ดอยหลวงเชียงดาว มหัศจรรย์แห่งขุนเขาและฟากฟ้า

ดอยหลวงเชียงดาว
มหัศจรรย์แห่งขุนเขาและฟากฟ้า

“เชียงดาวเปรียบเสมือนสวรรค์ที่มีอยู่จริงเลยนะ”

เสียงเพื่อนร่วมทริปเอ่ยขึ้นขณะกำลังเดินขึ้นทางลาดชันที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,500 เมตร ณ เวลานั้น คำเปรียบเปรยดังกล่าวมันช่างขัดแย้งกับสภาพเส้นทางที่เดินอยู่เป็นอย่างมาก ชนิดที่ว่าคนฟังฟังแล้วยังจินตนาการไม่ออกว่าเป็นอย่างไร

ได้แต่แหงนมองไปยังจุดที่สูงที่สุดตามที่คนนำทางได้ชี้บอกอย่างกังขาว่าในที่ยากลำบากอย่างนี้นะหรือจะพานพบสรวงสวรรค์บนนั้น?

ก้าวแรกของผู้พิชิต

นี่ไม่ใช่การเดินทางขึ้นมาเชียงใหม่ครั้งแรก แต่สิ่งที่ทำให้การมาเชียงใหม่ครั้งนี้น่าตื่นเต้นไปกว่าทุกครั้งก็คือการได้มาแบบแบ็กแพ็กเกอร์พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 7 คน ขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวที่มีความสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สูงถึง 2,225 เมตร รองจากดอยอินทนนท์ซึ่งสูง 2,565 เมตร และดอยผ้าห่มปกซึ่งสูง 2,285 เมตร

เมื่อก้าวเท้าลงจากรถ บขส. เหลือบดูนาฬิกาข้อมือ เป็นเวลาตีห้าสิบสองนาที มาถึงอำเภอเชียงดาวซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 70 กิโลเมตร อุณหภูมิขณะนั้นอยู่ที่ 17 องศาเซลเซียส ยังเหลือเวลาอีกพักใหญ่กว่าฟ้าจะสาง เราจึงแวะพักเอาแรงที่โรงแรมเชียงดาวอินน์กันสักหน่อย ก่อนที่จะออกเดินทางไปยังสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่ แต่หมอกยังลงหนาตลอดทางไปตลาดสด ขณะกำลังเดินไปยังตลาดสดตอนเช้าเราก็ได้เห็นวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ตื่นขึ้นมาทำมาหากินกันตั้งแต่เช้ามืด ช่วงที่เราไปมีการแข่งวิ่งมาราธอนของเด็กๆ ในโรงเรียนละแวกนั้นเป็นแนวยาวไม่ขาดสาย มีผู้คนออกมายืนคอยตักบาตร เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่นานๆ จะได้เห็นสักที เมื่อเดินมาถึงตลาดสดเราก็ซื้อหาเสบียงสำหรับการขึ้นเขา 3 วัน 2 คืน เสบียงที่เตรียมไปส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง เช่น หมูยอทอด หมูหยอง ไส้อั่ว ข้าวเหนียว ผักใบเขียว เนื้อทอดแดดเดียว เครื่องแกงสำเร็จรูป แล้วแต่ว่าอยากจะกินอะไรก็หาเตรียมกันไป

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมสรรพ ก็มุ่งสู่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จากสำนักงานเขตฯ ต้องนั่งรถต่อเข้ามาอีกประมาณ 20 กิโลเมตรจึงจะถึงจุดเดินเท้า เราได้ติดต่อคนท้องถิ่นเพื่อนำทางขึ้นดอยรวมถึงติดต่อลูกหาบเอาไว้แล้วล่วงหน้าจำนวน 4 คน ปกติการขึ้นดอยทุกครั้งจะต้องติดต่อทางสำนักงานฯ ล่วงหน้า 15 วัน เนื่องจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจำกัดเวลาท่องเที่ยวเอาไว้แค่ช่วงวันที่ 1 พ.ย. ถึง 31 มี.ค. ของทุกปี เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังจำกัดจำนวนคนขึ้นดอยในแต่ละรอบอยู่ที่ 150 คน

เมื่อมาถึงจุดเดินเท้าขึ้นดอย ลุงคมสัน คนนำทางได้เดินมาแจ้งข่าวซึ่งฟังดูเหมือนข่าวร้ายอยู่สักหน่อย คือลูกหาบที่ทำการติดต่อไว้ไม่สามารถมาได้บางส่วน จึงทำให้แต่ละคนต้องแบกสัมภาระมากขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับอีกข่าวที่ทำให้ทุกคนเข่าแทบทรุด คือทางเดินสำหรับขาขึ้นที่เรียกกันว่าเส้นเด่นหญ้าขัดเกิดดินถล่มลงมาทำให้ต้องเลี่ยงมาใช้เส้นปางวัวซึ่งเป็นเส้นทางที่ชันมาก โดยปกติเส้นทางนี้มักจะใช้เป็นทางลง เมื่อไม่มีทางเดินให้เลือกมากนักก็จำต้องเริ่มออกเดินเท้ามุ่งสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว

ย่ำไพร ตะกาย (เชียง) ดาว

ความยากลำบากกำลังจะเริ่มขึ้นต่อจากนี้ ทำให้อดนึกถึงวรรณกรรมอย่างเรื่องเพชรพระอุมาขึ้นมาไม่ได้ ความตื่นเต้นเริ่มก่อตัวอีกครั้ง เรื่องราวของการเดินทางเข้าป่าจะเป็นเหมือนในนิยายหรือไม่ จะยากลำบากสักเพียงใด จะเดินไปถึงจุดหมายไหม หรือจะเดินหลงทางไหม ความคิดทั้งหลายประดังเข้ามาแต่ก็คงต้องหยุดความคิดไว้แค่นั้น เมื่อเสียงคนนำทางบอกให้เตรียมออกเดินทาง อย่างที่ทราบกันว่าเส้นทางปางวัวค่อนข้างชันในช่วงแรก เพียงแค่ออกเดินเท้าได้ไม่เกินสิบนาทีก็ทำเอาเหนื่อยหอบกันแล้ว ต้องพักเกือบทุกสิบนาที ในใจขณะนั้นเริ่มคิดถอดใจ ไม่อยากไปต่อแล้ว ทางอะไรจะชันได้ขนาดนี้ จะตกลงไปตายไหม ความเหนื่อยและหวาดกลัวเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ว่าแล้วก็รีบอาราธนาพระที่ห้อยคออยู่ออกมาอธิษฐานว่าขอให้การเดินทางครั้งนี้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีอันตรายใดเกิดขึ้นเถิด แล้วก็เดินต่ออย่างไม่ปริปากบ่นใดๆ ออกมาให้เพื่อนๆ ได้ยิน

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาราธนามาให้ปกปักรักษาแล้ว อุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าสำคัญมากสำหรับการเดินขึ้นดอยครั้งนี้เพราะทำให้สะดวกขึ้นมากนั่นก็คือ “ไม้เท้า” ที่คนขายของร้านเดินป่าแนะนำให้ซื้อติดมาด้วย แม้จะมีของดีช่วยเหลือมากมายแต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องช่วยเหลือตนเองก่อนด้วยการเตรียมความพร้อมของร่างกาย ควรออกกำลังกายมาก่อนล่วงหน้าสัก 1 เดือนเพื่อให้ร่างกายมีความพร้อม โดยเฉพาะการฝึกกำลังขาให้สามารถเดินทางในระยะไกลและชันได้ เมื่อมาถึงระดับความสูงที่ประมาณ 1,100 เมตร เราก็ต้องพบกับเส้นทางลาดชันยาวเกือบ 300 เมตร

ผ่านทางลาดชันก็จะเจอเส้นทางราบซึ่งโอบล้อมด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ สลับกับเนินหินเป็นช่วงๆ ความสูงอยู่ที่ระดับ 1,400 เมตร จุดนี้เองที่เราถึงกับหายเหนื่อยเมื่อพบสิ่งที่กลายเป็นขวัญใจเหล่านักเดินป่าจนต้องหยุดถ่ายภาพกันอยู่นานสองนาน สิ่งซึ่งทำให้คณะเดินทางดูมีชีวิตชีวาขึ้นก็คือของหายากอย่าง “ดอกเทียนนกแก้ว” ดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายนกแก้ว ดอกเล็กๆ ที่พบเห็นส่วนใหญ่จะมีสีขาวเหลือบชมพู ปกติจะบานราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็นกันง่ายๆ เพราะดอกเทียนนกแก้วอยู่บนภูเขาสูงและมีที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น เดินต่อไปอีกหน่อยเรายังพบดอกบัวทอง ลักษณะสีเหลืองทองบานชูช่อออกมาจากแง่งหินอีกด้วย

ลุงคมสันเอ่ยขึ้นว่าเมื่อมีดอกไม้หายากแล้วก็ต้องมีสิ่งที่คู่กับดอกไม้หายาก นั่นก็คือผีเสื้อที่มีชื่อว่า “สมิงเชียงดาว” คนนำทางยังเล่าอีกว่าสมัยก่อนดอยหลวงเชียงดาวเป็นแหล่งที่อยู่ของผีเสื้อชนิดนี้ มีชาวบ้านไม่น้อยขึ้นดอยมาเพื่อคอยจับสมิงเชียงดาวไปขาย ซึ่งราคาในตลาดตอนนี้ถ้าใครหามาขายได้ก็คงกลายเป็นเศรษฐีเลยทีเดียว ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลกนี้ ไปแล้วเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2525-2527 สาเหตุหลักคือเพราะสูญเสียที่ถิ่นที่อยู่อาศัยและพืชอาหาร

เวลา 13.10 นาที เราเดินทางมาถึงสามแยกซึ่งเป็นจุดที่เส้นปางวัว เส้นเด่นหญ้าขัด และทางขึ้นไปยังอ่างสลุง (ยอดดอยหลวงเชียงดาว) มาบรรจบกัน จุดนี้สูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร เราแวะพักรับประทานอาหารที่เตรียมกันมา ที่ตรงนี้ทำให้ได้รู้จักกับคณะนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากการที่ได้พูดคุยกับน้องๆ นิสิตทำให้ทราบว่าดอยหลวงเชียงดาวนั้นยังเป็นแหล่งดูนกที่น่าสนใจมากแหล่งหนึ่งอีกด้วย นกที่เด่นของที่นี่คือ นกไต่ไม้ใหญ่ นกปีกลายตาขาว นกจาบปีกอ่อนเล็ก นกปรอดหงอนปากหนา เป็นต้น ทุกคนพูดคุยกันสักพักก็ออกเดินทางต่อ เราเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงก็มาถึงบริเวณดงน้อยซึ่งอากาศเริ่มเย็นลงอีก อุณหภูมิอยู่ที่ 14 องศา แสงแดดเวลาบ่ายแก่ๆ ขณะนั้นไม่สามารถช่วยบรรเทาความหนาวเย็นได้แม้แต่น้อย

เมื่อหลุดออกมาจากดงน้อยจะพบว่าขณะนี้เราอยู่กลางหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 1,800 เมตร มองออกไปยังจุดนี้จะเห็นเทือกเขายาวเหยียดสลับซับซ้อน ตั้งตระหง่านเรียงรายกันอยู่ เช่นดอยสามพี่น้อง ดอยหนอก ดอยพีระมิด รูปร่างลักษณะต่าง ๆ และสูงต่ำไม่เท่ากัน แต่มีเขาอยู่ลูกหนึ่ง ตั้งตระหง่านสูงโดดเด่นประหนึ่งจะเสียดยอดแทงทะลุฟ้าขึ้นไปนั่นคือ “ยอดดอยหลวงเชียงดาว”

มหัศจรรย์แห่งขุนเขาและฟากฟ้า

15.46 น. หลังจากเดินเท้ากันมา 5 ชั่วโมงเราก็มาถึงบริเวณอ่างสลุงซึ่งเป็นจุดกางเต็นท์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 เมตรอุณหภูมิอยู่ที่ 13 องศา ทันทีที่วางกระเป๋าสัมภาระตัวของเราก็ทรุดลงไปนั่งกับพื้นด้วย ผู้เขียนนึกขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้ยังอยู่รอดปลอดภัยมาถึงจุดนี้ได้ เรานั่งพัก จัดข้าวของเข้าเต็นท์ และเริ่มเตรียมทำอาหารเย็นกัน ใกล้ 17.00 น. ลุงคมสันก็มาแจ้งให้เตรียมเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยอดดอยสูงสุด” มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 2,225 เมตร ความยากลำบากยังคงไม่สิ้นสุด เนื่องจากเส้นทางที่ขึ้นยอดดอยสูงสุดนั้นมีระยะทางประมาณ 700 เมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 40 นาที ลักษณะเป็นภูเขาหินปูน เส้นทางลาดชันมากเพราะต้องเดินไปตามแนวสันเขา อีกทั้งอากาศที่เริ่มเย็นลงอยู่ที่ประมาณ 12 องศาขณะนั้นยิ่งทำให้มีโอกาสลื่นสูง เป็นอีกครั้งที่ไม้เท้าช่วยเป็นหลักไม่ให้ลื่นล้มหงายหลังลงไป

ระหว่างทางขึ้นนั้นมีสิ่งที่ทำให้เพลินตาอยู่ไม่น้อย คือแม้ดอยหลวงเชียงดาวมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน แต่ตามซอกหินปูนเหล่านั้นกลับพบกับดอกไม้นานาพรรณ อาทิ ดอกเหยื่อจง ดอกเอื้องนางเทียน ดอกอ้อมดอย ขึ้นแซมอยู่เป็นช่วงๆ ท่ามกลางลมหนาวและหินปูนแห้งๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เป็นความสวยงามซึ่งหาชมได้ยากนัก ขณะนั้นเราต้องเร่งฝีเท้าเนื่องจากพระอาทิตย์ใกล้ตก แต่ความสูงชันก็ทำให้การปีนขึ้นยากลำบากไม่น้อย อากาศเริ่มเย็นลงจนเราได้แต่ภาวนาในใจขออย่าให้ขาเป็นตะคริวเลย ผู้เขียนอาศัยกำลังใจจากคำพูดของเพื่อนว่าใกล้จะถึงแล้วจึงมีแรงฮึดเดินต่อ ไม่กี่อึดใจก็ขึ้นไปถึงจุดที่สูงที่สุดบนยอดดอย โชคดีที่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน

วินาทีที่เงยหน้าขึ้นมองบริเวณโดยรอบหลังจากพักพอหายเหนื่อย ผู้เขียนก็ถึงกับตกอยู่ในภวังค์ไปครู่ใหญ่ ผืนป่าทอดตัวกว้างสุดลูกหูลูกตา ความยิ่งใหญ่ของภูเขาที่เรียงรายสลับทับซ้อนไล่สีเป็นชั้นๆ จากเขียวอ่อน สีเขียวแก่ และเป็นสีดำในที่สุด ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนจากสีครามไล่มายังเส้นขอบฟ้าตัดกับเส้นสีทองอร่ามเหลือบสีแดงฉานปลายยอดเขา ณ จุดที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลาลับ เป็นความงดงามแสนมหัศจรรย์ ความเหนื่อยล้าหายเป็นปลิดทิ้ง มันช่างคุ้มค่ากับความยากลำบากที่ต้องแลกมา นั่งซึมซับความงดงามของธรรมชาติอยู่สักพัก รู้สึกตัวอีกทีอุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 8 องศา ลุงคมสันเดินมาบอกว่าเจอดอกกุหลาบขาวเชียงดาว ซึ่งทั่วทั้งเขาขณะนั้นมีอยู่เพียงแค่ช่อเดียวและอยู่ตรงหน้าผา ทำให้การไปถ่ายภาพนั้นอันตรายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ได้ภาพถ่ายมาเป็นรางวัล

อาหารค่ำของวันนี้เป็นแกงเลียง ปลานิลทอด และหมูหยอง เมื่ออิ่มหนำกันแล้วก็มานั่งพักดื่มด่ำบรรยากาศกันต่อ ไฮไลต์ที่ต้องขอนำเสนอในยามค่ำคืน คือการชมดาว เคยเข้าป่ามาก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยเห็นดาวที่ไหนเต็มท้องฟ้าได้ขนาดนี้ แสงดาวพร่างพราวระยิบระยับราวกับอัญมณีล้ำค่าทำให้ความมืดของผืนฟ้าดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา หมู่ดาวต่างๆ เรียงรายกันให้ผู้คนได้จินตนาการ เส้นทางช้างเผือกทอดยาวราวกับเงินยวง สมกับที่ได้ชื่อว่า ดอยหลวงเชียงดาว

หมู่วิหคส่งเสียงร้องก้องไปทั่วผืนป่าปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล ขณะนั้นเป็นเวลา 04.10 นาที อุณหภูมิอยู่ที่ 8 องศา ไม่นานนักเสียงฝีเท้าก็เข้ามาใกล้เต็นท์ที่พักพร้อมกับเสียงปลุกจากลุงคมเพื่อให้เราเตรียมขึ้นดอยกิ่วลมไปชมพระอาทิตย์ขึ้น การเดินทางอย่างหนักเมื่อวานไม่ได้ทำให้คนในคณะเดินทางรู้สึกเหนื่อยล้าเลยแม้แต่คนเดียว กลับสดชื่น และตื่นตัวกันอย่างเต็มที เมื่อทุกคนทำภารกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อย คนนำทางก็ออกเดินพาขึ้นไปยังยอดดอยกิ่วลม ซึ่งเป็นยอดดอยที่เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้น

ดอยกิ่วลมมีลักษณะเป็นสันเขาหินปูน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ความชันพอๆ กับยอดสูงสุดของดอยหลวงเชียงดาว ความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 2,140 เมตร การขึ้นยอดดอยกิ่วลมช่วงหัวรุ่งนั้นลำบากกว่าปกติ ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เนื่องจากยังมืดกอปรกับหมอกที่ลงหนาจัดเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น และเวลาเช้ามืดก็มีออกซิเจนน้อยกว่าเวลากลางวันจึงทำให้เหนื่อยง่ายกว่า เราใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ในการขึ้นสู่ยอดดอย ขณะนั้นเป็นเวลา 5.20 น. หมอกยังหนาตาอยู่มาก อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 6 องศา ต้องอาศัยช่องหินเพื่อหลบลมแรงและความหนาวเย็น เสียงน้ำร้อนในกาเดือดดังขึ้นท่ามกลางความเงียบ ระหว่างรอให้พระอาทิตย์ขึ้นอยู่นั้น ลุงคมช่วยต้มน้ำเพื่อชงกาแฟมาจิบบรรเทาความหนาวเย็นกัน

06.00 น. แล้ว ทุกคนยังนั่งกอดเข่าเฝ้ารอการมาของพระอาทิตย์อย่างใจจดใจจ่อ มารู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงดังขึ้นมาว่า “ฟ้าเปิดแล้วๆ” ยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูเวลา 07.03 น. การรอคอยสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อม่านหมอกรอบกายหายไป วินาทีที่แสงอาทิตย์สาดลงมาเป็นลำนั้นก็ทำให้เห็นความมหัศจรรย์ของมวลทะเลหมอกสีขาวราวกับปุยนุ่นฉาบด้วยแสงสีเหลืองทองลอยเกลื่อนเต็มผืนฟ้า ตัดกับปลายทิวเขาสลับกันเป็นฉากหลังไกลสุดลูกหูลูกตา

เป็นอีกครั้งที่รู้สึกเหมือนต้องมนต์สะกดอยู่ในภวังค์ความงามของธรรมชาติ ครู่ใหญ่ ก็มีเสียงลอดออกมาจากริมฝีปากคำแรกโดยไม่ทันรู้ตัวว่า...

“สวรรค์! นี่มันสวรรค์ชัดๆ” และนั่นเองทำให้นึกไปถึงคำพูดของเพื่อนร่วมทริปขึ้นมาได้

ใช่แล้ว “ดอยหลวงเชียงดาวเป็นเหมือนสวรรค์ที่มีอยู่จริง” จริงๆ ด้วย

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเหมือนเล่นกล เพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้นภาพแสงสีทองที่ฉาบทะเลหมอกก็หายไป เกิดเป็นภาพใหม่ เป็นสีสันของรุ่งอรุณแห่งการเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง มวลทะเลหมอกสีขาวนวลสะอาดตายังปกคลุมขุนเขาทั้งลูกเหลือไว้แต่ปลายยอดเขาสีเขียวขจีที่โผล่ออกมา บรรยากาศเหล่านี้เป็นอีกภาพของความงดงามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้นมาให้แก่โลก ความมหัศจรรย์ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เมื่อฟ้าเปิดเต็มที่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คืออาณาจักรพันธุ์ไม้ เรียงรายอยู่ตามสันเขา ทั้งดอกหนาดขาว หญ้าดอกลาย ดอกฟ้าคราม ฟองหินเหลือง ดอกแสงแดด ดอกเหยื่อเลียงผา หรีดเชียงดาว และดอกขาวปั้นซึ่งเป็นดอกไม้อีกพันธุ์ที่หาดูได้ที่นี่ที่เดียวในโลก และนี่ก็เป็นความอิ่มเอมของหัวใจที่เกิดขึ้น ณ ขุนเขาและฟากฟ้าแห่งนี้

คำกล่าวที่ว่า ยิ่งสูง ยิ่งหนาว คงไม่ผิดนัก และแม้จะหนาว แต่ความสำเร็จแสนล้ำค่าก็รอเราอยู่ที่ปลายทางอันสูงชันเช่นกัน อุปสรรคและความยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราก็คงจะเหมือนกับภูเขา ทว่าถึงอย่างไรภูเขาก็สูงไม่เกินเข่าของเราเอง สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดคำนึงขณะยืนทอดสายตาออกไปยังขุนเขาและฟากฟ้าบนผาหินของยอดดอยหลวงเชียงดาวเพื่อมาดูพระอาทิตย์ขึ้นอีกครั้งก่อนจะเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร