ขี่จักรยาน...เยี่ยมคนไทยในเมียวดี

ขี่จักรยาน...เยี่ยมคนไทยในเมียวดี

บ้านเรือนในบ้านห้วนส้านยกพื้นสูง มีใต้ถุนแบบอย่างของบ้านล้านนา แม้กระทั่งวัดในหมู่บ้านก็เป็นวัดสไตล์ล้านนา

เสียงสวดมนต์ภาษาบาลีสำเนียงล้านนา ในงานทอดผ้าป่าที่ศาลาของวัดบัวสถานห้วยส้าน ม. 7 ต.ห้วยส้าน จ.เมียวดี ของเมียนมาร์ในวันนั้น ผมไม่คิดว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในแผ่นดินอื่นที่ไม่ใช่แผ่นดินไทยเลย ใบหน้าของบรรดาพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยที่นุ่งซิ่นแต่งลาย เสื้อแขนกระบอกสีพื้น ผ้าสไบพาดบ่า ผมมวยเกล้าพอสวย ดอกไม้พื้นบ้าน ดอกเข็มบ้าง ดอกเอื้องไข่บ้างถูกนำมาตกแต่งมวยผม เสียงสนทนาด้วยสำเนียงล้านนาเมื่อพระสวดจบ ถุงพลาสติกใส่ซองยาเส้นและใบตองแห้ง ถูกบรรจงนำออกมาประดิษฐ์เป็นมวนขี้โย แม่อุ๊ยนั่งสูบพ่นควันปุ๋ยๆ กลิ่นใบตองที่มวนยาโชยมาพอให้รู้สึก พุ่มผ้าป่ามีทั้งเงินไทยและเงินพม่าตกแต่งจนดูหนาตา เงินผ้าป่าวันนี้มาจากพี่น้องคนไทยจากแม่ระมาดและแม่สอด ข้ามฝั่งมาทอดที่วัดห้วยส้าน ชุมชนคนไทยเชื้อสายล้านนาในแผ่นดินพม่า เพื่อร่วมกันบูรณะศาลาการเปรียญที่ชำรุดทรุดโทรม


นอกจากการเป็นชุมชนคนไทยที่มาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินพม่ามา 3-4 ชั่วอายุคนแล้ว ความเป็นชุมชนที่ใหญ่ขนาด 500 หลังคาเรือน แบ่งได้ถึง 9 หมู่บ้าน มีวัดในตำบลถึง 7 วัด ทำให้หมู่บ้านคนไทยในดินแดนพม่าแห่งนี้ยังคงรักษาอัตลักษณ์การเป็นคนล้านนาได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดที่พูดภาษาเมืองกันในกลุ่มแม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ ประเพณีล้านนา ยี่เป็ง ประเพณีสืบชะตา ต๋านฉลาก งานปอยข้าวสังข์ ฯลฯ มีอยู่ครบถ้วน


เสร็จจากพิธีสงฆ์ที่ศาลาในการรับผ้าป่าแล้ว วงอาหารถูกจัดไว้ใต้ร่มเงาไม้ บรรดาแม่บ้านมาช่วยกันทำอาหารคาวหวานเลี้ยงกัน แกงแค แกงอ่อม แกงฮังเล ยำขนุน เรียงรายอยู่บนโต๊ะอาหาร ข้าวนึ่งวางประกอบ ขนมต้มควาย ที่ดูคล้ายตะโก้ ถูกโรยมะพร้าวเป็นของหวานวันนั้น เหลียวมองผู้มาร่วมงานที่วัดแล้วไม่มีความรู้สึกว่าอยู่ในแผ่นดินของพม่าที่ลึกเข้าไปจากชายแดนถึง 18 กม. แม้แต่น้อย จะพอได้สะดุดตาบ้างก็ตรงแป้งทานาคาที่บรรจงป้ายไปบนแก้มเท่านั้นเองที่บ่งบอกว่านี่คือแผ่นดินพม่า หาใช่ล้านนาของไทยไม่


พี่ถาวร วงศ์ปงมูล คนพม่าเชื้อสายล้านนาที่บ้านห้วยส้าน หรือในชื่อพม่าว่า “เมี๊ยะเส็ง” ได้ให้ความกระจ่างกับผมว่า หมู่บ้านห้วยส้านนี้เป็นกลุ่มคนไทย จาก อ.เถิน อ.แม่พริก อ.งาว ของลำปาง รวมทั้งมีมาจากลำพูนด้วย เข้ามาเริ่มแรกโดยการมาเป็นคนงานทำไม้ ของบริษัทจากอังกฤษ เมื่อนับร้อยๆ ปีก่อน เมื่อบริษัททำไม้โยกย้ายไปก็เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์กว่าถิ่นฐานเดิม จึงปักหลักอยู่กัน แรกๆ มีเพียง 10 ครอบครัว ครั้นนานเข้ามีการไปชักชวนกันมา ประกอบกับชุมชนขยายขึ้นจนถึง 500 หลังคาเรือนดังกล่าว ชาวบ้านก็ทำไร่ไถนาเหมือนฝั่งไทยทุกอย่าง


รุ่นพ่อแม่อย่างพี่ถาวรนั้นทุกคนมีบัตรประชาชนคนพม่า คนบ้านห้วยส้านจึงพูดภาษาเมืองได้ ภาษาไทยได้และภาษาพม่าก็พูดได้ แต่รุ่นลูกรุ่นหลาน มักจะได้สัญชาติเป็นคนไทย พอคนบ้านห้วยส้านท้องได้ 6-7 เดือน ก็จะข้ามไปฝั่งไทย ไปอยู่กับญาติพี่น้อง แล้วก็คลอดบนแผ่นดินไทย เด็กที่เกิดมาจึงเป็นคนไทย ได้สัญชาติไทย พี่ถาวรเขาว่าแบบนั้นนะ


สอบถามเด็กๆ ดูเห็นว่าข้ามมาเรียนหนังสือฝั่งไทยที่แม่สอดกันหมด วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ จึงข้ามฝั่งมาเยี่ยมพ่อแม่ที่ห้วยส้าน ผมแอบเห็นรูปพี่ถาวรและภรรยาถ่ายรูปงานรับปริญญาของลูกชายจากสถาบันราชมงคลแห่งหนึ่งติดข้างฝาบ้านด้วย บางบ้านยังแอบเห็นรูปในหลวงเราด้วย

“ฝั่งพม่าเรียนสูงมาก็ไม่มีงานทำ ก็มาทำไร่ทำนาเหมือนเดิม ฝั่งไทยมีงานให้ทำมากกว่า” พี่ถาวรให้ความกระจ่าง เด็กที่ข้ามไปมา อาศัยเพียงเรือข้ามฟากไม่ได้ผ่านพิธีการทาง ตม.แต่อย่างใด นี่เป็นมิตรภาพสองฝั่งที่เกี่ยวพันกันเกินกว่ากฎกติการะหว่างประเทศจะเข้ามายุ่มย่าม การไปมาหาสู่ระหว่างคนบ้านห้วยส้านและญาติพี่น้องฝั่งไทยจึงมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน


บ้านเรือนในบ้านห้วนส้านยกพื้นสูง มีใต้ถุนแบบอย่างของบ้านล้านนา แม้กระทั่งวัดในหมู่บ้านก็เป็นวัดสไตล์ล้านนา อุโบสถหลังเล็กๆ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เป็นเครื่องตกแต่งหลังคา ศาลาการเปรียญ พื้นที่ว่างที่เป็นดินให้มีการก่อกองทราย เจดีย์เป็นเพียงส่วนประกอบ ในขณะที่วัดพม่าส่วนใหญ่ เจดีย์จะเป็นส่วนสำคัญในวัด ลานโล่งมักปูด้วยกระเบื้องหรือลานปูน เพื่อนั่งประกอบศาสนกิจ คนเข้าวัดพม่าจึงต้องถอดรองเท้านับแต่ก้าวแรกที่เข้าวัด


ทั้งนี้ต้องขอบคุณหอการค้าจังหวัดตากและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก ที่จัดโครงการปั่นจักรยานเชื่อมสองแผ่นดินมาเป็นปีที่ 15 ซึ่งปีนี้เน้นย้ำเป็นการต้อนรับ AEC ที่จะมาถึงในปีหน้า แต่ทางการไทยยังทำได้แค่ติดธงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศตามโรงเรียนหรือสถานที่ราชการเท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังมากตราบที่นายกรัฐมนตรีของไทยยังเรียกผู้นำมาเลเซียว่าประธานาธิบดีอยู่ ผมสังเกตดูภาคเอกชนหลายพื้นที่นำหน้าภาคราชการไปแล้ว อย่างกรณีการขี่จักรยานครั้งนี้ ที่ทุกปีเคยข้ามมาได้แค่เขตเศรษฐกิจเมียวดี เที่ยววัดพม่าในเขตเมืองแค่นั้น แต่ปีนี้เข้ามาถึงบ้านห้วยส้านที่ลึกเข้ามาถึง 18 กม. นำความยินดีทั้งคนห้วยส้านฝั่งพม่าที่มีเชื้อสายไทยกับคนไทยที่พอรู้ว่าจะข้ามไปเยี่ยมคนไทยที่ห้วยส้าน ก็มาร่วมปั่นจักรยานถึง 500 คน


และเชื่อเถอะว่า การเริ่มต้นครั้งนี้ ต่อไปจะพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงการเดินทางทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพม่า ที่สามารถเริ่มจากแม่สอด เข้าเมียวดี จะไปทางพระธาตุอินทร์แขวนในรัฐมอญ เข้าหงสาวดี เข้าร่างกุ้ง หรือจะลงใต้ไปเมาะละแหม่ง ทวายก็ได้อีก ต้องกลับมาถามว่าทางการไทยเตรียมตัวอย่างไรในการเข้าสู่ AEC บ้าง


ผมได้คุยกับคนไทยที่ห้วยส้านแล้ว ก็นึกถึงกรณีคุณสาธิต เซกัล คนเชื้อสายอินเดียที่อยู่เมืองไทยมายี่สิบกว่าปี ที่ถูกเนรเทศเพียงเพราะรณรงค์ให้คนไทยรักในหลวงและแผ่นดินไทย มันช่างตาลปัตรกันสิ้นดี คนอีกกลุ่มอยู่ต่างแดนแต่ยังรักความเป็นไทยอย่างมั่นคง แต่คนไทยในแผ่นดินไทยบางกลุ่ม ผมเห็นชูป้ายรักและเชิดชูผู้นำประเทศข้างบ้าน ก็อดสูใจไม่ได้ ยางข้าวไทยมันหมดแล้วจริงๆ


.....................................................
(วันที่ 3-9 มีนาคม 2557 นี้ จะมีพิธีบำเพ็ญกุศลและถวายเพลิงหลวงพ่ออุปันเต็กซะ วัดไทยวัฒนาราม แม่สอด ที่จัดแบบประเพณีโบราณ มีการจัดสร้างเมรุชั่วคราวและพิธีกรรมดั้งเดิมที่ไม่เคยจัดมาเกือบ 50 ปีแล้ว ใครสนใจช่วงเวลาดังกล่าวมุ่งหน้าไปแม่สอดกันครับ)