจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่คาดไม่ถึง 

“เขา่ไม่กลัวคนไง” มันจึงเป็นความคุ้นชินที่สุดวิสัย 

เรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายากอย่างหมอฟิวส์คิดว่า มันเป็นโศกนาฏกรรมจากความอุดมสมบูรณ์ เพราะพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารสมบูรณ์สำหรับสัตว์ทะเล พื้นที่เหล่านั้นก็ถูกหมายตาจากการประมงของมนุษย์เหมือนกัน ความต้องการที่ทับซ้อนกันอยู่ในห่วงโซ่อาหารจึงกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีทางเลี่ยง

“พื้นที่ที่วาฬหรือโลมา หรือสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นๆ ที่จะเข้าไปอยู่ก็จะต้องมีแหล่งอาหารสำหรับเขาเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ พอแหล่งอาหารเยอะ มนุษย์ก็จะเห็นว่า ปลาเยอะเหมือนกัน สองฝ่ายก็เป็นตลาดเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดการตายโดยไม่ตั้งใจได้ หรือมันอาจจะกินขยะ หรือการติดเชื้อก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”

ถึงเครื่องมือประมงจะเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรกๆ ในวงรอบหากินของสัตว์กลุ่มนี้ แต่สำหรับคนเป็นหมออย่างเขาก็ยังไม่อยากให้ตัดสินโดยความความรู้สึก หรือความน่าจะเป็นเป็นที่ตั้ง เพราะต้องยอมรับว่า ในบรรดาภาพรวมของสัตว์ที่เสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติมีมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ เพราะสภาพของซาก “เละ” มากแล้ว 

ซากสมบูรณ์จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาข้อนี้ เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพที่สุด

  • “รักษ์” เพื่อ “เรา” 

“ที่ชุมชมเก็บรวบรวมข้อมูลเอง บางปีก็เจอโลมาเสียชีวิตถึง 60 ตัว หรือปกติก็ 30 ตัวเป็นอย่างน้อย” รองนายกอบต.ไม้รูด แจกแจงรายละเอียดความน่าเป็นห่วงของโลมาในอ่าวตราดที่ชุมชนเครือข่ายพบตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดของโลมาปีละ 10 กว่าตัว เขากังวลว่า หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป โลมาก็จะเหลือแค่ “เคยมี” ที่นี่เท่านั้น

นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการรวมกลุ่มอนุรักษ์ของชุมชมโดยรอบอ่าวตราดที่ทำงานคู่ขนานกับเจ้าหน้าที่จาก ศวทอ. โดยการให้ความรู้กับชาวประมงในพื้นที่ รวมทั้งสอดส่องเป็นหูเป็นตาในการดูแลโลมา และสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ด้วย

“จริงๆ โลมาก็ให้ประโยชน์กับชุมชนหลายอย่าง เราสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้ การมีโลมาในพื้นที่ก็จะเป็นจุดสนใจ และเป็นเกราะป้องกันในการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านไม่ให้โดนอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำลายความสมบูรณ์เหล่านี้ไป”

เขายืนยันว่าการอนุรักษ์โลมาจะเป็นกิจกรรมที่ถูกสืบทอดต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน เหมือนอย่างที่พวกเขาตั้งใจปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ 

ขณะเดียวกัน การศึกษาการแพร่กระจายของประชากรโลมาที่ สุภิสรา จิตเส้ง นักวิชาการประมง ศวทอ. กำลังเก็บข้อมูลอยู่นั้นก็จะเป็นกุญแจอีกดอกที่จะช่วยทำให้เข้าใจพฤติกรรมการแพร่กระจายของฝูงโลมาบริเวณนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับการกำกับดูแลเพื่อการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต

“มันมีการแพร่กระจายทั่วไป ตามฤดูกาลลักษณะการแพร่กระจายก็จะต่างกันออกไป ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง เราจะพบโซนด้านบน ตั้งแต่อ่าวตราดมาจนถึงไม้รูด แต่ถ้าหน้าฝนก็จะมีการถอยร่นลงมาแถวๆ ไม้รูดไปจนถึงคลองใหญ่ ที่แน่ๆ พื้นที่หากินของโลมาก็จะอยู่ในพื้นที่แถบนี้ ตลอดทั้งปีค่ะ” เธอสรุปข้อมูลที่เก็บได้ในการลงพื้นที่ที่ผ่านมา 

ข้อมูลเหล่านี้ ทีมงานได้จากการออกทะเลสำรวจตามพื้นที่ที่เคยพบ โดยครั้งหนึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่หัวรุ่งจนบ่ายแก่ เพื่อระบุตัวตน ติดตามจำนวน หรือแม้แต่ศึกษาการแพร่กระจายของฝูง

“เวลาเราลงไป เราไม่สามารถจับตัวโลมาขึ้้นมาดูได้ วิธีที่ทำก็คือ เอาเรือออกไป วิ่งตามไลน์ แล้วก็ถ่ายภาพ จากนั้นค่อยนำเอาภาพถ่ายทั้งหมดที่ได้มาประมวลผล ซึ่งโดยปกติโลมาจะมีลักษณะของครีบไม่เหมือนกัน เราก็จะแยกรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เพื่อระบุตัวตน ทำแบบนี้หลายๆ ครั้ง จนตอนนี้สามารถจำแนกได้แล้วเป็น อริวดี 62 ตัว หลังโหนก 13 ตัว”

ที่เขาพยายามทำเรื่องการระบุตัวตนนั้นก็เพื่อจะได้ทราบถึงจำนวนประชากรที่ชัดเจน รวมทั้งพฤติกรรมของโลมา ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา หรือเผยแพร่ความรู้ให้กับเครือข่ายในชุมชนเพื่อสร้างแนวอนุรักษ์ที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นที่อ่าวตราดแห่งนี้ด้วย

อย่างน้อยที่สุด การออกเรือในเช้าวันพรุ่ง ก็จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญในการร่วมงานระหว่าง เจ้าหน้าที่ และชาวบ้าน เพราะถ้าไม่มีชาวบ้านคอยดูแล พวกเขาก็จะไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ ดังนั้น ข้อมูล หรืองานรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์จึงมักถูกถ่ายเทไปยังชุมชนอยู่เสมอ 

“เวลาชาวบ้านเจอ ก็จะคอยจดรูปพรรณสัณฐานมาให้ บางคนวาดใส่กระดาษมาให้ก็มี” เขาอวดรูปภาพฝีมือจิตรกรท้องถิ่น 

แน่นอน เรื่องการอนุรักษ์ จุดหมายปลายทางทั้งหมดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนไทยทุกๆ คนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันมีค่าเหล่านี้อย่างยั่งยืนนั่นเอง 

...ฟ้ายังคงครึ้มฝน ถึงเข็มนาฬิกาจะเลยเวลาเข้าโรงเรียนมาแล้วก็ตาม พาให้หลายคนจิตนาการถึงคลื่นลมในทะเลวันนี้ น่าจะเอาเรื่องอยู่ 

ไม่ทันคิดจบ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น พร้อมข่าวร้ายจากเจ้าของเรือว่า ออกเลไม่ได้เพราะคลื่นลมไม่น่าไว้ใจ เท่ากับว่า ภารกิจตามหาเจ้าหัวบาตรวันนี้ต้องพับไปตามระเบียบ พร้อมนัดแนะวันเดินทางกันใหม่ในครั้งหน้า

ระหว่างทางกลับ ใครบางคนแอบถอนหายใจเบาๆ ด้วยความโล่งอก

“เฮ้ออออออ...”