‘มานิต อุดมคุณธรรม’เข้าใจลูกค้ารบเมื่อไหร่ ก็ชนะ

‘มานิต อุดมคุณธรรม’เข้าใจลูกค้ารบเมื่อไหร่ ก็ชนะ

ปั้นยีนส์แบรนด์ไทย’พีเจ’เบอร์1 ขุนพลสร้างตำนาน’โรบินสัน’สะเทือนวงการค้าปลีก ปัดฝุ่นที่ดินเขาใหญ่ 200 ไร่ ผุดคอนโดจุดขายใกล้ชิดธรรมชาติ

ณ ออฟฟิศ ชั้น 15 ของอาคารหรูแอทธินี ทาวเวอร์ หลายคนอาจคาดหวังที่จะได้พบกับนักธุรกิจใหญ่สวมสูท วางมาด โก้ เท่ แต่ไม่ใช่กับ “มานิต อุดมคุณธรรม” กรรมการบริหาร บริษัท อีลิเชี่ยน ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่แม้จะเป็นนักธุรกิจรุ่นเก๋า แต่กลับเผยภาพรีแลกซ์สวมกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต แสนเรียบง่าย ออกมาพบปะพูดคุยกับสื่อ แบบนับครั้งได้

ออกสื่อหนนี้ สิ่งที่เขาอยากพูดคุย คือการรุกสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกบทธุรกิจของเขา โดย“ปัดฝุ่น” ที่ดินเก่าเก็บบนเขาใหญ่ มาพัฒนาโครงการ “สวอนแลค” (Swan Lake) คอนโดมิเนียมโลวไรซ์ มอบให้ลูกสาว “รีน่า อุดมคุณธรรม” นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ กุมทัพธุรกิจที่เกิดจากแรงบันดาลใจของผู้พ่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกุนซือ 

ก่อนจะเล่าถึงรายละเอียดของไฟฝันครั้งใหม่ของมานิต  ย้อนกลับไปเขาคือ 1 ใน 7 ผู้บริหารที่ร่วมก่อตั้งห้างสรรพสินค้า “โรบินสัน” สาขาแรกที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และโด่งดังมากที่สาขาราชดำริ ย่านไข่แดงธุรกิจ ที่ต้องต่อสู้กับทุนใหญ่ค้าปลีกห้อมล้อมในระยะประชิด ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และไทยไดมารู

ความสำเร็จของห้างโรบินสันในขณะนั้น เกิดจากแนวคิดทำตลาดแบบฉีกกฎ  โดยเฉพาะที่เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”  คือการนำ “ลิฟท์แก้ว” เข้ามาใช้เป็นรายแรกๆ มีฟู้ดคอร์ทให้บริการ จนโรบินสันเติบโตถึง 20 สาขา กระทั่งร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน  “เราทำให้กลไกการค้าของห้างสรรพสินค้าไทยเปลี่ยนไป”  นักธุรกิจรุ่นลายคราม เล่า

ที่โด่งดังไม่แพ้ห้างสรรพสินค้า คือ การปลุกปั้นกางเกงยีนส์แบรนด์ไทย “พีเจ” ธุรกิจแรกๆที่เขาสร้างจนกลายเป็น “ผู้นำ” ตลาดกางเกงยีนส์ยาวนานถึง 15 ปีในขณะนั้น ชนิดที่ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่ทันกับความต้องการ 

กลายเป็นผลงานชิ้นโบวด์แดงที่เจ้าตัวภาคภูมิใจ

ก้าวข้ามความสำเร็จมากมากมาย แต่การหยิบจับธุรกิจยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น  “มานิต” ยังทำธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ภูเก็ต “บุราส่าหรี รีสอร์ท ภูเก็ต” อีกหนึ่งขาธุรกิจอสังหาฯ ประเภท โรงแรม

กับการมาลุยพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่เขาใหญ่ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท “มานิต” เล่าว่า ไม่ใช่ทำตามเทรนด์ แต่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจไปกับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เกิดความเครียดสูง ไม่มีเวลาพักผ่อน มีปัญหาสุขภาพ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเหมือนที่พักต่างอากาศ ที่ผ่อนคลายกาย ใจ  

“ซื้อที่ดินที่เขาใหญ่ (200ไร่) เพราะคิดว่าเราไม่เคยคิดถึงการดูแลชีวิต หรือ Quality of life เราดูแต่ว่าจะทำยังไงถึงจะหาเงินได้มากๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ " 

ชีวิตจะผ่อนคลายได้ ก็ด้วยการอยู่กับธรรมชาติ เขาจึงเริ่มพลิกฟื้นเขาหัวโล้นแล้งให้เขียวชอุ่ม อีกครั้ง..! 

“อยากคืนธรรมชาติสู่ธรรมชาติ มนุษย์ทำลายธรรมชาติมามาก ผมเลยลงมือขุดลอกดินสร้างฝายกึ่งกลางเขาสองลูก เพื่อกักเก็บน้ำ จาก 1 จุด ขยายเพิ่มกลายเป็น 7 จุด จนกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ในโครงการ ไปในที่สุด"

และเพื่อให้โครงการสมบูรณ์แบบ ยังทยอยปลูกต้นไม้ โดยระยะแรก เจ้าตัวคัดสรรไม้นานาพันธุ์มาลง เช่น ต้นบุนนาค ไม้หอมล้อมรอบทะเลสาบ แต่แสงแดดร้อนแรง ปลูกไปเพียง 2 ปี ต้องรื้อทิ้งปลูกใหม่หมด นำต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นยิ่งขึ้นมาแทนที่ร่วม 4-5 หมื่นต้น อาทิ สาละลังกานับร้อยต้น สร้างอุโมงค์ต้นไม้ทอดยาวถึง 5 กิโลเมตร

8 ปีที่พลิกฟื้นหน้าดิน พร้อมเนรมิตทะเลสาบเป็นแหล่งเลี้ยงปลาคาร์ฟ 4-5 หมื่นตัว เติมปลาบึก หงส์ 8 คู่ เป็ดแมนดารินอีก 100 ตัว 

ทว่า การลงทุนปรับภูมิทัศน์ใช้เม็ดเงินมหาศาลหลัก “ร้อยล้าน” ยังไม่นับราคาที่ดินหากรวมกันงบลงทุนจะเกิน“พันล้านบาท” ไปแล้ว “มานิต” เล่าปนรอยยิ้ม

ขณะที่ลูกสาวดูแลโปรเจค ยังออกไอเดียเด็ด ออกแบบให้ทุกห้องมองเห็น “วิวเขาใหญ่” ถ้วนหน้า มาเป็นจุดขาย

ส่วนการรุกอสังหาฯท่ามกลางตลาด “ซบเซา” กระเทือนจากเศรษฐกิจ กำลังซื้อเปราะบาง สำหรับเขาไม่กังวลนัก เพราะมองความพร้อม ความแข็งแกร่งจากภายในองค์กร จากโครงการที่มีจุดต่างจูงใจลูกค้า ทั้งต้นไม้มากมาย และพื้นที่ส่วนกลางขนาดมหึมา 

“ถ้าไม่ได้โครงการนี้คุณ(ผู้บริโภค)หาไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันไม่มีใครทำ(หัวเราะ)”

นั่งเป็นกุนซือให้ลูกเป็นแม่ทัพ เขากำชับให้เอาหัวใจลูกค้ามาใส่ในจิตใจของผู้บริหาร ตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ “เหนือ” ความคาดหมาย เหมือนกับอัจฉริยะก้องโลก “สตีฟ จ็อบส์” ที่ประสบความสำเร็จ  เพราะสร้างสรรค์สินค้าที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงอยู่เสมอ 

และนี่เป็น “เป้าหมาย” ของเขา

สวอนเลคเพิ่งเริ่มเฟสแรก แต่เขายังมีที่ดินอีกมาก เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งภาคเหนือ และเกาะมะพร้าว จังหวัดภูเก็ต 142 ไร่ ที่กำลังจะสร้างเป็นโรงแรม รีสอร์ทในอีก 2 ปีข้างหน้า

การขับเคลื่อน และแข่งขันของธุรกิจยุคนี้เปลี่ยนจากอดีตอย่างไรบ้าง 

มานิตร้อง “โอ้!เปลี่ยนไปเยอะมาก อดีตง่ายกว่า” โจทย์ยากในยุคคือ การสร้างทีมเวิร์ค ขณะที่การแข่งขัน ต้องมี “เงิน” นอนอยู่ในกระเป๋าจำนวนมาก  

“ปัจจุบันการแข่งขัน ถ้าคุณไม่มีเงิน ยักษ์ใหญ่กินหมด” แม้จะยาก แต่คนที่เคยขึ้นเขาลงห้วยมามาก ก็ตกผลึกว่าหากจะทำอะไรต้องมี “วิชั่น” เป็นหัวใจสำคัญเพื่อชี้ทิศทางธุรกิจ 5-10 ปีข้างหน้า และต้องทำให้ดี มีความต่างเหนือคู่แข่ง มีสิ่งพิเศษ เข้าใจลูกค้า

“ถ้าทำได้ รบยังไงก็ชนะ” 

ส่วนความเสี่ยงใหญ่ในการดำเนินธุรกิจยุคนี้ เขามองไปในเรื่องของการขาดความละเอียดรอบคอบ ขาดข้อมูลชัดเจน ขาดการดูแลสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง เพราะโลกของอินเตอร์เน็ต ลูกค้าทรงอิทธิพลและรู้เท่าทันแบรนด์ 

หากทำผิดพลาด จะกลายเป็นใหญ่สำหรับสินค้า

  --------------------------- 

ผู้บริหารต้อง “ติดดิน”

บริหารธุรกิจมาหลายทศวรรษ สิ่งหนึ่งที่ “มานิต” ให้ความสำคัญคือการเป็นคนติดดิน อัพเดทข้อมูลข่าวสารตลอด เพื่อไม่ให้ตัวเองถอยหลัง

ติดดินแค่ไหน ในอดีตห้างโรบินสันจัดโปรโมชั่นเมื่อไหร่ กระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก อย่างสาขารัชดาภิเษก ถึงขั้นที่ผู้บิรหารต้องยกพื้นที่จอดรถให้ลูกค้าหมด แล้วไปจอดที่ศูนย์วัฒนธรรมแทน ไม่เท่านั้น หากลูกค้าไม่มีที่จอดก็ต้องลงไปช่วยขยับเขยื้อนเข็นรถให้

แม้ดูเหมือนธุรกิจจะประสบความสำเร็จเกือบหมด แล้วอะไรคือบทเรียน

 แน่นอนเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะเวลานั้นโรบิสันไม่เคยกู้เงินในประเทศ ธุรกิจจึง เซ ! และเหนื่อยไปพักใหญ่ หลายปีกว่าจะเคลียร์ทุกอย่างจบ 

“ไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดปัญหานี้ มันเหมือนภูเขาไฟระเบิด นอกเหนือการควบคุม และเรื่องใหญ่มาก”

อีกหนึ่งความล้มเหลว คือ การเปิดโรบินสันสาขาสยามสแควร์ หลังประเมินตลาดผิด เมื่อมีโรงภาพยนตร์สกาล่า ลิโด้ จึงคิดว่าความต้องการจะมาก เลยสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่โต 4 ชั้น แต่เปิดแค่ 2 ปี ก็ต้องปิด เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน และสาขานี้ เขาบอกว่า น้อยคนนักที่จะจดจำหรือรับรู้ เรื่องราวเหล่านี้ให้บทเรียนราคาแพงว่า ทำธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องรู้จริง