สุพรรณหงส์23 : รีเฟรช

สุพรรณหงส์23 : รีเฟรช

มองหน้าตาหนังไทย ผ่านเวทีรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ครั้่งที่ 23 รางวัลสำหรับผลงานภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายภายในปีที่ผ่านมา

สุพรรณหงส์ทองคำ เป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่มีขนาดงานใหญ่ของไทยในแง่ความหรูหรา และเป็นการจัดงานโดย สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ที่มีสมาชิกสมาพันธ์เป็นกลุ่มองค์กรจากวิชาชีพสายต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แม้จำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปีที่ผ่านมา จะลดน้อยลง แต่การเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์ไม่ได้เงียบเหงาแต่อย่างใด โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของภาพยนตร์อิสระ ทุนสร้างจากการระดมทุนจากหลายแหล่ง จนถึง รูปแบบการนำเสนอ

เวทีสุพรรณหงส์ทองคำ ได้ขานรับ "สีสัน" ของงานภาพยนตร์ ด้วยการ ปรับเปลี่ยน วิธีการคัดเลือกและลงคะแนน มอบรางวัล ซึ่งทางเจ้าภาพ ประกาศว่า อยากให้การเป็น "เจ้าของร่วม" ในเวทีรางวัลนี้ ผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง

กติกาใหม่ เพิ่มเจ้าของรางวัล

การจัดมาต่อเนื่องสำหรับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ทองคำ จากหลายยุคและเปลี่ยนคณะกรรมการตัดสินมาหลายชุด ในปี 2557 หลักเกณฑ์การลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจากสาขาอาชีพต่างๆ การเริ่มต้นเปิด open vote เพื่อเลือก "ผู้เข้าชิง 5 เรื่องสุดท้าย" จากหนังไทยที่เข้าเกณฑ์ "เป็นภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 31ธันวาคม ของแต่ละปี โดยต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชั้น 1 ต่อเนื่อง อย่างน้อย 7 วันขึ้นไป" นั้นเริ่มต้นจากวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยนอกจากคนในวงการภาพยนตร์ สมาชิกสมาพันธ์ฯ ที่ต้องได้รับเชิญและสามารถร่วมลงทะเบียนแสดงความเกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์ทุกด้าน และความจำนงที่จะร่วมพิจารณารางวัลนี้ คะแนนโหวตจากรอบแรก จะตัดสินจากคะแนนรวมสูงสุด ผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายสาขาละ 5 ชื่อ ซึ่งประกาศรายชื่อไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และระบบการตัดสินผู้ชนะรางวัลฯ เป็นการเปิด "ให้ผู้มีสิทธิ์" ทุกกลุ่ม ทั้งจากผู้เข้าร่วมโหวตใน open vote รอบแรก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ทางสมาพันธ์แต่งตั้ง ได้ร่วมกันลงคะแนนตัดสินผู้ชนะสุดท้าย รวมถึง รางวัลพิเศษ ป๊อปปูลาร์ โหวต สุดยอดนักแสดงนำชาย และหญิง ที่เปิดสำหรับประชาชนทั่วไป ผ่านการส่ง sms ร่วมโหวต โดยไม่ต้องลงทะเบียนทางเวบไซต์ เพียงแค่สมัครใจเสียค่าส่ง sms ผ่านมือถือทุกระบบ หนึ่งคนต่อหนึ่งโหวตก็ทำได้ถ้วนหน้า

วีรศักดิ์ โควสุรัตน์เลขาธิการสมาพันธ์ฯ คนปัจจุบัน ได้เผยถึง การเพิ่มสีสันรางวัลป็อปปูลาร์ โหวต ว่า

"รางวัลป๊อปปูลาร์ โหวต เกิดขึ้น เพราะเราอยากอุตสาหกรรม(หนัง)มีเจ้าของเยอะ และอยากให้รางวัลนี้่คนดูได้เป็นเจ้าของด้วย เพราะเรา(สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ) เป็นเจ้าของมานานแล้ว และเวลานี้มีกลุ่มเครือข่ายค่ายต่างๆ มีจัดกิจกรรมรางวัล(ภาพยนตร์) กันเยอะนะครับ เราในฐานะสมาพันธ์ภาพยนตร์ 'แห่งชาติ' จึงอยากให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของร่วมกัน และเราก็มีคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เราตั้งไว้แล้ว เราก็ยังอยากให้คนในอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของด้วย โดยจะเสนอ nominations ในแต่ละสาขาของเขา(แต่ละสายงาน) เพราะฉะนั้น มันจะไม่ค้านสายตา เพราะเขาเป็นคนเลือกมาเอง ผู้เข้าชิงรางวัลรอบสุดท้ายในวันที่ 23 นี้ คือคนในอุตสาหกรรมเป็นคนโหวตมาเอง ส่วนประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รับรู้หรอกว่าช่างแต่งหน้าคนไหนยอดเยี่ยมอย่างไร ไม่รู้รายละเอียดตรงนั้น แต่เขารู้ว่าดาราคนไหนที่เขาชอบ ให้เขาได้โหวตมา เป็นปอปปูลาร์ โหวต เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการให้รางวัลครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน"

ป๊อปปูลาร์ โหวต เป็นสาขารางวัลใหม่ ที่เริ่มต้นมอบในเวทีสุพรรณหงส์ฯ ปีนี้ โดยทางสมาพันธ์ ดึงเรื่อง "การเป็นเจ้าของรางวัลร่วมกัน" และ การมีแรงจูงใจจากการมอบรางวัลแบบชิงโชคสำหรับผู้เข้าร่วมคะแนนโหวต กติกาการโหวตแบ่งรางวัลเป็น Popular Vote สุดยอดดารานำหญิง และ สุดยอดดารานำชายแห่งปี ผู้เข้าชิงเป็นรายชื่อ 5 คนสุดท้ายจากสาขา ผู้แสดงนำชาย และผู้แสดงนำหญิง นั่นเอง

กระแสหนังไทย

สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญหนึ่งในคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ และ ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ซีเนม่า ได้ให้ความเห็นต่อการเพิ่มรางวัลปํอปปูลาร์ โหวต ว่า น่าจะเป็นการดึงฐานแฟนคลับของบรรดาดาราที่มาร่วมงาน

กับคำถามว่าหน้าตาของผู้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ฯปีนี้ อ่อนเยาว์ลงตลอดไหม นักแสดงรุ่นใหม่และเป็นวัยเยาว์อายุต่ำกว่า 25 ปี ได้เข้าชิงกันอย่างหนาตา

ทั้งในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ณเดชน์ คูกิมิยะ (คู่กรรม) พัทธดนย์ จันทร์เงิน (เกรียน ฟิคชั่น) ชินวุฒ อินทรคูสิน (ทองสุก 13) จิรายุ ละอองมณี (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย) ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ (Love Syndrom รักโง่ๆ)และสาขาแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม อภิญญา สกุลเจริญสุข (ฮาชิมะ โปรเจกต์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่ ) ดาวิกา โฮร์เน่ (พี่มาก..พระโขนง)พัชชา พูนพิริยะ (Mary Is Happy, Mary Is Happy)สุทัตตา อุดมศิลป์ (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย) โดยมีนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง ลลิตา ปัญโญภาส (ประโยคสัญญารัก) มาลุ้นรางวัลสาขานี้ด้วย

ผู้บริหารเอสเอฟให้ความเห็นว่า "ไม่นะคะ เพราะช่วง 2-3 ปีหลังรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม อย่างคุณศันสนีย์ สมานวรวงศ์ จาก หนังความจำสั้น แต่รักฉันยาว ก็เคยได้เมื่อหลายปีก่อน (พ.ศ 2553) และปีที่แล้ว ป๊อก ปิยธิดา วรมุสิก ก็ได้รางวัล นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จากภาพยนตร์ Together วันที่รัก) เพราะฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ว่า รางวัลจะให้แต่นักแสดงอายุรุ่นเยาว์ แต่มันอาจจะเป็นเพราะว่าในปีที่แล้ว หนังไทย (จำนวน) อาจจะไม่ได้เยอะมาก เพราะปกติหนังไทยจะออกฉายประมาณ 60-65 เรื่อง แต่ปี 2556 รู้สึกจะเหลือแค่ประมาณ 37 เรื่อง เพราะงั้่นก็เป็นไปได้ว่า มันจะไปอิงกับกระแสหนังวัยรุ่น"

จากมุมมองของผู้บริหารโรงภาพยนตร์ สุวรรณี ยังเห็นว่า การมีดาราแสดงนำ ยังคงเป็นเหตุผลดึงดูดให้ผู้ชมเข้่าโรงภาพยนตร์ ยกตัวอย่าง กรณี "คู่กรรม" ที่เห็นกระแสได้ชัดหลังจากปล่อยทีเซอร์ไปแล้ว มีผู้ชมสนใจมาจองบัตรชมภาพยนตร์

หนังนอกกระแสเข้าตากรรมการ

แม้ว่า งานพิธีประกาศผลและมอบรางวัล ที่ทางสมาพันธ์ฯ เตรียมฟูฟ่าอลังการ ด้วยธีม star of the ocean ที่รวมการพาดาราทั่วฟ้าเมืองไทยมาเฉิดฉายในงานที่จัดขึ้นที่เมืองริมทะเล เลื่องชื่ออย่างพัทยาแต่ในเวทีรางวัล ผู้เข้าชิง รางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้สะท้อนให้เห็น ความแข็งแรงของภาพยนตร์อิสระ

โดยใน 5 เรื่องสุดท้าย มีถึง 3 เรื่อง ได้แก่ ประชาธิป'ไทย กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง และภาสกร ประมูลวงศ์ (บริษัท แตงกวา มาโตกราฟ จำกัด) ตั้งวง กำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี (บริษัท นอร์ธ สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด) Mary Is Happy, Mary Is Happy กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด) ที่จะมาเบียดลุ้นรางวัลใหญ่สุดของเวทีนี้กับ ผลงานบันเทิงจากค่ายใหม่ อีก 2 เรื่องได้แก่ "เกรียน ฟิคชั่น" งานกำกับของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) และ พี่มาก...พระขโนง ของผู้กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกุล (บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด หรือ จีทีเอช)

โดยที่ ผู้กำกับทั้่ง 5 เรื่อง คือ ผู้เข้าชิง สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม พ้องไปกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

ชัยชนะของภาพยนตร์เรื่อง Wonderful Town ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับที่สร้างงานด้วยทุนอิสระ นอกค่ายใหญ่ของไทย ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในเวทีสุพรรณหงส์ครั้งที่ 18 อาจจะถือเป็น การเริ่มต้นเข้าตากรรมการของเวทีรางวัลระดับชาติ ต่อเนื่องด้วยการชนะรางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยม ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จากผลงานเรื่อง "36" ในปี 2555

ปีนี้จึงถือว่าเป็นอีกปี ที่ 3 เรื่องแรก จัดในกลุ่ม "ภาพยนตร์นอกกระแส" ทั้งในด้าน "แนวทางการนำเสนอ" ที่มีทั้ง ภาพยนตร์สารคดีแสดงความเห็นต่อการเมือง กรณีของ ประชาธิป'ไทย ภาพยนตร์รูปแบบผสมแนวทดลอง) ตลก Marry is Happy, Marry is Happy หนังสะท้อนชีวิตประจำวันของคนยุคติดโซเชียลมีเดีย อย่าง ทวิตเตอร์ ที่มีวิธีการนำเสนอต่างไปจากหนังดราม่าแบบสามองก์ แบบที่ ผู้กำกับนวพล เรียกหนังตัวเองว่า "เป็นหนังรีทวีตเรื่องราว"

และ "ที่มาของแหล่งทุน" สนับสนุน จนถึง การจัดจำหน่ายในแบบ "จำกัดจำนวนโรง" ทั้งเงื่อนไข งบประมาณประชาสัมพันธ์จำกัด และ เนื้อหาที่อาจจะจำกัดความสนใจเฉพาะคนดูกลุ่มย่อย รวมไปถึง การมีนักแสดงนำ ที่ "ไม่ใช่ดารา" เข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ตั้งวง เป็น แนววัยรุ่น-ตลกร้าย เล่าเรื่องเด็กนักเรียนม.ปลายที่พยายามหาทางแก้บนพร้อมกับคำถามต่อสังคมและชีวิตปัจจุบันของพวกเขา

เป็นงานที่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี นักเขียนบทและผู้กำกับ นักแต่งเพลง อาศัยทุนอิสระในการทำงานหนังเรื่อง และมีบริษัทอำนวยการสร้างในเมืองไทยเป็นบริษัทมือใหม่ในวงการภาพยนตร์ แต่ผลงาน ที่เป็นแนวหนังตลกร้ายเล่าชีวิตวัยรุ่นแบบไม่มีหน้าตาดาราเป็นจุดขาย แต่ทำให้มือสมัครเล่น ที่เริ่มงานแสดงเป็นครั้งแรกอย่าง ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ (ตั้งวง) ได้เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชาย ชิงกับทีมนักแสดงขโมยซีนจาก "พี่มาก..พระขโนง" ที่เข้าชิงถึง 3 คน ณัฏฐพงศ์ ชาติพงศ์ พงศธร จงวิลาส อัฒรุต คงราศรี และ ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต จากหนัง จันดารา ปัจฉิมบท

ขณะที่ พัชชา พูนพิริยะ และ ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย ก็เป็นหน้าใหม่ที่ได้เข้าชิงนักแสดงนำหญิงและสมทบหญิง (ตามลำดับ)จากผลงาน เรื่อง Mary Is Happy, Mary Is Happy ซึ่งรวมทุกสาขาที่เข้าชิงแล้ว หนังรีทวีตเรื่องยาวเรื่องนี้ได้ชิงสูงสุดเป็นอันดับสองถึง 10 สาขา โดยมี พี่มาก...พระขโนง เข้าชิงสูงสุด 13 สาขา จากที่การมอบรางวัลทั้งหมด 16 สาขา

คุณสมบัติของภาพยนตร์เข้าร่วมประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ “สุพรรณหงส์” ต้องเป็นภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 31ธันวาคม ของแต่ละปี โดยต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชั้น 1 ต่อเนื่อง อย่างน้อย 7 วันขึ้นไป

ภาพยนตร์นอกกระแส อย่างเรื่อง สาวคาราโอเกะ ของ ผู้กำกับวิศรา วิจิตรวาทการ เสนอในแนวสารคดีผสมดราม่า ที่เล่าเรื่องจริงผสมกับการเสนอสาระผ่านละครชีวิตของสาวทำอาชีพนักร้องคาราโอเกะในวัยรุ่น ได้เข้าชิงในสาขา เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ความเห็นจากผู้บริหารโรงภาพยนตร์ ที่มีโครงการจัดฉายหนังแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือการจัดฉายเฉพาะบางโรงบางโลเกชั่น ไม่เปิดฉายวงกว้างอย่างภาพยนตร์กระแสหลักนั้น ได้อธิบายว่า ไม่เพียงจะพิสูจน์ว่าได้รับการยอมรับด้านเนื้อหาเท่านั้นแต่กลุ่มภาพยนตร์นอกกระแส ยังสามารถจับกลุ่มผู้ชมตามหัวเมืองอย่าง ขอนแก่น เชียงใหม่ ได้ดีพอสมควร และในเชิงเนื้อหาแล้ว การมีภาพยนตร์นอกกระแสเข้าฉายช่วยให้คนดูได้มีทางเลือกและได้เข้าใจหนังมากขึ้น

"ทุกวันนี้หนังไทยมันใกล้เคียงกับละครทีวี แต่การมีหนังเอ็กซ์คลูซีฟว์ (นอกกระแส) จะทำให้คนดูได้เห็นหนังแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น และทำให้คนดูกล้าที่จะตัดสินใจดูหนังมากขึ้น"

งานพิธีประกาศผลและมอบรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จะมีขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช พัทยา


-------

รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 23 ทั้ง 16 สาขา

1.ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ประชาธิป'ไทย (บริษัท แตงกวา มาโตกราฟ จำกัด)

ตั้งวง (บริษัท นอร์ธ สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด)

เกรียน ฟิคชั่น (บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด)

Mary Is Happy, Mary Is Happy (บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด)

พี่มาก..พระโขนง (บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด)

2.ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

บรรจง ปิสัญธนะกุล (พี่มาก..พระโขนง)

เป็นเอก รัตนเรือง (ประชาธิปไทย)

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (เกรียน ฟิคชั่น)

คงเดช จาตุรันต์รัศมี (ตั้งวง)

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

3.ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม

ณเดชน์ คูกิมิยะ (คู่กรรม)

พัทธดนย์ จันทร์เงิน (เกรียน ฟิคชั่น)

ชินวุฒ อินทรคูสิน (ทองสุก 13)

จิรายุ ละอองมณี (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ (Love Syndrom รักโง่ๆ)

4.ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

อภิญญา สกุลเจริญสุข (ฮาชิมะ โปรเจกต์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่ )

ดาวิกา โฮร์เน่ (พี่มาก..พระโขนง)

ลลิตา ปัญโญภาส (ประโยคสัญญารัก)

พัชชา พูนพิริยะ (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

สุทัตตา อุดมศิลป์ (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

5.ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ณัฏฐพงศ์ ชาติพงศ์ (พี่มาก..พระโขนง)

พงศธร จงวิลาส (พี่มาก..พระโขนง)

อัฒรุต คงราศรี (พี่มาก..พระโขนง)

ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (จันดารา ปัจฉิมบท)

ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ (ตั้งวง)

6.ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

บงกช คงมาลัย (นางฟ้า)

รฐา โพธิ์งาม (นางฟ้า)

ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

ลักษณ์นารา เปี้ยทา (เกรียน ฟิคชั่น)

เจนจิรา จำเนียรศรี (เกรียน ฟิคชั่น)

7.บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

มนชยา พาริชสาส์น, วรกร วีระกุล, วิลาสินี เรืองประจวบกุล, คิมหันต์ กาญจนสมใจ, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค (Love Syndrome รักโง่ ๆ)

นนตรา คุ้งวงษ์, บรรจง ปิสัญธนะกุล, ฉันทวิชช์ ธนะเสวี (พี่มาก..พระโขนง)

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, นิวรุจ ฑีฆะโภวรรณ (เกรียน ฟิคชั่น)

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

คงเดช จาตุรันต์รัศมี (ตั้งวง)

8.ถ่ายภาพยอดเยี่ยม

นฤพล โชคคณาพิทักษ์ (พี่มาก..พระโขนง)

สยมภู มุกดีพร้อม (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

ไพรัช คุ้มวัน (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

พนม พรมชาติ (จันดารา ปัจฉิมบท)

ม.ร.ว.อัมพรพล ยุคล, ศรันย์ ศรีสิงห์ชัย (ตั้งวง)

9.ลำดับภาพยอดเยี่ยม

ธรรมรันต์ สุเมธศุภโชค (พี่มาก..พระโขนง)

ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

แมกส์ เทอร์ซ (ประชาธิป'ไทย)

มานุสส วงสิงห์, กมลธร เอกวัฒนากิจ (ตั้งวง)

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, จิรศักดิ์ จักรวาฬ (เกรียน ฟิคชั่น)

10.ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์, หัวลำโพงริดดิม (พี่มาก..พระโขนง)

โสมสิริ แสงแก้ว (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์, อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร, วงเยลโลแฟง (ตั้งวง)

ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ (จันดารา ปัจฉิมบท)

วิชญ วัฒนศัพท์, หัวลำโพง ริดดิม (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

11.เพลงประกอบยอดเยี่ยม

“สาวคาราโอเกะ” - น้ำฝน ภักดี โดย อ.คัมภีร์ แสงทอง (สาวคาราโอเกะ)

“ฮิเดโกะ” - ยูซูเกะ นามิคาวา โดย วิชญ์ วัฒนศัพท์ (คู่กรรม)

“เยียวยา” โดย ทศพร อาชวานันทกุล (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

“ยังบาว” โดย คาราบาว (ยังบาว)

“แดดลมฝน” - วงเสือโคร่ง โดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, สุภวัชญ์ เตชะชัย (เกรียน ฟิคชั่น)

12.บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม

อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร, ฑีฆะเดช วัชระธานินท์, ไพสิษฐ์ พันธุ์พฤษชาติ (ตั้งวง)

ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา (ต้มยำกุ้ง 2)

เจตพล คาน (บอดี้สแลมนั่งเล่น)

บริษัท กันตนา ซาวน์ สตูดิโอ จำกัด (เกรียน ฟิคชั่น)

บริษัท กันตนา ซาวน์ สตูดิโอ จำกัด (พี่มาก..พระโขนง)

13.กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

พัฒน์ฑริก มีสายญาติ (จันดารา ปัจฉิมบท)

อรรคเดช แก้วโคตร (พี่มาก..พระโขนง)

ราสิเกติ์ สุขกาล (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

ราสิเกติ์ สุขกาล (ตั้งวง)

สฤษดิ์ นูมหันต์ (เกรียน ฟิคชั่น)

14.เทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม

พิเชษฐ วงศ์จันทร์สม (พี่มาก..พระโขนง)

อาภรณ์ มีบางยาง (ทองสุก 13)

มนตรี วัดละเอียด (จันดารา ปัจฉิมบท)

มนตรี วัดละเอียด (คู่กรรม)

เมธาพันธ์ ปิติธันยพัฒน์, อมฤต โชคปรีชา (Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย)

15.ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม

สุธี เหมือนวาจา (พี่มาก..พระโขนง)

วรธน กฤษณะกลิน (คู่กรรม)

อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ (จันดารา ปัจฉิมบท)

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ (ตั้งวง)

ภีม อุมารี (Mary Is Happy, Mary Is Happy)

16.เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม

บริษัท ชาสี่ จำกัด (ทองสุก 13)

บริษัท คัลเล่อร์ บอย ฟิล์ม แอนด์ โพสต์ เซอร์วิส (คู่กรรม)

บริษัท เซอร์เรียล สตูดิโอ จำกัด (ต้มยำกุ้ง 2)

บริษัท กันตนา โพสต์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (ฮาชิมะ โปรเจกต์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่)

บริษัท โอเรียลทัล โพสต์ จำกัด (พี่มาก..พระโขนง)

กติกาใหม่

กติกาใหม่ของรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ที่เดิมถือคำตัดสินของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด ปรับเป็นผลคะแนนต้องมาจาก 2 ฝ่าย นับคะแนนจากคณะกรรมการตัดสินร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 คิดจากผลโหวตของคนในวงการภาพยนตร์เป็นเกณฑ์ใหม่ในระบบ R + O หรือ Referees System และ Open Vote สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ แห่งชาติ" "พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551" ของกระทรวง วัฒนธรรมได้นิยามคำว่า วีดิทัศน์ ให้หมายรวมอุตสาหกรรมด้านแอนิเมชัน เกม และ คาราโอเกะ เข้ามารวมด้วย ในปัจจุบันสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเป็นที่รวมตัวของสมาคมผู้ประกอบการภาพยนตร์และวีดิ-ทัศน์ทั้งสิ้น 20 สมาคม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mpc.or.th