ย้อนปมร้าว'กสทช.-ดีแทค'

ย้อนปมร้าว'กสทช.-ดีแทค'

"พ.อ.เศรษฐพงค์"ลั่นดีแทคยังไม่ได้ติดต่อขอเข้าพบคสช. ทั้งๆที่ทำให้กสทช.เสียหาย เพราะไม่ใช่เรื่องจริง

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีกำหนดให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนหลายฉบับที่โรงแรมดุสิตธานี

ประเด็นที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมกับการพัฒนาการศึกษาไทยในยุค 4จี, บทบาทของ กสทช.ในการให้การสนับสนุนการศึกษาไทย, เทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ใช้ในการพัฒนาวงการการศึกษา, แผนดำเนินงาน พร้อมอัพเดทข้อมูลสถานการณ์การใช้ไอทีโทรคมนาคมในวงการการศึกษาไทยปัจจุบัน

ทว่าเมื่อถึงเวลานัดหมาย เขาติดภารกิจด่วน ไปร่วมงานไม่ได้ แต่ได้ส่งตัวแทน คือ นายเจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการ ให้ทำหน้าที่แทน

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง พ.อ.เศรษฐพงค์ ได้คำตอบว่าต้องเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการติดตามดูแลสื่อ และเข้าร่วมฟังแผนงานงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ของหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระ ที่สโมสรทหารบก ริมถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตบวกกับกระแสข่าวว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น โดยอาจมีการเรียกตัวประธาน กทค.ไปหารือในประเด็นความขัดแย้งระหว่าง กทค. กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เกี่ยวกับกรณี เทเลนอร์ เอเชีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศว่า กสทช.สั่งดีแทคให้ปิดเฟซบุ๊คช่วงเวลา 15.00 น. วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียโกลาหลกันไปทั่วประเทศหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พ.อ.เศรษฐพงค์ ยืนยันว่า การไปประชุมที่สโมสรกองทัพบกไม่มีประเด็นดังกล่าว และจนถึงวันนี้ดีแทคยังไม่ได้ติดต่อขอเข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่ทำให้ กสทช.เสียหาย เพราะไม่ใช่เรื่องจริง ถือเป็นการใส่ร้าย กสทช.

ส่วนต้นตอของปัญหานี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวเผยแพร่จากหนังสือพิมพ์ Aftenposten ของนอร์เวย์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นายทอร์ โอด์แลน (Tor Odland) ผู้ประสานงานสื่อมวลชนของเทเลนอร์ เอเชีย เกี่ยวกับปัญหาเฟซบุ๊คเข้าใช้งานไม่ได้วันที่ 28 พ.ค.2557

เนื้อหาระบุว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่ เทเลนอร์ เอเชีย ถือหุ้น 42% และเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ได้รับโทรศัพท์จาก กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมของไทยให้บล็อคการเข้าใช้เฟซบุ๊ค และดีแทคตอบรับ รวมทั้งปิดกั้นการใช้งานในเวลา 15.35 น.ของวันดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คที่เชื่อมต่อผ่านดีแทคจำนวน 10 ล้านคนใช้งานไม่ได้

นายโอด์แลน ยอมรับว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้ทำให้เทเลนอร์ตกที่นั่งลำบาก เพราะด้านหนึ่งก็ต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามแนวทางของสหประชาชาติ อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำตามกฎหมายท้องถิ่น แต่ยืนยันว่าเทเลนอร์จะทำงานร่วมกับหลายกลุ่มเพื่อสร้างแนวทางการทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในประเด็นของสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ซึ่งเทเลนอร์เป็นห่วงเรื่องดังกล่าว และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

จากนั้น วันที่ 10 มิ.ย. พ.อ.เศรษฐพงค์ ได้ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ขณะนี้ กทค.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนการถือหุ้นของต่างชาติในกิจการโทรคมนาคม จากปัจจุบันต่างชาติถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ขณะเดียวกัน กทค.จะตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติในกิจการโทรคมนาคมอย่างเข้มงวด หากไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 หากตรวจสอบพบว่าเอกชนรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและประกาศ ก็จะเข้าร่วมประมูล 4 จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิตรซ์ ในเดือน ส.ค.2557 และคลื่น 900 เมกะเฮิตรซ์ ในเดือน พ.ย.2557 ไม่ได้

อย่างไรก็ดี พ.อ.เศรษฐพงค์ ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวกับการให้ข่าวของดีแทค แต่ กทค.จะดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน แม้ข่าวช่วงเวลาที่จะทบทวนประเด็นการถือครองหุ้นจะเหมาะเจาะกับข่าวดีแทคสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ กสทช.ก็ตาม

เขายังอธิบายว่า การตรวจสอบอย่างเข้มงวดสำหรับการถือหุ้นของต่างชาตินั้น นอกจากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำและมีอำนาจในการบริหารจัดการของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังเพื่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศด้วย พร้อมให้เหตุผลว่า การติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมถือเป็นหัวใจของการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หากยอมให้ต่างด้าวโดยเฉพาะทุนที่มีหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจต่างชาติสนับสนุนเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมในประเทศ อาจมีผลกระทบและเกิดความเสี่ยงในการกำกับดูแลได้

"การตรวจสอบการถือหุ้นของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นการทำตามกฎกติกาที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติรายใดรายหนึ่ง โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการถือหุ้นทั้งทางตรง ทางอ้อม การถือหุ้นไขว้ และการตั้งบริษัทนอมินีถือหุ้นแทนด้วย ส่วนกรณีของผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเป็นภาษานอร์เวย์ว่า กทค.สั่งปิดเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง"เป็นคำชี้แจงจาก พ.อ.เศรษฐพงค์ ในฐานะประธาน กทค.

กระนั้นก็ตาม กรณีการให้ข่าวของเทเลนอร์ เอเชีย ที่อ้างว่า กสทช.เป็นผู้สั่งปิดเฟซบุ๊คนั้น มีรายงานยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า ทำให้กรรมการ กสทช.บางคนไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับเอ่ยปากต่อว่าดีแทค และมองว่าเป็นการใส่ความ กทค. ทั้งๆ ที่ กทค.ไม่ได้สั่งให้ดำเนินการปิดเฟซบุ๊คแต่อย่างใด และเรื่องนี้น่าจะเป็นที่มาของการที่ กทค.ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยจะเริ่มตรวจสอบการถือหุ้นของดีแทคก่อนเป็นอันดับแรก

ต่อมาในวันประชุมบอร์ด กทค.วันที่ 11 มิ.ย. พ.อ.เศรษฐพงค์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกครั้ง โดยกล่าวถึงดีแทคอย่างดุเดือด ระบุว่าช่วงเช้าวันเดียวกันนั้นดีแทคได้ล็อบบี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้โทรศัพท์มาหาเขา เพื่อขอให้เขาไม่พูดถึงเรื่องการปิดเฟซบุ๊คอีก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เริ่มก่อน และให้ทำเหมือนว่า เทเลนอร์ เอเชีย ไม่เคยให้ข่าวในลักษณะนั้น

ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ทำให้ พ.อ.เศรษฐพงค์ โกรธมาก เพราะที่ผ่านมาในฐานะผู้กำกับดูแลกับโอเปอเรเตอร์ ย่อมต้องมีการประสานงานอยู่แล้ว ทั้งกับ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลล่าห์ ซีอีโอดีแทค หรือ นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเทเลนอร์ เอเชีย แต่พอมีเรื่องนี้กลับไปล็อบบี้ให้ผู้ใหญ่เป็นคนโทรศัพท์หาเขา

"ผมขอให้หยุดกดดัน หยุดล็อบบี้ทุกประการที่จะทำให้เหมือนว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ให้ข่าวว่า กสทช.และ กทค.สั่งปิดเฟซบุ๊ค เพราะถือว่าได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ซึ่งการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวกระทบภาพลักษณ์ประเทศไทยและ กสทช. ฉะนั้นดีแทคควรให้เกียรติประเทศไทยและเคารพประเทศไทยด้วย"

"เทเลนอร์ กรุ๊ป หรือแม้แต่ เทเลนอร์ เอเชีย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทคได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว และดีแทคยังเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ให้เทเลนอร์ กรุ๊ป มากที่สุดในโลก สิ่งที่ดีแทคทำคือการไม่ให้เกียรติ ผมขอฝากไปยัง นายบุญชัย เบญจรงคกุล ในฐานะประธานกรรมการดีแทค และเป็นคนไทยคนหนึ่งด้วยว่า ควรจะอธิบายให้ดีแทคเข้าใจถึงการทำธุรกิจในประเทศไทยและมารยาทด้วยเช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติว่าเป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ กสทช.หรือไม่นั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ ยืนยันว่า เป็นการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และเป็นการตรวจสอบทุกราย ไม่ใช่รายใดรายหนึ่ง ทั้งยังเป็นการตรวจสอบก่อนจะเข้าร่วมประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิตรซ์ และ 900 เมกะเฮิตร์ซ โดยคณะอนุกรรมการประมูล 4 จี จะประชุมสรุปหลักเกณฑ์การประมูลในวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อนำเสนอบอร์ด กทค.พิจารณาต่อไป

จากนั้นวันที่ 12 มิ.ย. ภายหลังการประชุมของคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดสรรอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมี พ.อ.เศรษฐพงค์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้สรุปรายละเอียดข้อเสนอแนะจากการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีเพียงข้อเดียว คือ วิธีการจัดสรรใบอนุญาต จากเดิมจำนวนใบอนุญาตมี 2 ใบ ใบละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาประมูลใบละ 11,600 ล้านบาท การจัดสรรเปิดประมูลจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้เข้าประมูล 3 รายขึ้นไป ถ้ามีผู้เข้าร่วมเพียง 2 รายเท่ากับจำนวนใบอนุญาต หรือเข้าประมูลเพียง 1 ราย กสทช.จะยกเลิกการประมูลในทันที

แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ คือ ถ้ามีผู้เข้าประมูลไม่ถึง 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย หรือ 1 ราย ก็จะเปิดประมูลต่อไป แต่ กสทช.จะขยายวันรับสมัครผู้เข้าประมูลออกไปอีก 30 วัน หากครบกำหนดยังไม่มีผู้เข้าประมูลเพิ่ม กสทช.ก็ยืนยันจะเปิดการประมูลต่อ เพราะบทบาทของ กสทช.ต้องเป็นผู้จัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ต่อไป

การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญข้อนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่ามีผลสืบเนื่องจากประเด็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง กทค.กับดีแทคหรือไม่ เพราะเงื่อนไขใหม่กับการตรวจสอบสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติอาจเป็นสาเหตุให้ดีแทคไม่สามารถเข้าประมูลได้ และเมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดในหลักเกณฑ์ใหม่ หากมีเพียง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมประมูล ก็จะเปิดประมูลได้ทันที เพราะมีผู้ร่วมประมูล 2 รายก็จัดสรรใบอนุญาต 2 ใบได้เลย จากเดิมที่หากมี 2 รายจะดำเนินการประมูลไม่ได้ทุกกรณี

สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญอื่นๆ ของการประมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลง อาทิ ราคาตั้งต้นของใบอนุญาตที่ใบละ 11,600 ล้านบาท ต่อ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 19 ปี การเคาะราคาต่อ 1 ครั้งจะเพิ่มขึ้น 580 ล้านบาท หรือ 5% ของราคาตั้งต้น อนุญาตให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เข้าร่วมประมูลได้ การชำระเงินค่าใบอนุญาตแบ่งเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 จำนวน 50% งวดที่ 2 และ 3 งวดละ 25% และกำหนดความครอบคลุมโครงข่ายที่ 40% ของอัตราประชากรภายในระยะเวลา 4 ปี

ผลสรุปของคณะอนุกรรมการ 1800 จะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 18 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะนำประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นประกาศหลักเกณฑ์การประมูลอย่างเป็นทางการต่อไป

และบทสรุปของการประมูลอาจเป็นคำตอบสุดท้ายของเรื่องทั้งหมดว่า เกี่ยวข้องกับปมร้าว กสทช.-ดีแทค หรือไม่?!?