"ไร่ดินดีใจ"นักสร้างความสุขให้ผืนดิน

"ไร่ดินดีใจ"นักสร้างความสุขให้ผืนดิน

วิถีเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้มีแต่คนใช้ที่มีความสุข แม้แต่ผืนดินที่เพาะปลูก ก็ยังยิ้มได้ด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ

ผลิตภัณฑ์จากถั่วเขียว ที่ปลูกโดยวิถีธรรมชาติ แปลงร่างเป็นแชมพูสระผมไร้ฟอง ผงถั่วเขียวสำหรับล้างหน้าและ
ชำระผิวกาย ประทับตรา “ไร่ดินดีใจ” ออกเดินทางจากไร่ ไปทักทายลูกค้าคนไทยมาได้ประมาณ 8 ปี แล้ว

แม้ลูกค้าของพวกเขาจะไม่ใช่มหาชนคนส่วนใหญ่ แต่เพียงยังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่รักและใส่ใจในธรรมชาติ คอยให้การสนับสนุน ก็นับเป็นยาชูกำลังชั้นดีที่หล่อเลี้ยงธุรกิจและอุดมการณ์ไว้ได้จนถึงทุกวันนี้

“กำพล กาหลง” และ “หทัยชนก อินทรกำแหง” คู่สามีภรรยา ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ “ไร่ดินดีใจ” ผลิตภัณฑ์จากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ใน ต.เขากวาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ยังคงทักทายลูกค้าด้วยรอยยิ้ม และดูจะเป็นภาพคุ้นตา เมื่อชาวไร่ดินดีใจหอบหิ้วผลิตภัณฑ์จากไร่ ไปออกงานแสดงสินค้าตามที่ต่างๆ เพราะสิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการขาย คือได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับเพื่อนมิตรหัวใจสีเขียว

ว่างจากการขาย “หทัยชนก” แวะมาบอกเล่าเรื่องราว หลายปีก่อนเธอทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ขณะที่สามี “กำพล” เป็นที่รู้จักดีในฐานะคนทำหนังสือ วรสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ในวันที่ตั้งครรภ์ ทั้งสองคนเริ่มคิดหันหลังให้เมืองหลวง เพื่อให้ลูกได้เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้ กอรปกับกำพลมีไร่อยู่ที่อุทัยธานี และสนใจในเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิม ทั้งสองจึงเริ่มลงมือเปลี่ยนผืนดินที่มีให้งดงามขึ้นด้วยวิถีธรรมชาติ

จากนั้นก็คิดว่าจะปลูกอะไรดีที่จะแปรรูปอย่างง่ายๆ จึงเริ่มจากปลูกงาเพื่อมาทำน้ำมันงาขาย พอต้องหมุนเวียนเปลี่ยนการใช้หน้าดิน เพื่อที่จะปรับปรุงดิน เลยปลูกถั่วเขียวต่อจากงา

“ปีแรกที่ปลูกถั่วเขียว ก็ไม่ได้คิดจะทำอะไร แต่พอไปขายพ่อค้าคนกลาง ก็โดนกดราคามาก เพราะถั่วเราไม่สวย มันเป็นอินทรีย์ เมล็ดเลยกระดำกระด่าง คนอื่นเขารับซื้อกันถังละ 300 บาท แต่ให้เราแค่ 150 บาท ด้วยความที่เคยทำงานด้านนี้มา เลยคิดว่าทำไมต้องยอมกับระบบแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมเลย นั่นคือที่มาของการคิดแปรรูปถั่วเขียวเป็นผลิตภัณฑ์”

เวลาเดียวกับการได้รับทราบข้อมูลจากคุณหมอด้านธรรมชาติบำบัดในต่างประเทศ ที่ใช้ผงถั่วเขียวดูแลคนไข้ที่มีปัญหาด้านผิวแพ้ง่าย โดยสรรพคุณของถั่วเขียวคือ สามารถชะล้างความมันออกโดยไม่ทำให้ผิวแห้ง ลดการอักเสบ ดีกับคนที่มีปัญหา ผิวแพ้ง่าย หรือเป็นสิว

ทั้งสองคนลองผิดลองถูก หาวิธีแปรรูปผงถั่วเขียว แล้วเริ่มจากลองทำใช้กันเอง พอใช้ดี และคนรอบข้างก็แฮปปี้ เลยเริ่มทำออกขาย โดยใช้แบรนด์ “ไร่ดินดีใจ” ผลิตภัณฑ์จากบ้านไร่ดินดีใจ เปิดตัวสู่ตลาด

“อย่างตอนที่ทำน้ำมันงา เราไม่มีแบรนด์ ต้องขายเป็นลิตรๆ ซึ่งกว่าจะได้น้ำมันงามาก็ยากมาก แล้วคนที่รับซื้อก็ยังต่อราคาอีก รู้สึกเลยว่าเขาไม่ได้สนใจหรอกว่ามันเป็นอินทรีย์หรือเปล่า แต่สนใจแค่ว่า ราคาเท่าไร เพราะฉะนั้นเราควรจะอธิบายมันด้วยตัวเอง เลยเริ่มทำแบรนด์ และทำฉลากขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ใช้”

ข้อมูลอัดแน่น บรรยายอยู่เต็มฉลาก ตอบคำถามและความสงสัยของผู้ที่ซื้อไปใช้ และทุกครั้งที่ไปออกงานแสดงสินค้าแนะนำตัวเอง ก็ยอมใช้เวลาไปกับการอธิบาย เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจในผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของพวกเขา
“บางคนก็ถามว่าใช้แล้วจะแพ้ไหม มีปัญหาไหม ก็พยายามบอกว่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยคุณควรจะดีใจนะว่ามันไม่มีสารเคมี ซึ่งช่วงแรกก็ต้องอธิบายตัวเองเยอะมาก พยายามบอกทุกคนว่ามันดีกับตัวเขาและดีต่อสิ่งแวดล้อม”

หลังมีสินค้าคลอดออกมาก็เริ่มไปฝากขายตามร้านกรีนต่างๆ ส่วนหนึ่งก็อาศัยเพื่อนมิตรเครือข่ายสีเขียว ชักชวนไปออกงานเพื่อกระจายสินค้าและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงพึ่งพาโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์และเฟชบุ้ค “ไร่ดินดีใจ” เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ ใครสนใจก็พร้อมจัดส่งผ่านทางไปรษณีย์ให้ได้

หนึ่งข้อดีของการทำเว็บไซต์ คือ มีพื้นที่ให้อธิบายตัวเองได้มากขึ้น เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์

“ถั่วเขียว ถ้าเราปลูกแบบเคมีง่ายมาก หว่านไปหญ้าขึ้นก็ฉีดยาฆ่าหญ้า หนอนลงก็ฉีดยาฆ่าหนอน พอตอนจะเก็บเกี่ยวจะให้เมล็ดสวยก็ฉีดยาซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ตอหรือว่าเถาเหี่ยว เวลาเกี่ยวก็จะได้เมล็ดที่ดูมันและสวยขึ้น แต่เราปลูกแบบอินทรีย์ เก็บเกี่ยวแบบอินทรีย์ จะต้องใช้มือเก็บ ขั้นตอนต่างกันเยอะ คนใช้ก็ควรเข้าใจด้วยว่า ถ้าทำแบบเคมี มันจะมีผลกระทบอะไรกับเขาแค่ไหน”

เธอบอกว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คือเข้าใจในตัวสินค้ามากขึ้น เข้าใจความเป็นเกษตรอินทรีย์ จากปีแรกๆ ที่ต้องใช้เวลาไปกับการอธิบาย หลายปีต่อมาผู้คนเริ่มมาซื้อซ้ำและซื้อทีละมากๆ โดยไม่ต้องไถ่ถามสรรพคุณกันอีกแล้ว

จากผลิตภัณฑ์ไม่กี่ตัว ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น โดยมองจากผลผลิตในไร่ที่มีมาต่อยอดเป็นของน่าใช้ อย่างสีผึ้งทาปากจากน้ำมันงา และน้ำมันมะเพร้าว, น้ำมันงาบริสุทธิ์อินทรีย์, สมุนไพรสระและปรับสภาพผมและหนังศีรษะ สูตรใบหมี่ ส้มซ่า มะกรูด, ถุงหอมธรรมชาติ, ผงข้าวพอกหน้าเพื่อให้ผิวหน้าเย็นและกระชับผิวหน้า เป็นต้น

“ตอนกลับไปอยู่บ้าน หลักการเบื้องต้นที่คิดจะทำคือการพึ่งตัวเองให้ได้ โดยนอกจากอาหารแล้ว ควรตอบโจทย์การลดค่าใช้จ่ายเรื่องของใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เรารู้ว่าตัวไหนมีสรรพคุณอย่างไรก็ลองเอามาทำใช้ และทำให้มันดีขึ้น”
เธอสะท้อนมุมคิด ที่เริ่มจากความคิดอยากพึ่งพาตนเอง จนมาเป็นผลิตภัณฑ์จากความตั้งใจอย่างในวันนี้

ยังมีความหมายที่น่าสนใจ หลบซ่อนอยู่ในชื่อ “ไร่ดินดีใจ” หทัยชนก บอกว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่คนทำเท่านั้นที่มีความสุข แม้แต่ไร่ดินที่เพาะปลูกก็อิ่มสุขไปด้วยกับวิถีเดียวกันนี้

“ตอนแรกใช้ชื่อบ้านไร่สุขใจ เพราะคิดว่ากลับไปทำเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีความสุขแน่ๆ แต่ว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้สุขตลอดหรอก ก็มีทุกข์บ้าง สุขบ้าง แต่ดูแล้วดินมันดีขึ้นนะ ฟื้นขึ้นมา มีผึ้ง มีแมลงต่างๆ มาอยู่เต็มไปหมด และก็ดูมีความสุข เลยคิดว่าชื่อ ไร่ดินดีใจ น่าจะเหมาะกว่า เพราะเราอาจจะทุกข์บ้าง แต่อย่างน้อยดินก็ดีใจ”

การเป็นผู้ประกอบการสังคม เธอยอมรับว่า มันยากมากที่จะต้องอธิบายความเป็นตัวเอง แต่มีความสุขกว่าการทำสิ่งที่ไม่ดีแน่ เพราะไม่ต้องเมค ไม่ต้องเสแสร้ง ข้างในเป็นอย่างไร ข้างนอกที่เห็นก็เป็นอย่างนั้น..

“บางคนซื้อไปใช้แล้วส่งข้อความกลับมาขอบคุณ คิดเลยว่าถ้าเราไปทำอย่างอื่น ลูกค้าที่ไหนจะมาขอบคุณคนขาย คนขายสิต้องขอบคุณลูกค้า แต่งานนี้ มีเสียงขอบคุณจากลูกค้า ซึ่งก็ทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆ ต่อไป”

เธอบอกสิ่งที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ วิถีที่ไร่ดินดีใจ คนทำแฮปปี้ คนใช้ก็มีความสุข