"ยาลดไขมัน" ประเด็นที่ซ่อนแอบ

"ยาลดไขมัน" ประเด็นที่ซ่อนแอบ

นพ.กฤษดา ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ตั้ง 10 ข้อสังเกตเกี่ยวกับยาลดไขมัน และผลข้างเคียง...จริงหรือ ที่ต้องกินตลอดไป

"ยาลดไขมัน” เป็นชื่อที่ใครหลายคนรู้จักดีเพราะถูกจ่ายมาเวลาเจาะเลือดแล้ว “ไขมันสูง” หลายท่านรู้สึกว่าปลอดภัย (เพราะหมอสั่งเอง) หลายท่านรู้สึกว่าสบายใจเพราะเหมือนได้กินเกราะป้องกันไขมันเอาไว้ดุจดั่งได้ Safety net กันภัยให้ชีวิต

มีรายงานผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากยาลดไขมันโผล่มานับตั้งแต่มีการผลิตยานี้ขึ้น จนคณะนักวิจัยอดรนทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลจากคนไข้ 83,880 คน แล้วตีพิมพ์ผลนี้ลงในวารสารการแพทย์ชื่อดังอย่าง European Journal of Preventive Cardiology ชี้ว่ายาลดไขมันเพิ่มความเสี่ยง “เบาหวาน” กำเริบได้ด้วยกลไกที่ทำให้น้ำตาลเพิ่มในเลือด หนำซ้ำยังมีรายงานอาการข้างเคียงอย่าง ปวดเนื้อตัว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ มึนศีรษะ ฯลฯ จากผู้ใช้

ไม่ได้ห้ามรับประทานถ้ามีข้อบ่งชี้ แต่ปรารถนาให้ทราบว่ายาลดไขมันมี 2 ด้าน ดังนั้น ก่อนจะกินขอให้ได้รู้ข้อมูลต่อไปนี้สักนิดครับ

1) ยาลดไขมันไม่ใช่คำตอบเสมอไป ท่านสามารถลดไขมันด้วยวิธีธรรมชาติได้ในช่วงแรกที่ไขมันเริ่มสูง

2) ยาลดไขมันไม่จำเป็นต้องกิน “ตลอดชีวิต” เสมอไป ที่จริงแล้วแนวทางการคุมไขมันประการแรกคือดูแลการ “กิน” และ “อยู่” ให้ดีก่อน ปฏิวัติตัวเองให้ได้ (Substantial lifestyle change) จะช่วยให้ท่านไม่ต้องกินยาครับ

3) ยาลดไขมันมาพร้อมอาการเสี่ยง ได้แก่ ปวดหัว ปวดตามตัว นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ ท้องผูก ทั้งยังอาจส่งผลต่อความจำและทำให้สับสนได้

4) ยาลดไขมันมาพร้อมความเจ็บที่พบได้คือ “ปวดตามตัว” จากการออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ (Statin myopathy) ในรายที่รุนแรงมากถึงขั้น “กล้ามเนื้อสลาย" (Rhabdomyolysis) ซึ่งพบได้ครับ

5) ยาลดไขมันเสี่ยงทำร้ายตับ ทำให้ตับทำงานหนัก พบเอนไซม์ในตับสูงขึ้นได้ในหลายท่าน ดังนั้น จึงควร “ตรวจเลือด” ดูการทำงานตับเมื่อทานยาลดไขมันครับ

6) ยาลดไขมันมีผลลดวิตามินในร่างกาย โดยเฉพาะยาลดกลุ่มสแตตินส์ที่มีผลกดการสร้าง “โคคิวเท็น” ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญสร้างจากตับ เพราะยาลดไขมันออกฤทธิ์ที่ตับโดยตรง เทคนิคคือท่านอาจหาโคคิวเท็นรับประทานเสริมได้ครับ

7) ยาลดไขมันกินเพื่อป้องกันโรค มีความเชื่อที่มาจากบางงานวิจัยว่า ยานี้สามารลดอัตราตายโดยรวมในโรคอย่างหัวใจ โรคตับและมะเร็งบางชนิดได้ แต่จริงๆ แล้วไม่เสมอไปครับ มีเทคนิคการนำเสนอที่ชวนให้ดูเหมือนป้องกันได้มากโดยใช้เปอร์เซนต์ที่ไม่ใช่แบบสมบูรณ์แท้ทางสถิติ (Absolute risk statistics)

8) เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน เพราะยาอาจไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ท่านที่มีความเสี่ยงเบาหวานหรือเป็นเบาหวานอยู่แล้วจึงต้องระวังให้ดี ในเรื่องนี้ FDA จึงให้บริษัทยาทำคำเตือนข้างฉลากไว้ด้วย

9) โรคหัวใจไม่ได้เกิดจากไขมันสูงเสมอไป มีข้อมูลที่น่าสนใจโดยผู้เชี่ยวชาญจาก UCLA ชี้ว่าคนที่หัวใจวายถึง 75% มีระดับไขมันปกติ ส่วนผู้สูงวัยที่เสียชีวิตนั้นก็มีจำนวนมากที่ “โคเลสเตอรอลต่ำ”

10) ยาลดไขมันขายดิบขายดีเพราะส่วนหนึ่งจาก Guideline ทางการแพทย์ที่ให้จ่ายยาลดไขมันใน “วงกว้าง” มากกว่าเดิม โดยให้คลุมไปถึงคนปกติที่ยังไม่มีโรคหัวใจด้วย พูดง่ายๆ คือให้คนที่ยังไม่ป่วยกินยาด้วย!

สรุปฝากไว้อีกนิดคือกินได้ถ้าจำเป็น ยาทุกชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งถ้าจำเป็นต้องแลกข้อดีให้กับข้อเสียจำนวนมากมายมหาศาลก็อาจไม่คุ้มกัน ควรตระหนักไว้ว่า “สุขภาพดีไม่ได้มาจากกินยาเสมอไป” หากแต่ใช้การปฏิวัติชีวิตใหม่ด้วยตัวท่าน ซึ่งนั่นคือพระเอกที่แท้จริง ไม่ใช่ยา

เป็นต้นว่า ถ้าปรับไลฟ์สไตล์ลดน้ำหนัก จนไขมันและความดันลงเป็นปกติแล้ว ยาลดไขมันก็ไม่จำเป็นเสมอไป ชีวิตจะได้ไม่ต้องผูกติดกับยาชั่วกัปกัลป์

* บทความโดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช,พบ.(จุฬาฯ)

ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

American Board of Anti-aging medicine

[email protected]