‘แพร่โมเดล-บอมเบย์ เบอร์มา’ ต้นแบบอนุรักษ์บ้านโบราณ

‘แพร่โมเดล-บอมเบย์ เบอร์มา’ ต้นแบบอนุรักษ์บ้านโบราณ

ฟังความรอบด้าน กรณีการรื้ออาคารอายุกว่า 100 ปี ของบริษัท 'บอบเบย์ เบอร์มา' พลิกความสูญเสียให้กลายเป็นความตื่นรู้ สู่โมเดลการอนุรักษ์เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ

 

กรณีอาคารโบราณ อายุ 131 ปี สำนักงานบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma Treading Corporation) ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2432 หลังจากได้รับอนุญาตให้ทำสัมปทานป่าไม้ใน จ.แพร่ ที่บริษัทต่างชาติทิ้งไว้ให้เป็นอนุสรณ์บริเวณท่าน้ำบ้านเชตะวัน ถูกรื้อถอนทุบทิ้งทำลาย ตามประกาศโครงการปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แพร่ ของ สบอ.13 สร้างความเสียหายให้กับมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญ ไม่เพียงชาวแพร่เท่านั้น แต่ผู้รักในคุณค่าอาคารเก่าต่างต้องการคำตอบและทางออก เพื่อไม่ให้เกิด ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ ในที่อื่นอีก

 

  bbm

ภาพ : อดิศร ไชยบุญเรือง

  • ซ่อมแซมหรือรื้อถอน?

ป้ายประกาศติดไว้บอกว่า ปรับปรุงซ่อมแซม อาคารเก่า 125 ปี จังหวัดแพร่มอบอำนาจให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่โกสินทร์ก่อสร้างชนะการประมูล 4,560,000 บาท แต่สิ่งที่เห็นในขณะนี้คือซากปรักหักพังและกองไม้ ไม่มีอาคารใดๆ ตั้งอยู่ ธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธาน ‘ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่’ เปิดใจให้ฟังหลังประชาชนรวมกลุ่มไปยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดว่า

“เราเคลื่อนไหวในนามภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ ทุกภาคส่วน ทุกคนรู้สึกเสียใจ เสียดาย สิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ ที่ทำไปบอกว่าปรับปรุงซ่อมแซม กลายเป็นการรื้อทำลาย ทุบทิ้ง แบบแปลนก็ไม่มี แผนงานก่อสร้างไม่มี วัสดุต่างๆ ที่เป็นไม้ ก็ไม่แน่ใจว่ามันยังครบถ้วนหรือเปล่า เพราะไม่มีการจัดระเบียบ ลายฉลุต่างๆ กลายเป็นชิ้นๆ เลยครับ มันไม่น่าจะเกิดขึ้น เราได้ไปยื่นหนังสือขอดูบัญชีการจัดเก็บไม้ที่คุณรื้อมา เขาอ้างว่าวิศวกรไม่มา ไปตรวจสอบเอกสารว่ามีที่มาที่ไปยังไง ประชาชนตื่นตัวมากในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์บ้านเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ของภาครัฐ น่าจะทำเป็นตัวอย่างที่ดี สิ่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มาถึงเราเขาเก็บรักษาไว้ให้เป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ”

ไม่เพียงทำลายมรดกทางวัฒนธรรม ยังทำร้ายจิตใจคนแพร่อย่าง เชษฐา สุวรรณสา ประธานสภาวัฒนธรรม ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เขามองลึกไปกว่านั้นว่า อาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ “คนจ้องเอาผลประโยชน์มีอยู่แล้วในสังคมไทย คุณเชื่อป้ายตรงนั้นได้ไง จากประสบการณ์สอนให้เราไม่เชื่อ ต้องมีส่วนร่วมทันทีตั้งแต่เขาขึ้นป้าย ต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล มันเป็นภาษีประชาชน"

ในมุมของศิลปิน นักเขียน และผู้ที่นำสตอรี่ ‘แพร่แห่ระเบิด’ มาสร้างจุดขายของร้านกาแฟแห่ระเบิดจนประสบความสำเร็จ เขาบอกว่ากำลังวางแผนจะทำเรื่อง ‘กบฏเงี้ยว’ โดยมีอาคารหลังนี้เป็นพระเอก

"โมโหมาก โกรธมาก สะท้อนปัญหาภาครัฐรื้อทำลายทั่วประเทศ แฝงอยู่ในทุกๆ เมือง ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่จัดประชุมมุบๆ มิบๆ ที่ศาลากลาง แล้วประกาศออกมา มันไม่ถูก ประเด็นสำคัญคือ มีเรื่องของผลประโยชน์อยู่ในนี้หรือเปล่า ส่วนเรื่องรื้อโบราณสถาน จะต้องเอาผิดตรงนี้ให้ได้ คนผิดต้องรับผิดชอบ เอาไม้เก่ามาต่อคืนให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่มันรื้อ ต้องเอาผู้เชี่ยวชาญที่เก่งมากๆ มาทำ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาคนผิด ให้คนข้างนอก ประชาชน สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วต้องมีแถลงเป็นระยะๆ ไม่ใช่ออกมาบอกครั้งเดียวแล้วเงียบไป ต้องให้เป็นกรณีศึกษา อย่าทำอย่างนี้ในที่อื่นอีก นี่มันกรีดหัวใจคนแพร่เลยนะ”

ขณะที่ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์-นักกฎหมายภาคประชาชน เห็นว่า การกระทำแบบนี้ สามารถเอาผิดได้ในทางกฎหมาย “อาคารบอมเบย์เบอร์มา อายุเก่าแก่ 131 ปี เข้าองค์ประกอบเป็นโบราณสถาน แม้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย"

โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ระบุว่า ‘โบราณสถาน’ หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

"อาคารนี้สร้างตั้งแต่ปี 2432 มีอายุยืนนานมาก มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทำไม้มาแต่โบราณ ผู้ใดทำลาย​ ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า ต้องได้รับโทษตามมาตรา 32 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต้องตรวจสอบแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย”

 

bbm2

 

  • ตั้งใจหรือผิดพลาด?

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศาลากลาง จ.แพร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนัดหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจงกรณีรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มาที่มีข้อสงสัยว่าดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ กานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้แสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและว่าได้ประสานกับอธิบดีกรมศิลปากรเข้ามากอบกู้สิ่งที่สูญหายไปให้กลับมาเหมือนเดิมโดยใช้ไม้เก่าที่โดนรื้อถอนไปแล้ว โดยผู้ว่าฯจะเป็นผู้ขับเคลื่อนกอบกู้บูรณะร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน จังหวัดยืนยันว่า อนุมัติงบประมาณให้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงไม่ได้ให้ทำการรื้อถอนทุบทิ้งอาคาร หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

"เราจะบูรณะซ่อมแซมกอบกู้สิ่งที่เสียไปอย่างไร ให้ฟังจากกรมศิลป์ค่ะ”

ในส่วนของผู้รับเหมา ต่อศักดิ์ ลาภมาก ตัวแทนแพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ชี้แจงสาเหตุที่รื้อว่า สภาพบ้านก่อนรื้อเสียหายมาก “ได้มาสำรวจอาคารนี้ในแต่ละส่วนว่ามีอะไรบ้าง มีการปรึกษากับผู้ว่าจ้างในแต่ละขั้นตอนแต่ละส่วนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง สภาพภายนอกโดยรวมมีปลวกกิน เข้าใจว่าเป็นอาคารเก่า ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นอาคารอนุรักษ์ ขั้นตอนของเราจะทำตามผู้ว่าจ้างกำหนด คือเก็บรายละเอียดของอาคารก่อนดำเนินการ หลังจากนั้นสำรวจทุกจุดแล้วถึงจะเริ่มดำเนินการรื้อถอนในส่วนที่ใช้งานไม่ได้ออก แล้วหาวัสดุใหม่ทดแทน โดยใช้วัสดุเดิมเป็นตัวหลัก จากนั้นเอามาประกอบให้เป็นอาคารรูปทรงเดิม”

คำตอบนี้กลายเป็นคำถามที่ส่งต่อให้ ‘ผู้ว่าจ้าง’ หรือผู้รับผิดชอบโครงการฯ อิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำกับดูแลสวนรุกขชาติเชตวัน กล่าวว่า

"จากสภาพมันเอียง มันเก่า เป็นอันตรายต่อนักศึกษาที่มาเที่ยว เลยไปขอให้อาจารย์เทคนิคมาช่วยคิดช่วยออกแบบ ดูไป คิดไป ปรับปรุงซ่อมแซม ทำไปรื้อไป สำรวจไป ผู้ได้รับจ้างต้องมาพูดคุยกับหัวหน้าโครงการและผู้คุมงาน ในการตรวจสอบว่าจะทำอะไรต่อ ดูแล้วเป็นยังไงบ้าง จำเป็นจะต้องทำฐานรากไหม จะต้องทำอะไรก่อนหลัง เราดำเนินการไปตามกฎหมายตามขั้นตอนทุกอย่าง อะไรที่ผิดพลาด กรมอุทยานก็ได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง”

เรื่องนี้จึงย้อนกลับมาที่ผู้พิจารณาอนุมัติว่าจะรับผิดชอบอย่างไร โชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ขอแสดงความเสียใจ “กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอโครงการที่จะทำให้อาคารเก่าได้รับการฟื้นฟูแก้ไขคงสภาพอยู่ต่อไป เป็นประโยชน์ต่อทิศทางการท่องเที่ยว สำนักงานจังหวัดถึงมอบอำนาจ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นคงเข้าไปดูไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องการมอบอำนาจให้กรมอุทยานฯ ซึ่งมอบอำนาจต่อมาที่สำนัก 13 เป็นเรื่องความเห็นของทางสถาปนิกวิศวกรซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของเรา...

เราไม่สามารถที่จะไปดูแลได้ทุกที่ เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าผิดพลาด ณ วันนี้ก็คงจะต้องมาหาทางออกด้วยกันว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรเพื่อให้เราได้สมบัติที่ดีที่สุดกลับคืนมา”

 

  bbm3

 

  • อนุรักษ์หรือทำลาย?

จากสภาพของอาคารสำนักงานบอมเบย์เบอร์มาในขณะนี้ เหลือวิธีการอนุรักษ์ ‘ขั้นสุด’ เพียงวิธีเดียวคือการ ‘ปฏิสังขรณ์’ (Restoration) ไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า “อาคารนี้เข้าข่ายโบราณสถานชัดเจน กรมศิลปากรจะเข้ามาเก็บรายละเอียดเพื่อการบูรณะใหม่ในวันที่ 21 มิ.ย. ตามประสบการณ์ เรามีตัวอย่างบ้านหลุยส์ที่ลำปาง อันนั้นเขาทำซ่อมเปลี่ยน ไม่ได้ทำให้เสียหาย แต่กรณีบ้านสวนเชตะวัน น่าตกใจว่า ท่านทุบไปเลย มันเสียหายไปแล้ว เป็นบทเรียนในการอนุรักษ์โบราณสถานของแพร่อีกหลายๆ แห่งที่สำคัญ” 

แม้จะพังราบเป็นหน้ากลอง แต่ในความเห็นของนักโบราณคดีชำนาญการอย่าง สายกลาง จินดาสุข มองว่าการฟื้นอาคารให้มีหน้าตาเหมือนเดิมสามารถทำได้ แต่คุณค่าย่อมไม่เหมือนเดิม

“ก็ได้แค่ของก๊อบปี้ชิ้นหนึ่ง ความเป็นของแท้ดั้งเดิมของพื้นที่จะต้องมีองค์ประกอบครบ 5 ข้อ 1.สถานที่ยังเป็นที่เดิม คุณค่าอยู่ที่มันเป็นที่ตั้งของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา 2.วัสดุ ถ้าวัสดุเปลี่ยนคุณค่าเปลี่ยน คณะของกรมศิลป์จะมาลงพื้นที่ ประเมินศักยภาพวัสดุที่มีอยู่ เช่น กลอน ลูกบิดประตูทองเหลือง โคมไฟสมัย ร.5 ร.6 ต้องเก็บไว้เป็นจดหมายเหตุของสถานที่ วันข้างหน้าอาจใช้จัดนิทรรศการบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ 

3.ฝีมือเชิงช่าง เรายังไม่มีข้อมูลด้านนี้ ต้องดำเนินการร่วมกับประชาชนชาวแพร่ท่านไหนมีภาพถ่ายเก่า มีนักศึกษาท่านไหนเคยลงพื้นที่ ช่วยเอามาร่วมกันประกอบรื้อฟื้นอาคารนี้ 4.รูปแบบ เราต้องประกอบข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพื่อหาสัดส่วนที่ใกล้เคียงของเดิมที่สุด 5.จิตวิญญาณ ฟังก์ชั่นการใช้งาน หมายถึงเรายังใช้พื้นที่เพื่อสื่อถึงจิตวิญญาณเดิมของพื้นที่หรือเปล่า ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องป่าไม้และพฤกษ์ศาสตร์ ถ้าเรารักษา 5 ข้อนี้ไว้ได้เราก็สามารถฟื้นคืนมาได้ เพียงทุกท่านช่วยกัน”

ในส่วนของภาคประชาชน ข้อเสนอที่ ธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ได้ยื่นให้กับผู้ว่าฯมีดังนี้ 1.ให้หยุดการก่อสร้างทันที 2.ขอข้อมูลรายละเอียดที่มาของโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ผู้รับผิดชอบ 3. ขอให้ตรวจสอบผู้รับผิดชอบที่ทำการรื้อถอน 4.แผนการฟื้นฟู อาคารหลังนี้ 5. กระบวนการต่อไป ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน 

“อยากให้มีการฟื้นฟูบูรณะไวที่สุด ยิ่งนานไป ความสนใจก็น้อยลง เผลอๆ อาจหายไปกับกาลเวลา เมืองแพร่มีเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม มีรูปแบบอาคาร เรือนโบราณ เรือนไม้เก่า เรือนไม้ร้านค้า เรือนขนมปังขิง เรือนไม้ประยุกต์แบบอาณานิคม (ที่ถูกรื้อไป) เรากังวลมากที่สุดเลยว่าอาคารที่มีคุณค่าจะถูกทำโดยวิธีการอย่างนี้”

ส่วน เชษฐา สุวรรณสา เสนอว่า ต้องมีการวางวิสัยทัศน์ใหม่ “เมืองเก่า เมืองแพร่ควรจะเป็นไปอย่างไร ภาคประชาสังคมทั้งหมดต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราจะอนุรักษ์เมืองเก่าไปเพื่ออะไร เพื่อการอยู่ร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เกิดความภาคภูมิใจ เป็นต้นแบบให้กับเมืองเก่าทั่วประเทศไทย ต้องร่างกฎเกณฑ์ดูแลพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนว่า อะไรคือปรับปรุง ซ่อมแซม รื้อถอน ต้องมีประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า มีประชาพิจารณ์ ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วม คุณผิดกฎหมายเต็มๆ หน่วยงานอนุรักษ์ต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของกฎหมาย DSI กรมศิลป์ สมาคมสถาปนิก สื่อมวลชน ก็ต้องเข้ามาช่วยด้วย”

ในด้านการอนุรักษ์โบราณสถานนั้นจะมีอยู่ 3 ลำดับ คือ 1.สงวนรักษา Preservetive จัดการส่วนที่เสื่อมสลายนิดๆ หน่อยๆ 2.บูรณะ Restoration ซ่อมเสริมส่วนที่ชำรุดไม่แข็งแรง 3.ปฏิสังขรณ์ Restoration ทำกลับไปให้ใช้ดีดังเดิม ซึ่งอาคาร ‘บอมเบย์เบอร์มา’ อยู่ในลำดับสุดท้าย และจะต้องมี 5 องค์ประกอบของคุณค่าความเดิมแท้ร่วมด้วย บ้านเก่าหลังนี้จึงจะกลับมาได้อีกครั้ง