บ้านหลวงราชไมตรี คลาสสิคริมน้ำจันทบูร

บ้านหลวงราชไมตรี คลาสสิคริมน้ำจันทบูร

ท้องฟ้าสีครามและเมฆขาวสั่นระริกเป็นระรอกคลื่นสะท้อนอยู่ในแม่น้ำจันทบูร

ยามเช้าอากาศแจ่มใส นั่งมองสายน้ำไหล กระรอกวิ่งไต่สายไฟกระโจนใส่ต้นไม้ บรรยากาศยามนี้ เหมาะแก่การนั่งจิบกาแฟ แกล้มกับปาท่องโก๋จิ้มน้ำจิ้มหวานๆ คล้ายน้ำจิ้มไก่ สายตามองไกลเห็นบ้านเรือนโบราณในชุมชนอนุรักษ์ริมน้ำจันทบูร บรรยากาศสุดคลาสสิคเป็นยิ่งนัก ที่ “บ้านหลวงราชไมตรี ” ยามนี้


ปัทมา ปรางค์พันธ์ ผู้ดูแลบ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี เล่าว่า บ้านพักแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะอนุรักษ์บ้านหลังนี้ของชาวชุมชน หลังจากที่ร่วมกันทำพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านเรียนรู้ของชุมชนมาแล้ว 1 หลัง ชื่อ บ้านเรียนรู้เลขที่ 69 อยู่บริเวณศาลเจ้าตลาดล่าง พวกเขาเห็นว่าการทำพิพิธภัณฑ์มีประโยชน์ มีคนเข้ามาเรียนรู้ ทว่า ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายดูแลซ่อมแซมบ้านในระยะยาว อาศัยแค่ตั้งตู้รับบริจาคยังไม่เพียงพอ


บ้านหลังนี้ รวมทั้งยังมีอีกหลายๆ หลังที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แต่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านในอดีต คนในชุมชนเล็งเห็นความสำคัญ พร้อมกับคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ตกลงกันว่าน่าจะเป็นบ้านหลังนี้ ทว่าต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการปรับปรุงบ้านให้กลายเป็นที่พัก เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของบ้านให้ยืนยาวต่อไป ชาวบ้านลงขันกันมาช่วยกันซื้อหุ้น หุ้นละ 1,000 บาท จนคนในชุมชนและจังหวัดจันทบุรีเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 200 กว่าคน ในขณะที่งบการปรับปรุงต้องใช้เงินมากเป็นจำนวน 8,800 หุ้น ใช้เวลาระดมทุนกว่า 2 ปีจึงจะได้เงินมา และใช้เวลา 8 เดือนในการปรับปรุงบ้าน จนเปิดบริการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา


“ตอนที่เราช่วยกันระดมทุนซื้อหุ้นเราตั้งเป็นบริษัทเล็กๆ ชื่อบริษัทจันทบูรรักษ์ดี ทางสถาบันอาศรมศิลป์ช่วยออกแบบและบริหารจัดการเบื้องต้น ทายาทท่านเจ้าของบ้านชื่อคุณหมอปสานพงษ์ ปุณศรี ท่านให้บริษัทจันทบูรรักษ์ดีเช่าเดือนละ 1 บาทเป็นเวลา 30 ปี เพราะท่านอยากสนับสนุนชุมชน แต่มีเงื่อนไขสองข้อคือ พื้นที่ส่วนโถงด้านหน้าสามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ ข้อสองก็คือ ต้องไม่เกิดเรื่องเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล และไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ที่นี่จึงเป็นเพียงที่พักและอาหารเช้า เป้าหมายอื่นๆ เช่น เราอยากชวนคนที่มาพักไปเดินในชุมชน ใช้จ่ายในชุมชน มาที่นี่ก็แค่มาพัก อาหารเช้าเราเสิร์ฟไม่เยอะมีแค่ข้าวต้ม ขนมปัง ปาท่องโก๋ ชา กาแฟ รองท้อง ที่เหลืออยากให้ออกไปเดินชิมของอร่อยตลอดทั้งเส้นนี้ซึ่งมีอยู่หลายร้าน”


ถนนสุขาภิบาลที่มีความยาว 1 กิโลเมตร ช่วงเช้าๆ จะมีข้าวตังทรงเครื่อง ก๋วยจั๊บน้ำข้นเจ้าดั้งเดิม ขายเยื้องๆ กับบ้านหลวงราชไมตรี เดินไปอีกหน่อยแถวๆ ศาลเจ้าตลาดล่าง จะมีข้าวต้ม ตรงโบสถ์จะมีก๋วยจั๊บญวน อาหารเวียดนาม และก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเลร้านป้าอี๊ด


ห้องพักในบ้านหลวงราชไมตรี มีทั้งหมด 12 ห้อง มีชื่อห้องและเรื่องราวในห้องที่เกี่ยวกับท่านหลวงราชไมตรีทั้งหมด บ้านพักหลังนี้เดิมไม่มีการกั้นห้องเลย มีเพียงห้องพักที่ชื่อว่า “ห้องนายพ่อ นายแม่” เป็นห้องเดิมที่เจ้าของบ้านเคยพักอยู่ชั้นล่างติดกับแม่น้ำจันทบูร


ถัดไปจะเป็น “ห้องครัวนายแม่” เป็นตำแหน่งครัวเดิมของบ้านถูกปรับปรุงเป็นห้องพัก ถัดมามีห้อง “นักเรียนชาย” และ “ห้องนักเรียนหญิง” เพราะท่านหลวงราชไมตรี เคยให้บ้านหลังนี้เป็นที่พักกับนักเรียนที่เข้ามาเรียนในตัวเมือง เพราะในอดีตการเดินทางไม่สะดวก นักเรียนพักจันทร์-ศุกร์ แล้ววันเสาร์-อาทิตย์ ค่อยเดินทางกลับบ้าน


“สมัยนั้นคนแถวนี้เรียกท่านหลวงราชไมตรีว่านายพ่อ แล้วเรียกภรรยาท่านว่านายแม่ ความหมายก็คือเป็นทั้งนายเป็นทั้งพ่อและแม่ ส่วนชั้นบนจะมีทั้งหมด 8 ห้อง ห้องแรกชื่อ East Asiatique เพราะอดีตท่านค้าขายยางพารากับบริษัทนี้ซึ่งเป็นสัญชาติเดนมาร์ค ถัดไปชื่อ ห้องลูกยาง กับ ห้องต้นยาง ซึ่งก็เชื่อมโยงกับที่ท่านนำยางพาราจากภาคใต้มาปลูกที่จันทบุรีเป็นท่านแรกและพยายามพัฒนาสายพันธุ์ นอกจากทำตัวน้ำยางแล้ว ยังทำเป็นยางแผ่นขายส่งต่างประเทศอีกด้วย”


ถัดไปเป็นห้องชื่อ ห้อง “พลอย” เพราะเมืองจันทบุรีเป็นแหล่งพลอย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการค้าขายพลอยอยู่แล้ว และมีห้องชื่อ “ท่าหมอทอด” เพราะบ้านหลังนี้อยู่ติดกับท่าน้ำชื่อหมอทอด เป็นชื่อของหมอแผนโบราณที่มีบ้านอยู่ข้างท่าน้ำ บ้านท่านเก่ามากและถูกน้ำพัดหายไปในช่วงน้ำท่วมใหญ่ “ห้องวิถีจันท์” จะติดกับถนน มุมของห้องเห็นวัดโบสถ์เมืองจันท์ ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลของท่านหลวงราชไมตรี “ห้องของป่าสมุนไพร” มาจากสินค้าสำคัญของจันทบุรี มีทั้งฝาง พริกไทย ลูกกระวาน ฯลฯ ที่ค้าขายกับต่างประเทศ "ห้องราชไมตรี" มองเห็นโครงสร้างบ้านเดิมชัดเจน เห็นบันได หลังคา ภายในห้องมีเรื่องราวสถาปัตยกรรมของบ้านว่ามีความโดดเด่นอะไรบ้าง


ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ทั้งหลังคา ประตูบานเฟี้ยม พื้นไม้ พื้นปูน เป็นโครงสร้างเดิมทั้งหมด หลังคาบ้านยังคงเป็นสังกะสีผลิตจากประเทศเยอรมัน ที่ถูกเปลี่ยนขณะที่ท่านหลวงราชไมตรียังมีชีวิตอยู่ พื้นไม้ของบ้านยังคงมันแวววับแม้จะเคยถูกน้ำท่วมมาแล้วทุกปี


ห้องพักขนาดใหญ่มีระเบียงส่วนตัวติดริมแม่น้ำมีทั้งหมด 3 ห้อง ราคาห้องละ 2,650 บาท ชั้นบนฝั่งวิวแม่น้ำ 1,550 บาท ฝั่งวิวถนน 1,450 กับ 1,350 บาท ห้องนักเรียนชาย-ห้องนักเรียนหญิง 1,100 บาท การมาพักที่นี่เหมือนพักที่บ้านไม่ใช่โรงแรมและจะมีเวลาปิด-เปิดประตูหน้าบ้านตั้งแต่เวลา 05.30 - 22 .00 น. หากกลับหลังประตูปิดต้องโทรแจ้งเจ้าหน้าที่มาเปิดประตูให้


พักบ้านหลวงราชไมตรี เดินชิมอาหารอร่อย ดื่มด่ำกับชุมชนริมน้ำเก่าแก่กว่า 300 ปี ช่างเป็นความอิ่มเอม หลงเสน่ห์ชุมชนริมน้ำจันทบูรเข้าแล้วเต็มอุรา


................
ที่ตั้ง : ถ.สุขาภิบาล ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
จุดเด่น : อยู่ใจกลางชุมชนริมน้ำจันทบูร
ราคา: 1,100 - 2,650 บาท
ติดต่อ : โทร. 08 8843 4516