‘ทน’ รับ ‘ไหว’

‘ทน’ รับ ‘ไหว’

แผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าคน โครงสร้างถล่มต่างหากที่ทำให้คนเสียชีวิต

ถามว่ามั่นใจมั้ย หญิงวัยกลางคนส่ายหน้า แม้วิศวกรจะบอกว่าบ้านของเธอแข็งแรงดี แต่ใครได้มาเจอสถานการณ์แบบนี้ ต่อให้มีสิบวิศวกรมายืนยันก็ยังหวั่นกลัวอยู่ดี


“พ่อนี่กอดเสาแน่นเลยหนาตอนนั้นน่ะ” พ่อเงิน วรรณา เล่าถึงเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อ 2 ปีก่อน


แน่นอนว่า ไม่มีครั้งไหนที่แผ่นดินไหวจะทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยได้มากไปกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557


ภัยพิบัติครั้งนั้นคร่าชีวิตหญิงชราไป 1 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 107 ราย บ้านเรือนเสียหายกว่า 9,000 หลัง ไม่นับอาคารสาธารณะและระบบสาธารณูปโภคอีกมากมาย ซึ่งจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญพบว่า โครงสร้างอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นเหตุให้เกิดการทรุด แตก ร้าว ถล่ม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว


แผ่นดินไหวเป็นพิบัติภัยที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมและสร้างมาตรฐานความปลอดภัยก่อนเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องจำเป็นสูงสุด


เมืองไทยยัง “ไหว” อยู่


เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนไฟ” (Ring of Fire) เหมือนหลายๆ ประเทศบนมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง ซึ่งญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟนั้นพอดี


แต่...ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง เพราะประเทศไทยมี “รอยเลื่อนมีพลัง” ที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 6 ตามมาตราริกเตอร์ กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 14 รอยเลื่อน นั่นแปลว่า ประเทศไทยมีโอกาสเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดปานกลางได้ในอนาคต


“เรามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวคล้ายๆ คุมาโมโตะได้ เราพูดถึงรอยเลื่อน 14 รอยเลื่อน มันทำให้เกิด 6.8 และ 7.2 ได้ ถ้าเกิดในเมืองใหญ่ในภาคเหนือเราก็จะได้เห็นภาพคล้ายๆ ที่เกิดในคุมาโมโตะ เราเห็นภาพนั้นแล้วในอำเภอเล็กๆ ที่เชียงราย แต่ถ้าย้าย 6.3 ไปในเมือง ก็จะเกิดความรุนแรงที่พาอาคารบ้านเรือนลงมาได้จำนวนมาก เพราะฉะนั้นมันอาจเกิดได้ แต่โอกาสน้อย เพราะการเกิดแผ่นดินไหวเราน้อย น้อยกว่าญี่ปุ่นเป็นสิบเท่า ในแง่ความเสี่ยงเราน้อยกว่า แต่ในแง่ความรุนแรงมีสิทธิ์เหมือนกัน” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ยืนยัน


แผ่นดินไหวในประเทศไทยส่วนมากจะเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันตกและภาคใต้นั้นก็มีอยู่บ้างประปราย ซึ่งในระยะหลังมานี้พบว่ามีรอยเลื่อนหลายแห่งที่มีความเคลื่อนไหวและดูเหมือนจะมีพลังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนแม่จัน หรือรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ก็น่าห่วง เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตร


“จริงๆ อีกอันหนึ่งที่ผมมองว่าอาจจะเป็นความเสี่ยงค่อนข้างมากในประเทศไทยก็คือ รอยเลื่อนที่เรายังไม่เจอมัน เป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ เรียกว่า Hidden Fault รอยเลื่อนเหล่านี้อาจจะถูกตะกอนหรือดินปิดทับอยู่ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราดูจากพื้นดินจะไม่เห็นว่ามีรอยเลื่อนนี้อยู่ ความสำคัญของมันก็คือ ถ้ารอยเลื่อนพวกนี้มีอยู่ใต้เมืองใหญ่ๆ แล้วมันเป็นรอยเลื่อนที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดแผ่นดินไหว นั่นหมายความว่า เรากำลังนั่งอยู่บนรอยเลื่อนที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไรก็ได้ แผ่นดินไหวลักษณะนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะเราไม่รู้เลยว่า มันอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา” ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยโครงการฯ แสดงความคิดเห็น


บทเรียน “ร้าย” ที่เชียงราย


ข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ในรอบ 50 ปี มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 5 ตามมาตราริกเตอร์ เกิดขึ้นในประเทศไทยราว 10 ครั้ง แต่ละครั้งไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายนัก เพราะโดยมากจะเกิดในพื้นที่ห่างไกลชุมชน ยกเว้นครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในเชียงรายเมื่อ 2 ปีก่อน


ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร และหัวหน้าโครงการเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว สู่วิศวกรและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว” โดย สกว. กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายมีความรุนแรงเพราะจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชุมชนที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตรเท่านั้น


“ตอนนั้นบ้านเรือนเสียหายเกือบ 9,000 หลัง ซึ่งอาคารที่เสียหายส่วนมากเป็นอาคารหลังเล็กๆ เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างแบบไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งบ้านเล็กๆ คนยิ่งให้ความใส่ใจต่อการก่อสร้างน้อย บ้านเราที่เห็นเป็นเสาปูนเล็กๆ แน่นอน เสาก็หักก่อน


โครงสร้างอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเสาเล็กเกินไป ชั้นไหนมีเสาเล็ก เสาบาง ชั้นนั้นจะพังลงมา คนที่อยู่ชั้นนั้นก็จะตาย หรือบาดเจ็บ เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เสาจะเป็นโครงสร้างที่มีการรับน้ำหนักสูงมาก แผ่นดินไหวจะทำลายโครงสร้างเสาให้พัง เพราะฉะนั้นความสำคัญของโครงสร้างอาคารจึงอยู่ที่ตัวเสา”


ในกรณีนี้หมายถึงอาคารที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 4 ชั้นเท่านั้น เพราะถ้าสูงกว่านี้โครงสร้างที่เป็นหัวใจหลักจะไปอยู่ที่กำแพง หรือปล่องลิฟต์ที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระดูกของอาคาร


“สกว. ให้ทุนวิจัยในการศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน กระทั่งเราได้แนวทางว่าถ้าจะเสริมอาคารเก่าต้องทำยังไง โดยงานวิจัยของเราจะทำ 2 ส่วน คือพัฒนาองค์ความรู้ และสื่อสารองค์ความรู้ไปสู่สังคม ตรงนี้แหละที่เราต้องเข้าไปหาพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายแรกก็คือ เชียงราย” อ.อมร บอก


เสริมเสา-คานต้านแรง “ไหว”


เชียงรายเป็นพื้นที่ที่นักวิจัยเชื่อกันว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดในประเทศไทย และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแล้วอาจเกิดขึ้นอีก และอาจจะไม่เกิดที่จุดเดิม เพราะมีรอยเลื่อนแฝงอยู่ทั่วไป ฉะนั้นการก่อสร้างอาคารที่แข็งแรงมั่นคงจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด


งานวิจัยโครงการเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว สู่วิศวกรและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว” นำเสนอวิธีการออกแบบก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว 8 แบบ คือ 1.การเสริมกำลังคานด้วยเฟอร์โรซีเมนต์ 2.การเสริมกำลังคานด้วยแผ่นเหล็ก 3. การเสริมกำลังคานด้วยพอลีเมอร์เสริมเส้นใย 4.การเสริมกำลังเสาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 5.การเสริมกำลังเสาด้วยแผ่นเหล็ก 6.การเสริมกำลังเสาด้วยพอลิเมอร์เสริมเส้นใย 7.การเสริมกำลังข้อต่อด้วยข่าคอนกรีต 8.การเสริมกำลังโครงสร้างด้วยโครงแกงแนง


“เชื่อกันว่า ญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดี แต่มีอาคารเพียง 75 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นอาคารมาตรฐานต้านแผ่นดินไหว คิดเป็น 3 ใน 4 ของอาคารทั้งหมดในญี่ปุ่น เรื่องนี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็ทราบดีว่ามีความเสี่ยง จึงพยายามตั้งเป้าเพิ่มอาคารมาตรฐานให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น บ้านไหนมีการปรับปรุงอาคารเก่าให้ได้มาตรฐานรัฐบาลจะมีเงินสนับสนุน หรือใช้ลักษณะการลดภาษี ซึ่งในประเทศเรายังไม่เห็นมาตรการแบบนี้” อ.อมร นำเสนอ


อย่างไรก็ดี อ.อมร บอกว่า มีความพยายามจากทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาวิศวกร ที่จะเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายวิศวกรรมควบคุม จากเดิมที่ควบคุมเฉพาะอาคารที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรืออาคารเกิน 3 ชั้น อยากให้ขยับมาควบคุมอาคารทุกชนิด และ/หรืออาคารที่มีขนาดพื้นที่รวมกันมากกว่า 150 ตารางเมตรขึ้นไป โดยอาคารทุกประเภทต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง


“เราจะครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยแค่ 22 จังหวัดที่มีกฎหมายควบคุมอาคาร และใน 22 จังหวัดนี้สภาวิศวกรก็เลือกเอาจังหวัดที่มีความเสี่ยงจริงๆ คือ บริเวณที่ 2 ตามกฎกระทรวงของกรมโยธาฯ นั่นคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันตก คิดว่าน่าจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี”


แน่นอนว่า การเสริมอาคารต้านแผ่นดินไหวอาจมีต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่นักวิจัยยืนยันว่า ไม่น่าจะสูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินควรเป็นสิ่งที่ประชาชนใส่ใจและตระหนักถึงเป็นลำดับแรก


ความแข็งแรงนำมาซึ่งความปลอดภัย และเมื่ออาคารบ้านเรือนได้รับการเสริมสร้างจนได้มาตรฐานแล้ว จะเกิดแรงสั่นสะเทือนหนักหนาขนาดไหนก็ยัง “รับไหว” อยู่