ปลดล็อก 'โควิด-19' แล้วต้องเจออะไร

ปลดล็อก 'โควิด-19' แล้วต้องเจออะไร

ประเทศอื่นปลดล็อกกันแล้วเจออะไรบ้าง ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้การผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ของไทยประสบความสำเร็จด้วยดี

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว และหลายประเทศก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ถึงขนาดที่บางวันมีตัวเลขเป็นศูนย์ (อย่างเช่นประเทศไทย) ทำให้เราเริ่มเห็นประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการปลดล็อกให้ประชาชนได้หายใจหายคอจากการที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านกันมาหลายเดือนบ้างแล้ว

 

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ หากปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน ธุรกิจกิจการหลายประเภท เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ถูกปิดมาแล้วหลายเดือน ทำให้มีคนตกงานนับหมื่นนับแสนคนทั่วประเทศ

 

ทว่า การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม แม้จะยังไม่ได้เป็นการปลดล็อกทั้งหมด ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ตามมา แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าเช่นนั้นเราตามไปดูประเทศต่าง ๆ ที่เขาปลดล็อกกันแล้วว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมามีอะไรบ้าง

 

ต้นแบบการปลดล็อก

เริ่มต้นกันที่ประเทศจีน ซึ่งปิดเมืองอู่ฮั่น สถานที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นที่แรกในโลก เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม ก่อนจะค่อย ๆ ทยอยประกาศใช้มาตรการคุมเข้มตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

 

หลังจากถูกปิดไปกว่า 2 เดือนแล้วเคสผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ ทางการจีนก็ประกาศปลดล็อกเมืองต่าง ๆ ท่ามกลางการเฝ้าระวัง และพร้อมที่จะกลับมาประกาศใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การไฟเขียวให้โรงหนังทั่วประเทศกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่แล้วในอีก 3 วันให้หลังก็กลับมาสั่งปิดอีกครั้งหลังจากที่พบเคสผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในระดับที่น่าเป็นห่วง

 

ล่าสุด ทางการจีนก็เพิ่งสั่งปิดเมือง Shulan ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีประชากรราว 7 แสนคน แล้วบังคับใช้มาตรการเข้มงวดแบบเดียวกับที่ใช้ในเมืองอู่ฮั่น นั่นคือ สั่งปิดหมู่บ้านทุกแห่ง และบริเวณที่พักอาศัย ห้ามออกไปไหนเด็ดขาด โดยแต่ละครอบครัวสามารถส่งตัวแทนออกมาจับจ่ายซื้อของจำเป็นได้ 2 ชั่วโมง ทุก 2 วัน

 

การปิดเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ ซึ่งมีต้นตอมาจากผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีประวัติเคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือติดต่อสัมผัสกับคนติดเชื้อมาก่อน โดยตอนนี้มีคนถูกกักตัวไว้ดูอาการอยู่หลายร้อยคน ทำให้เมือง Shulan กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโควิด-19 แห่งใหม่ของประเทศจีนไปโดยปริยาย

 

ผับ...ยังอันตราย

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียของเราอย่าง เกาหลีใต้ เพิ่งได้เริ่มลิ้มรสชาติของการปลดล็อกบางส่วนไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องเจอเข้ากับการระบาดรอบ 2 อันเนื่องมาจากมีผู้ป่วยโควิด-19 คนหนึ่งออกไปตระเวณเที่ยวผับหลายแห่งในย่านอิแทวอน (Itaewon) ย่านบันเทิงยามค่ำคืนชื่อดังในกรุงโซล ทำให้มีนักเที่ยวติดเชื้อตามกันไปมากถึง 168 คน จนทางการต้องประกาศเรียกตัวคนร่วม 5,500 คน ที่ไปย่านอิแทวอนในช่วงระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 6 พฤษภาคม ให้เข้ารับการตรวจเชื้อโดยด่วน

 

กรณีนี้กลายเป็นเรื่องร้อนระอุในเกาหลีใต้ แต่หลังจากตรวจผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไปเกือบหมดแล้ว ทางการก็คลายใจเพราะผลลัพธ์ออกมาไม่เลวร้ายอย่างที่คิด แต่ถึงกระนั้นก็ต้องมีการปรับมาตรการปลดล็อกกันใหม่ เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก อาทิ สั่งปิดสถานบันเทิงอย่างไนท์คลับ บาร์ โดยไม่มีกำหนด ชะลอแผนเปิดโรงเรียนออกไปหนึ่งสัปดาห์ แต่สำหรับอาคารสำนักงาน สนามกีฬา หรือสถานที่สาธารณะอื่น สามารถกลับมาเปิดได้ตามปรกติแล้ว

 

นักเรียนติดเชื้อ 70 คน

ข้ามไปที่ฝั่งยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากถึงกว่า 28,000 คน แต่รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะประกาศใช้มาตรการปลดล็อกไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นสองระยะ

 

ระยะแรกเป็นการยกเลิกการกักตัวที่บ้าน พร้อมทยอยเปิดร้านค้าต่าง ๆ (ยกเว้นบาร์ คาเฟ่ ร้านอาหาร) โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยม ให้เด็กกลับเข้ามาเรียนภายใต้เงื่อนไขที่ว่า แต่ละชั้นเรียนจะต้องมีเด็กได้ไม่เกิน 15 คน โดยมาตรการเหล่านี้จะเริ่มใช้ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดต่ำก่อน

 

แล้วถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ทางการฝรั่งเศสก็จะประกาศปลดล็อกระยะสองในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งคราวนี้จะเป็นการเปิดร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถูกมองว่ามีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า

 

หลังจากประกาศออกไปก็มีนักเรียนราว 30 เปอร์เซ็นต์กลับเข้ามาเรียนที่โรงเรียน เพราะทางการไม่ได้บังคับ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเลือกที่จะให้เด็กอยู่บ้านต่อไปได้ หากไม่แน่ใจในความปลอดภัยของลูก

 

แต่ถึงจะเตรียมมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเอาไว้แล้ว ผลปรากฎว่ากลับมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกี่ยวพันกับโรงเรียนต่าง ๆ ในฝรั่งเศสมากถึง 70 ราย ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากปลดล็อก และมีโรงเรียนอย่างน้อย 7 แห่งทางภาคเหนือถูกสั่งปิด

 

สำหรับเรื่องนี้ Jean-Michel Blanquer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศส ยังมองว่าระยะฟักตัวของไวรัสโควิด-19 นั้นกินเวลาหลายวัน ซึ่งก็ ‘มีความเป็นไปได้’ ว่าเด็กพวกนี้อาจติดเชื้อมาตั้งแต่ก่อนที่โรงเรียนจะเปิดแล้ว

 

000_1RW1Q8

นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากขณะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Galleria Borghese ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

Tiziana FABI / AFP

 

ปลดแล้วก็ล็อกใหม่ได้

จากเคสต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมื่อปลดล็อกแล้ว ทุกประเทศจะประสบปัญหายอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นตามมาทั้งสิ้น ทำให้ทางการต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และพร้อมที่จะกลับมาประกาศปิดล็อกอีกครั้งได้เสมอ

 

โดยนับถึงปัจจุบัน (19 พฤษภาคม 2563) มีอย่างน้อย 6 ประเทศที่หลังจากปลดล็อกไปแล้วต้องกลับมาประกาศมาตรการคุมเข้มกันใหม่เพราะเจอการระบาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน เยอรมนี อิหร่าน เกาหลีใต้ เลบานอน และซาอุดีอาระเบีย

 

แต่กลายกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งเป็นการล็อคดาวน์แค่เพียงบางส่วน และทำในบริเวณจำกัด ไม่ได้ล็อกดาวน์กันทั้งจังหวัด หรือทั่วประเทศเหมือนเช่นที่ผ่านมา

 

อย่างในกรณีของประเทศเยอรมนี หลังจากที่นางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก ประกาศปลดล็อกไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม แต่ปรากฎว่าอีก 2 วันต่อมาก็มีการพบเคสผู้ติดเชื้อใหม่ที่โรงงานบรรจุเนื้อในรัฐ North Rhine-Westphalia และรัฐ Schleswig-Holstein ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินออกมา แต่เป็นการบังคับใช้เฉพาะใน 3 ตำบลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ได้ประกาศใช้ทั่วทั้งรัฐ โดยมาตรการคุมเข้มที่ว่าก็มีทั้งจำกัดการเดินทางไปไหนมาไหนในที่สาธารณะ และสั่งการให้โรงงานทุกแห่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพนักงานทุกคน

 

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เป็นไปตามคำประกาศของนางแมร์เคิลที่บอกว่า เธอพร้อมเสมอที่จะ “แตะเบรกมาตรการฉุกเฉิน” เพื่อยับยั้งเสรีภาพที่ประชาชนเพิ่งได้รับ หากเกิดสถานการณ์จำเป็นขึ้นมา

 

ปลดล็อกเพื่อปากท้อง

ส่วนที่ อิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ของโลกที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องกลับมาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัด Khuzestan ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ใหม่ หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงไปอยู่ที่ราว ๆ 800 คนแล้ว แต่กลับทะยานขึ้นมาแตะระดับ 1,700 คนใหม่ โดยสาเหตุนั้นมาจากการที่ประชาชนไม่ยอมรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ปลดล็อกแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ทางการอิหร่านก็ยอมให้เปิดโรงเรียนที่อื่นได้แล้ว เพราะการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างรุนแรง โดยข้อมูลจาก Foreign Policy รายงานว่าเศรษฐกิจของอิหร่านหดตัวไปร่วม 15 เปอร์เซนต์ ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์

 

ด้วยแรงกดดันที่หนักหนาสาหัสในเรื่องเศรษฐกิจทำให้ประธานาธิบดีอัสซัน รูฮานีของอิหร่าน ตัดสินใจปลดล็อกมาตรการโควิด-19 บางส่วนในวันที่ 20 เมษายน แม้ว่าตอนนั้นประเทศจะยังมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นวันละร่วม 1,300 คนก็ตาม

 

ผ่อนปรนช่วงรอมฎอน

ส่วนที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทางการได้ประกาศปลดล็อกเป็นการชั่วคราวในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม แล้วจะกลับมาคุมเข้มกันอีกครั้งหลังจากที่เทศกาลนี้ผ่านพ้นไปแล้ว

 

การปลดล็อกนั้นเริ่มขึ้นในวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่เทศกาลรอมฎอน โดยชาวซาอุฯ ได้รับอนุญาตให้ออกจากเคหะสถานได้ในช่วงระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 . ขณะที่ร้านค้า และห้างร้านที่จำเป็นก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้

 

ผลจากการปลดล็อกดังกล่าวทำให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 1,600 คน ถึง 2,000 คน ทำให้ทางการซาอุฯ ตัดสินใจจะกลับมาประกาศมาตรการเคอร์ฟิว 5 วัน นับจากวันที่ 23 พฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากที่ชาวมุสลิมได้ฉลองเทศกาลอีดิลฟิฏรี (Eid-ul-Fitr) ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการออกศีลอดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

000_1RW1Q2

คนปารีสนำอาหารออกมานั่งกินข้างนอก พร้อมกับรับแดดไปด้วย ภายหลังจากที่ทางการสั่งปลดล็อก

ALAIN JOCARD / AFP

 

แน่นอนว่าเราไม่อาจสรุปได้ว่าหากประเทศไทยปลดล็อกแล้วจะเป็นเหมือนประเทศใดประเทศหนึ่งในนี้ เพราะแต่ละประเทศย่อมมีเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทั้งความพร้อมของบุคคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข หรือแม้แต่ความมีวินัยของคนในประเทศเอง

 

แต่อย่างน้อยการได้เห็นตัวอย่างของประเทศที่ลองปลดล็อกมาก่อนเราก็พอจะเป็นแนวทางให้ได้รู้ว่า เราจะต้องรับมือกับอะไร และมาตรการไหนได้ผล ควรค่าแก่การนำมาปรับใช้บ้าง