ขุมทรัพย์ 'อ่าวบ้านดอน' : ทะเลมีไว้ขาย นายมีไว้เก็บส่วย

ขุมทรัพย์ 'อ่าวบ้านดอน' : ทะเลมีไว้ขาย นายมีไว้เก็บส่วย

มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่าง 'ประมงพื้นบ้าน' กับ 'นายทุนคอกหอย' ที่ยืดเยื้อยาวนาน เบื้องหลังคือกลุ่มอิทธิพลและผลประโยชน์มหาศาลเหนือความอุดมสมบูรณ์ของ 'อ่าวบ้านดอน'

 

ทะเลของอ่าวบ้านดอนส่วนใหญ่ตื้นเป็นโคลนเลน เป็นเช่นนี้มานานแล้ว มีบันทึกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส เรือพระที่นั่งประสบปัญหาน้ำตื้นและโคลน แม้แต่ร่องน้ำจากปากน้ำตาปีเข้าไปที่ตัวเมืองบ้านดอนก็ตื้น สมัยก่อนโน้นคือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรือกลไฟโดยสารของอีสต์เอเชียติกชื่อว่า ‘เรือนริศ’ เรือโดยสารดังกล่าวยังต้องรอจังหวะน้ำขึ้นก่อนจะเข้าร่องมา

แม้จะเป็นอุปสรรคต่อเรือใหญ่ แต่ความตื้นและมีโคลนเลนก็มีประโยชน์ของมัน เพราะพื้นที่แบบนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานา ผู้เขียนเป็นเด็กเกิดที่บ้านดอน สมัยโน้นอาหารที่ราคาถูกได้ปริมาณมากก็คือ ‘หอยแครง’ ซื้อมาทีละมากๆ ผู้เขียนมีหน้าที่ขัดเปลือกหอยซึ่งแช่น้ำเกลือไว้ในกะละมังซักผ้า หอยที่ซื้อมาจากตลาดยังไม่ตายเต็มไปด้วยโคลนสีดำๆ ต้องแช่น้ำเกลือให้หอยคายสิ่งสกปรกออกมาก่อน

หอยแครงเติบโตในโคลนเลน กินพวกแพลงก์ตอน มายุคนี้ที่เขาบอกว่ากันคอกหอยเพื่อเพาะเลี้ยง มันคงไม่ได้เลี้ยงเองทั้งหมดหรอก เพราะธรรมชาติของอ่าวเป็นถิ่นหอยแครงอยู่แล้ว ก็เหมือนหอยนางรม แต่ก่อนมันก็เกาะตามโขดหินน้ำขึ้นลงธรรมชาติเลี้ยง สมญานามเมืองหอยใหญ่ของสุราษฎร์ฯ มาจากหอยนางรมตัวใหญ่มากๆ ยี่สิบกว่าปีก่อนยังตัวละ 5 บาท ส่วนหอยแมลงภู่ยิ่งมากมายก่ายกอง ชาวบ้านแซะเอาตามโขดหินชายทะเล ถนนในบ้านดอนหลายสายถมด้วยเปลือกหอยแมลงภู่ก่อนจะถึงยุคลาดด้วยยางมะตอย อ่าวยังสมบูรณ์ชาวบ้านที่เลือกได้มักจะไม่เก็บหอยแครงหรอก เพราะได้ราคาไม่ดีเท่ากับทำอย่างอื่น

จุดเปลี่ยนของเรื่องเกิดราวๆ ปี 2530 ยุคนั้นภาคใต้กำลังตื่นทำนากุ้ง ป่าชายเลนเมืองสุราษฎร์ฯเหี้ยนเตียนมากสุดก็ยุคนั้น แล้วก็เกิดมีเทคโนโลยีคราดหอยแครง โดยใช้เรือกำลังแรงลากคราดหอยซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดใหม่ของอ่าวบ้านดอน มันฮือฮามากเพราะตักขึ้นมาได้เต็มลำๆ กลุ่มที่เอามาเผยแพร่กลุ่มแรกคือ ชาวบ้านท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ คนท้องถิ่นเรียกว่าพวก ‘แขกท่าทอง’ คนกลุ่มนี้ตระเวนคราดหอยชายฝั่งตลอดแนวอ่าว ตั้งแต่ท่าฉาง พุนพิน เมือง กาญจนดิษฐ์ ไปถึงดอนสัก ร่ำรวยกันใหญ่เพราะของหาง่ายแถมได้มากๆ

นับจากนั้นมาคนก็เริ่มตื่นหอย (แครง)!

ก่อนนโยบาย ‘ซีฟู้ดแบงค์’ ของรัฐบาลไทยรักไทย อ่าวบ้านดอนเริ่มถูกจับจองเพื่อทำคอกหอยแล้วล่ะครับ คนเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องหอยแครงว่ามันอยู่ในชั้นโคลน และร่องน้ำแบบไหน มันโตอย่างไร มีการส่งตัวอย่างโคลนให้กรมประมงที่ไปวิเคราะห์หาแพลงก์ตอนให้ด้วยซ้ำไป

แต่ละหย่อมอำเภอมีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ซึ่งก็หนีไม่พ้นผู้มีอิทธิพลพอจะมีบารมีในพื้นที่เป็นหัวหอกดำเนินการ นิสัยคนปักษ์ใต้นั้นดุ ยิ่งในทะเลคนยิ่งดุ ใช้กฎทะเล นี่เป็นแบบแผนที่เขาถือกันมาแต่ยุคปู่ย่าตาทวด และการจับจองทะเล ไม่ใช่จู่ๆ ไปปักปันกันเขตแล้วก็ได้สิทธินั้นเลย มันมีธรรมเนียมที่ชาวบ้านด้วยกันรู้กันเอง ว่าแถวนี้พวกจับเคย(กุ้งเล็กทำกะปิ)จับจองอยู่นะ แถวนี้พวกบ้านนี้มักลงลอบลงอวน การจะครองครองได้ต้องพิสูจน์พลังของหมู่คณะนั้น แบบเดียวกับกฎของคาวบอยบุกเบิกตะวันตกนั่นล่ะ

วัฒนธรรมพื้นถิ่นปักษ์ใต้นิยมคนใจใหญ่ใจถึงและต้องมีพวก และมีนายที่ใหญ่อยู่ข้างหลังอีกทอดถึงจะอยู่ได้ อ่าวบ้านดอนจึงเริ่มถูกจัดสรรเป็นหย่อมๆ อันที่จริงมันก็มีพื้นที่ถูกกฎหมายที่รัฐอนุญาตให้ทำได้ แต่พื้นที่ดังกล่าวมีไม่มากหรอก แบบเดียวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดินนั่นล่ะ

โฉนดมีน้อย เหยียบย่ำทำกินปากเปล่ามีมากกว่า คอกหอยถูกต้องมีน้อย ส่วนใหญ่ก็ปักกันเอง ครอบครองอ้างสิทธิ์เอาเอง

 

20200610121806358

 

เมื่อมีการปักปันก็เริ่มมีขนำ คำว่า ‘ขนำ’ ที่จริงต้องอยู่ในนา แต่นี่อยู่กลางทะเล มีไว้เฝ้าหอย เพราะฤดูคราด กุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมยาว 4 เดือน เงินทั้งนั้นหากไม่ถือปืนเฝ้า บอกแล้วว่าดินแดนคืบทะเลศอกทะเลเขาวัดกันด้วยความเกรงใจ เป็นเรื่องปกติของการพกปืนเฝ้าขนำ ยุคนี้มีแพปั้นจั่นรับจ้างตอกเสาเข็มเป็นเรื่องเป็นราว เขาไปเหมาซื้อเสาไฟฟ้าจาก กฟภ. มารับจ้างปัก ค่าเสากับค่าปักเท่าๆ กัน เมื่อก่อนต้นละ 1.1 หมื่น ใช้ 6 เสา การจะมีขนำแบบพื้นๆ ไม่วิลิศมาหราในทะเลต้องมีเงินแสน ส่วนแบบที่เป็นข่าวหลายล้าน

นโยบายซีฟู้ดแบงค์ของรัฐบาลไทยรักไทย เปิดช่องให้คนที่ปักปันจองทะเลได้อ้างสิทธิ์การมาถึงก่อน แม้ปัจจุบันรัฐจะยังไม่มีการรับรองใดๆ แต่การรวมกลุ่มเป็นชมรมเพาะเลี้ยงฯ และการปักปันถือเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลตรงนั้นโดยปริยาย

ว่ากันว่าคอกหอยขนาด 100 ไร่ บางฤดูทำเงินแตะ 8 หลัก แต่ละกลุ่มแต่ละมุ้งก็ต้องวิ่งหาลูกพี่ ซึ่งหนีไม่พ้นคนมีสี คนมีอำนาจมาหนุนหลัง เวลาเจรจากับนายฝ่ายอื่นเขาได้เกรงใจ พวกนักเลงท้องถิ่นเด็กๆ ที่เฝ้าขนำได้ถือปืนหน่อยก็กร่าง ภาษาใต้เรียก “เอิด” เรือหาปลาชาวบ้าน พวกชาวประมงขนาดเล็กแล่นผ่าน พวกยิงขู่ ยิงขึ้นฟ้าอ้างว่า ให้รู้มีคนอยู่ กระทบกระทั่งมายาวนานเกิน 10 ปี ยิ่งนานไป คอกหอยยิ่งขยาย จากแสนไร่เป็นสองแสนสามแสนไร่ ประมงขนาดเล็กชายฝั่งยิ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล จากที่ออกไปแค่ 1-2 ก.ม. จากฝั่งก็หากินได้ กลายเป็นต้องไป 5-6 ก.ม. เปลืองน้ำมันไปอีก

การจับจองทะเล ซึ่งเปรียบกับที่สาธารณะทำมาหากินเป็นของตัวนานเป็นสิบปี ตามข่าวสารที่ออกมา ลำพังกำนัน 3 คน ทำไม่ได้หรอกครับ มันต้องดูไปถึงเครือข่ายเบื้องหลัง

หมดฤดูคราดหอยคือราวๆ มิถุนายน แต่ละคอกรู้แล้วว่าปีนี้ร่ำรวยได้กำไรเท่าไหร่ หัวขบวนของแต่ละเขต จะเรียกเก็บส่วยส่งนาย คอกนี้สามหมื่น คอกนี้ห้าหมื่นเพื่อส่งให้นาย เขาว่าส่งให้นายหน่วยงานสำคัญว่าด้วยการรักษากฎหมาย แต่ก่อนปีละ 2 ล้าน ขึ้นมา 3 ล้าน นี่คือเขตอำเภอเดียวนะ ...แต่ละปีเฉพาะนายตำแหน่งนั้นน่าจะกินไปสิบกว่าล้านบาท ส่วนตำแหน่งอื่นในระดับอำเภอ ก็ลดหลั่นกัน

ทะเลมีไว้ขาย นายมีไว้เก็บส่วย!

ปัญหาคอกหอยและการจับจองทะเลอ่าวบ้านดอนดังขึ้นอีกรอบ เพราะมีแรงกระเพื่อมจากกฎหมายใหม่ พรก.ประมง 2558 จะจัดการสิ่งที่ไม่เรียบร้อย แล้วก็จะรับรองสิทธิ์ให้กับเขตที่รัฐอนุญาต อันนี้ก็เงินเหมือนกัน

ประมาณว่าจู่ๆ มีข่าวรัฐจะแจกโฉนดนั่นล่ะ ฝุ่นก็เลยฟุ้งทะเล ปั่นป่วนกันไปทุกฝ่าย

ปัญหาเรื่องนี้แก้ผิวๆ ไม่ได้ ต้องจัดระเบียบจริง หน่วยที่จัดระเบียบต้องมีอำนาจเต็ม แบ่งให้คณะนี้อย่าง อีกคณะอย่างไม่ได้หรอกครับ เพราะทะเลคือทรัพยากรและผลประโยชน์ชาติ ที่ดีควรรื้อสะสางใหม่ทั้งระบบ ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายรวมทั้งประมงชายฝั่งมีส่วนด้วย 

ถ้ารัฐไม่เอาจริง เรื่องนี้ยังไม่จบ... อะไรที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ ไม่จบง่ายๆ