พบวัวสายพันธุ์ใหม่ลูกผสมกระทิงป่า-วัวพันธุ์พื้นเมือง

พบวัวสายพันธุ์ใหม่ลูกผสมกระทิงป่า-วัวพันธุ์พื้นเมือง

นอภ.ทุ่งตะโก ปลื้มได้วัวสายพันธุ์ใหม่11ตัว ลูกผสมกระทิงป่า-วัวพันธุ์พื้นเมือง หลังกระทิงป่าหลงฝูงมาผสมพันธุ์

ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชุมพร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร นายวชิระ พันดุสะ นายอำเภอทุ่งตะโก ,นายฐากร ล้อมศตพร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 4 (สุราษฏร์ธานี) นายงิโรจน์ นาคแท้ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ ผศ.เทียมพบ ก้านเหลือง นักวิชาการ จาก สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ประชุมหาแนวทางการดูแลกระทิง หรือ "กระทิงป่ายักษ์" ที่ลงมาจากเทือกเขาสูงจนกลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อ2 ปีที่ผ่านมา

นายวชิระ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่พบกระทิงป่ายักษ์น้ำหนักกว่า 1 ตัน หลงฝูงกระทิงจากภูเขาสูงลงมาอยู่ในสวนปาล์มของชาวบ้านบริเวณหลังวิทยาลัยเกษตรกรรมชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ หมู่ที่ 8 ต.ตะโก จนทำให้ชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนหวาดกลัว เนื่องจากกระทิงป่ายักษ์ มีนิสัยดุร้าย จนหน่วยงานจากกรมอนุรักษ์สัตว์ป่าต้องเข้ามาดำเนินการผลักดันให้กลับเข้าไปในผืนป่า แต่ตลอดช่วงที่ผ่านมาก็ยังพบว่ากระทิงตัวดังกล่าวยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่เดิมๆอีก ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้จัดจนท.เฝ้าติดตามตลอด2ปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันไม่ให้ทำร้ายคน และพยายามผลักดันให้กระทิงป่ากลับขึ้นไปในป่าดงดิบ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของเจ้าหน้าที่ได้พบว่ากระทิงได้เข้าไปผสมพันธ์กับวัวของชาวบ้านนับสิบตัว จนกระทั่งเวลาผ่านไป 1 ปีวัวของชาวบ้านได้ออกลูกที่ผสมกับกระทิงป่านับได้ทั้งหมด 11 ตัว โดยที่กระทิงป่าที่หลงฝูงก็ยังคงวนเวียนอยู่ใกล้คล้ายการสร้างฝูงใหม่ขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ลูกวัวทั้ง11 ตัวนั้น คือเป็นวัวสายพันธ์ใหม่ที่เป็นลูกผสมระหว่างกระทิงป่า และ วัวพื้นเมือง ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนักหรืออาจเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการพยายามผสมกันในหลายสถานที่ที่มีการจับกระทิงป่าได้และนำมาผสมกันแต่ไม่เคยสำเร็จ

"ที่ชุมพรมีกระทิงป่าลงมาผสมกับวัวพื้นเมืองตามธรรมชาติ จนมีลูกออกมาแล้ว11 ตัว จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก อีกทั้งพฤติกรรมของกระทิงป่าที่ดุร้ายก็ค่อยลดระดับลงจนสามารถเข้าใกล้ได้แล้ว" นายวชิระ กล่าว

ด้านสพ.ญ.กนกวรรณ กล่าวว่า ลูกของกระทิงป่าและวัวพื้นบ้านถือเป็นวัวสายพันธ์ใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป้นทางการ และเท่าที่ตรวจสอบพบว่าเป็นสายพันธ์ที่มีความแข็งแรงปราดเปรียวแตกต่างจากวัวทั่วๆไป โดยเฉพาะร่างกายใหญ่โต และยังจะช่วยให้พัฒนาสายพันธ์วัวพื้นบ้านของไทยให้ดีขึ้นได้ในอนาคต จึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำเร็จครั้งแรกของเมืองไทย ซึ่งในทางวิชาการจะนำเลือดไปตรวจดีเอ็นเอเพื่อหารายละเอียดต่อไป