ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินกรรมการ

ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินกรรมการ

ได้มีคำถามจากท่านผู้อ่านเกี่ยวกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของกรรมการ

และค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการดังกล่าว จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา กรณีบริษัทจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสถานที่ในการถ่ายทำละคร หนัง ภาพยนตร์ และได้ทำการลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินของกรรมการและขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวในชื่อของกรรมการ โดยกรรมการได้จัดทำหนังสือยินยอมให้ที่ดินและอาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ โดยไม่จำกัดระยะเวลา ให้ใช้ตราบที่บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการ และกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากตัวอาคารดังกล่าวทั้งหมดบริษัทฯ เป็นผู้จ่าย

อยากทราบว่า ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการดังกล่าว

1. บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อมาขอคืนในแบบ ภ.พ.30 ได้หรือไม่?

2. รายจ่ายจากการลงทุนในอาคาร บริษัทฯ สามารถนำมาคำนวณค่าเสื่อมเพื่อเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่

วิสัชนา กรณีตามข้อเท็จจริง กรรมการเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินของตนเอง โดยกรรมการได้จัดทำหนังสือยินยอมให้ที่ดินและอาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ โดยไม่จำกัดระยะเวลา ให้ใช้ตราบที่บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการ และกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากตัวอาคารดังกล่าวทั้งหมดบริษัทฯ เป็นผู้จ่าย นั้น

1. บริษัทฯ เป็นเพียงผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารบนที่ดินของกรรมการ หาใช่บริษัทฯ เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาคารแต่อย่างใดไม่ เสมือนเป็นการสร้างอาคารแล้วยกให้แก่กรรมการ โดยได้สิทธิในการใช้อาคารไม่จำกัดเวลา

ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารไปใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแบบ ภ.พ.30 ได้ เนื่องจากอาคารไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของบริษัท

2. การก่อสร้างอาคารให้แก่กรรมการ และได้สิทธิการใช้โดยไม่จำกัดอายุนั้น โดยทั่วไปในทางภาษีอากรถือว่า สิทธิการใช้อาคารดังกล่าวมีกำหนดเวลาอายุการใช้งาน 10 ปี หรือให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสิทธิอย่างอื่นไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าแห่งสิทธินั้น ตามมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนี้

“(4) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้าสิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ ร้อยละ 10”

นอกจากนี้ มูลค่าอาคารที่บริษัทฯ ได้จ่ายย่อมถือเป็นเงินได้ของกรรมการตามนัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 1/2526 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินไม่ยื่นรายการเงินได้ให้ครบถ้วน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528

อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่าบริษัทฯ เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารเอง และถือกรรมสิทธิ์ในอาคารไว้ บริษัทฯ ก็ย่อมสามารถใช้ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารนั้นได้

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ