'โรคระบาดใหญ่' โศกนาฏกรรมมวลมนุษยชาติ

'โรคระบาดใหญ่' โศกนาฏกรรมมวลมนุษยชาติ

สังคมมนุษย์ผ่านโรคระบาดมานับไม่ถ้วน และทุกครั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่แพ้ 'สงคราม'

 

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โรคระบาดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมใหญ่พอๆ กับสงคราม เพราะโรคระบาดใหญ่ก่อให้เกิดคนตายไม่แพ้สงครามล้างเมือง

โรคระบาดกับสงคราม เปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้! 

นักประวัติศาสตร์ไทยจำนวนหนึ่งเชื่อทฤษฎีการเกิดเมืองอู่ทอง-กรุงศรีอยุธยา ว่ามาจาก กาฬโรค ที่แพร่ใหญ่ไปทั้งโลก จากเมืองจีนผ่านเส้นทางสายไหมบก-ทะเล ลามไปฆ่าคนมากมายตายถึง 1 ใน 3 ในยุโรปเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1300  โรคห่า ในตำนานเป็นโรคเดียวที่ระบาดจากสุดขอบเอเชียผ่านอาฟริกาเหนือไปยังยุโรปเมื่อครั้งกระโน้น การที่เกิดคนล้มตายมากๆ มีผลต่อโครงสร้างอำนาจเดิมอ่อนแอลง อำนาจใหม่เข้มแข็งขึ้น

ในยุคก่อนอยุธยา โลกเราเล็กลงแล้ว ทัพมองโกลขี่ม้าตะลุยข้ามทวีปจากตอนเหนือของจีนผ่านเอเชียกลาง เอเชียไมเนอร์ แวะลงไปถึงอินเดียเหนือข้ามไปยุโรป มาร์โคโปโลก็ปรากฏในยุคนั้น ยิ่งโลกเล็กลง โรคระบาดก็เดินทางเร็วขึ้น ดังนั้นทฤษฎีว่าด้วยกาฬโรคจากเมืองจีนลามไปถึงเมืองอู่ทองมีความเป็นไปได้สูง เพราะพ่อค้าจีนเดินทางในทะเลใต้มาก่อนเจิ้งเหอด้วยซ้ำ

โลกเล็กลง คนเดินทางไปมา โรคระบาดก็แพร่เร็วขึ้น!

โรคระบาดในประวัติศาสตร์น่ากลัวมาก แต่ละยุคสมัยมีโรคร้ายที่มนุษยชาติไม่รู้จัก กว่าจะคิดค้นตัวยารักษา ทำความรู้จักมันก็เกิดการสูญเสียไปมากมาย ไม่ใช่แค่กาฬโรค เอาแค่การปลูกฝีรักษาไข้ทรพิษก็เพิ่งมาคิดค้นได้ ตรงกับสมัยร.5 นี่เอง อาการเป็นตุ่มตามตัวรักษาไม่หายปรากฏในตำนานและประวัติของแต่ละชาติมากมาย ของไทยเรามี ‘ท้าวแสนปม’ ฝรั่งก็มี อย่างซีรี่ส์ Game of throne สร้างเรื่องราวของมนุษย์หิน ซึ่งที่แท้ก็คือกลุ่มคนที่ติดโรคฝีดาษ หนีจากสังคมไปรวมกลุ่มกัน แล้วก็มีตัวละครอัศวินคนหนึ่งสู้กับมนุษย์หินเกิดติดโรคนี้มา

มนุษย์เราพัฒนาความรู้ไล่ตามโรคระบาดมาโดยตลอด ไม่เคยเอาชนะได้จริง เมื่อสามารถชนะโรคนี้ได้ โรคใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก สิ่งที่มนุษยชาติทำได้ก็เพียงพยายามบรรเทาเบาบางปัญหานั้น แต่ก็มีไม่น้อยที่พ่ายแพ้ไป เมืองที่ถูกโรคระบาดถล่มใส่ในประวัติศาสตร์นี่ร้างไปเลย โรคร้ายถล่มเมืองอานุภาพไม่น้อยกว่าบอมบ์ด้วยปรมาณูนะครับ

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีทูตจากฝรั่งเศสชื่อ ‘ฟอร์บัง’ บันทึกเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ล้างเมืองทั้งเมืองระหว่างเดินทางกลับ เมืองนั้นชื่อว่า มะสุลีปัตนัม (ปัจจุบัน Machilipatnam เขตอันตระประเทศ) เป็นเมืองท่าใหญ่ เขาบันทึกว่า 

“เรืออยู่ห่างเมืองราวแปดร้อยเส้นเราได้เห็นเมฆดำหนามาลอยมาจากฝั่งจึงนึกว่าจะมีพายุใหญ่ เราจึงม้วนมัดใบเรือไว้ให้แน่นเพราะเกรงว่าเรือจะถูกพายุล่มจมลง แต่เมื่อเมฆนั้นลอยข้ามเรือของเราไปฝนตกลงมาเล็กน้อยแล้วก็มีแมลงวันตัวใหญ่ๆ พวกกะลาสีรำคาญมาก ไม่มีใครเลยไม่หนีไปซ่อนตัว ทะเลนั้นเต็มไปด้วยแมลงวัน บนเรือก็มีมากต้องตักน้ำมากกว่าร้อยถังมาล้างเรือของเรา ประมาณสักสี่ร้อยเส้นจากเมืองมะสุลีปัตนัม เรามองไปแลเห็นหมอกปกคลุมอยู่ เมื่อเรือเข้ามาใกล้หมอกนั้นก็แผ่กว้างออกไป หมอกที่เราเห็นก็คือฝูงแมลงวันนั่นเอง

เมื่อคณะทูตฟอร์บังขึ้นสำรวจก็พบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ภายใต้โรคระบาด ทำให้คนล้มตาย เมืองมีแต่กลิ่นเน่า ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อถอนสมอออกมาแค่สามวัน กะลาสีที่ลงเรือเล็กขึ้นฝั่งเกิดมีอาการป่วย ไม่นานกะลาสีที่ป่วยก็ล้มตาย ฟอร์บังบันทึกว่าโรคดังกล่าวคือกาฬโรค นี่ถ้าฝรั่งไม่บันทึกไว้ เราท่านคงนึกภาพไม่ออกว่าเวลาที่โรคระบาดถล่มเมือง สภาพความน่าสะพรึงเป็นเช่นไร เมืองที่ปกคลุมด้วยแมลงวันนับล้าน มองไกลๆ เหมือนเมฆดำปกคลุม ในยุคสมัยนี้เป็นได้แค่ภาพยนตร์สร้างขึ้น ทั้งๆ มันเกิดขึ้นมาแล้วจริงในอดีต

กรุงเทพฯ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2,3 และต้นรัชกาลที่ 5 ที่เกิดโรคป่วงระบาดใหญ่ ก็มีพรรณนาไว้ มีศพมากมายถูกทิ้งรอแร้งจิกกินที่วัดสระเกษ กว่าที่ความรู้เรื่องโรคและการสาธารณสุขเอาชนะอหิวาตกโรคได้จริงก็ยุคหลังแล้ว

ได้เกริ่นถึงโรคระบาด (เก่า) ในอดีตก็เพื่อพยายามจะเข้าใจสังคมโรคระบาด (ใหม่) ที่กำลังเกิด

อย่างที่บอกมนุษย์ไม่เคยเอาชนะโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จเลย เพราะมันเกิดมีใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อย ดังนั้นสังคมมนุษย์เราย่อมเกิดความกลัวต่อโรคที่ไม่รู้จักดีพอ ความกลัวที่ว่าไม่ใช่แค่กลัวเจ็บ กลัวตายแค่นั้นหรอก สังคมยุคใหม่ซับซ้อนขึ้นโรคระบาดใหญ่ๆ ที่ทำให้คนเจ็บตายเยอะๆ ยังนำมาซึ่งความกลัวชนิดอื่น 

ความกลัวของสังคมยุคนี้ไม่เหมือนกับสังคมที่กลัวโรคเรื้อน จึงต้องจัดการให้ผู้ป่วยโรคนี้แยกออกจากชุมชนปกติ หรือเมื่อราว 20 ปีก่อนที่โรคเอดส์แพร่มาใหม่ๆ ผู้คนล้มตายเพราะเอดส์ ความกลัวเอดส์ก่อให้เกิดการรังเกียจ แยกเขา-เราจากกลุ่มผู้ติดเชื้อ เป็นเพราะความไม่รู้จักเข้าใจโรค เมื่อสังคมได้รู้จักและเข้าใจโรคมากขึ้น ก็เลิกรังเกียจผู้ติดเชื้อ เออร์วิน “แมจิก” จอห์นสัน นักบาสเก็ตบอลชื่อดังยอมรับว่าตัวเองติดเชื้อมาตั้งแต่ 1991 ก็สุขสบายในสังคมต่อได้

ก็เลยไม่แปลกนักที่การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ ก่อให้สังคมเกิดอาการ “กลัว” ขึ้นมา ระยะแรกกลัวเพราะไม่รู้ แถมมีคนเอาเฟคนิวส์ คลิปตัดต่อมาเผยแพร่ทำเอาสังคมตกอกตกใจเข้าใจว่าล้มตายเป็นใบไม้ร่วง แต่เมื่อพ้นจากระยะกลัวเพราะไม่รู้ สังคมก็ยังกลัวอยู่ที่กลัวเพราะกลัวยุ่งยากเมื่อติดเชื้อ

แม้ว่าเชื้อนี้โอกาสตายน้อยก็ตาม ความยุ่งยากหากเกิดโรคของผู้คนสังคมยุคนี้เป็นที่เข้าใจได้ ครอบครัวเดี่ยวในเมืองหากพ่อหายเข้ารพ.สักคน แม่ลูกถูกกักดูอาการ แค่นี้รายได้การกินอยู่ต่างๆ วุ่นวายแล้ว และยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคเหลือลูกน้อยถูกกักล่ะ?

และไม่เพียงเท่านั้นอาการของโรคระบาดใหม่มีผลต่อสังคมยิ่งกว่ากลุ่มผู้เสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ ผลกระทบของมันเริ่มชัดเจนเป็นลำดับก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีกิจการที่ต้องทำใจเลยเช่น ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว คลับบาร์ร้านอาหาร กิจกรรมขนาดใหญ่ คอนเสิร์ต กีฬา สนามมวย ออร์กาไนเซอร์จัดอีเวนท์ อาจจะมีที่ยังพอหายใจได้คือห้างสรรพสินค้าที่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะคนกำลังตื่นกักตุนข้าวของอาหารเครื่องใช้

สมัยกลาง มาจนถึงยุคฟอร์บัง-พระนารายณ์ หรือกระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ การฟื้นคืนจากโรคระบาดก็คือทำให้เมืองร้าง ผู้คนถูกล้าง ผู้คนหนีออกจากเมืองชั่วคราว โรคเลยสงบลง

มายุคใหม่ผู้คนหนีไปไหนไม่ได้ แต่หลักการเมืองร้างก็ยังใช้ได้ผล การปิดเมือง หยุดการสัญจรและกิจกรรมใหญ่ๆ รวมไปถึง social distancing และ self-quarantine คือหลักการเดียวกับการยุติโรคระบาดในอดีตนั่นแล เพียงแต่เปลี่ยนจากอพยพจากเมืองมาเป็นหนีเมืองอยู่แต่ในบ้านตน เป็นสำคัญ 

ในบางเรื่องมันก็ดีนะ เช่นเกิดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ พฤติกรรมแย่ๆ หลายอย่างถูกเร่งรัดให้ดีขึ้น กินร้อน ช้อนกู รวมถึงการล้างมือและสุขอนามัยอื่น

เอ๊ะ! หรือว่าวงจรเมืองร้าง ที่แท้เป็นกลไกติดเบรกชะลอสังคมมนุษย์...ที่เราผ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน