รักนี้...ไม่จำกัดเพศ

รักนี้...ไม่จำกัดเพศ

มองความรักผ่านโลกวรรณกรรม จากอดีตที่เคยลับ สู่ปัจจุบันที่ทุกหัวใจเต้นจังหวะรักได้อย่างเปิดเผย

 

เมื่อโลกไม่ได้มีแค่ ‘หญิง’ และ ‘ชาย’ ตามเพศสภาพ ความรักจึงมีหลากหลายรูปแบบ เพียงแค่ในอดีตกรอบคิดและมายาคติต่างๆ จำกัดให้ ‘รัก’ ระหว่าง ‘หญิง-ชาย’ เท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และอื่นๆ กลายเป็นเรื่องหลบซ่อนเร้นลับ ทว่าในโลกของวรรณกรรมแล้ว เรื่องแบบนี้ถูกสอดแทรกไว้ให้รับรู้อยู่เสมอ ก่อนจะกลายเป็นเรื่องสามัญในยุคปัจจุบัน ที่ไม่เพียงนำเสนอความรักในมุมต่างได้อย่างเปิดเผย ยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง 

หากยังจำกันได้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์รักโรแมนติก ‘รักแห่งสยาม’ ของผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ได้สร้างกระแสความรักในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมานานในสังคมไทย ทว่ามักถูกกดทับและกีดกัน นับแต่นั้นมาความรักของเพศเดียวกันก็เริ่มถูกคลี่คลายเรื่อยๆ กระทั่งปี 2557 กับการมาของซีรีย์วายสัญชาติไทย ‘Love sick รักวุ่น วัยรุ่นแสบ’ ก็ปลุกกระแสความรักเพศเดียวกันขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมบันเทิงเข้ามาพัวพันกับวัฒนธรรมแฟนวายอย่างใกล้ชิด กระทั่งวันนี้กลายเป็นความบันเทิงส่งออกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ในโอกาสวันแห่งความรัก ‘จุดประกาย’ ชวนย้อนเส้นทางเรื่องรักซ่อนเร้นจากอดีตถึงปัจจุบัน ที่กลายเป็นเสน่ห์ของความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องนิยาม

 

รักลับๆ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเรื่องราวความรักที่ผิดแผกแปลกไปจากขนบธรรมเนียมอันดีถือเป็นปัญหาสังคมในสมัยนั้น คนกลุ่มนี้ถูกกีดกันและจำกัดสิทธิเสรีภาพในสังคม แม้แต่ทางกฎหมายซึ่งน่าจะเป็นความยุติธรรมเดียวที่หลงเหลือ กลับเลือกระบุว่าบุคคลที่เป็นชายไม่หญิงและหญิงไม่แท้ ที่ในสมัยนั้นใช้คำว่า ‘กะเทย’ หรือ ‘บันเฑาะก์’ เป็นบุคคลที่ไม่สามารถเป็นพยานในชั้นศาลได้ ตามกฎหมายตาสามดวง

ทั้งยังพบคำจำกัดความในพระไตรปิฎก หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา บัญญัติบุคคลที่ไม่สามารถบวชได้ คือ ชายที่ชอบประพฤตินอกรีตในการเสพกามและชายถูกตอนที่เรียกว่า ‘ขันที’ อย่างที่เคยเห็นในละครหลังข่าวของช่องน้อยสี

สู่ปฐมบทความรักเพศเดียวกันผ่าน ‘กลอนเพลงยาวของคุณสุวรรณ : ภาพสะท้อนรักร่วมเพศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น’ โดย รศ.อิงอร สุพันธุ์วณิช อาจารย์พิเศษคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกนำเสนอในงานเสวนาความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทยและฐานที่เปิดกว้าง (Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university)

 

เป็นที่รู้กันดีว่าผู้หญิงสมัยก่อนจะไม่ค่อยได้รับการศึกษาสูงนัก และถ้าได้อ่านงานวรรณกรรมสมัยก่อนหลายๆ เรื่องจะเห็นว่ามีการสะท้อนภาพความรักของเพศเดียวกัน งานวรรณคดีตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมา เช่น ยอพระเกียรติ รวมถึบกลอนทศมาสเล่มนี้ในหนังสือ ‘รัก สุข ทุกข์ โศก : ภาพสะท้อนวรรณกรรมไทยภาพอดีตจนถึงปัจจุบัน’

 

นับจากนั้นก็ไม่ค่อยมีการแสดงออกเรื่องความรักเพศเดียวกันผ่านวานวรรณกรรมออกมาเท่าไรนัก ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นขนบหรือเป็นสิ่งที่คนไม่อยากจะพูดหรือเป็นการไม่ยอมรับใดๆ ก็ตาม แต่คุณสุวรรณได้เปิดโลกแห่งวรรณคดี ให้เราได้มองเห็นว่าภาพของผู้หญิงที่รักกับผู้หญิงหรือผู้ชายที่รักกับผู้ชายนั้นเป็นอย่างไร

“คุณสุวรรณเป็นกวีหญิงในสมัยรัตนโกสินตอนต้น กลอนเพลงยาว 2 เรื่องของท่าน ผิดแผกไปจากกลอนเพลงยาวทั่วๆ ไป เพราะสะท้อนสังคมความเป็นไปของหญิงชาววังและความรักระหว่างหญิงกับหญิง กลอนเพลงยาวที่ว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง คือเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

ในยุคนั้นใช้คำว่า ‘เล่นเพื่อน’ นิยามเหตุการณ์ความรักของหญิงกับหญิง และคงไม่ใช่เรื่องแปลกนักในชนชั้นสูงยุคนั้น แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงสั่งสอนในคราวที่มีพระบรมราโชวาทพระราชทานพระเจ้าลูกเธอว่า “อย่าสูบฝิ่นแลอย่าเล่นผู้หญิงไม่ดีชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด” (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2508 : 15)

กลอนเพลงยาวที่พูดถึงเมื่อครู่ จึงเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์สังคมที่น่าสนใจ ในกลอนเพลงมีคำว่า สำออย ออเซาะ ช้อนคาง นั่งตัก คู่ชีวิต ฯลฯ ที่คุณสุวรรณเขียนขึ้น เล่าเรื่องราวความรักของสองตัวละครหลักคือ หม่อมสุด (คุณโม่ง) และหม่อมขำ (หม่อมเป็ดสวรรค์) ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวในสมัยนั้น

 

คู่รัก

 

จากวรรณกรรมสู่นิยายวาย

ล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้น งานวรรณกรรมความรักกับเรื่องเพศ เข้าถึงคนมากขึ้นผ่านงานเขียนที่เรียกว่า ‘นิยาย’ และให้คำจำกัดความนิยายประเภทนี้ว่า Boys Love (นิยายวาย) นำเสนอความรักของตัวละครหลักที่เป็นชายกับชาย ซึ่งความจริงแล้วมามีต้นกำเนิดมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น แนว Yaoi (ชายชาย) กับ Yuri (หญิงหญิง) ในยุค 80 โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากจินตนาการของผู้หญิง

‘นิยายวาย’ คือสื่อหนึ่งในการทำความเข้าใจว่าคนที่รักเพศเดียวกันไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากความรักทั่วไป และผู้หญิงที่เลือกเสพนิยายวายก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ พวกเธอเพียงข้ามพรมแดนที่กำเนิดขึ้นจากอคติของคนที่ไม่ยอมรับความแตกต่างเท่านั้น

เชื่อว่ายุคนี้คงจะไม่มีใครไม่รู้จักกับซีรีส์วาย แม้จะไม่เคยดูหรือไม่ชอบดู แต่คงผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เพราะนี่คือยุคที่ซีรีส์วายและคู่จิ้น และการมีอยู่ของสาววายนั้นก็ขยายตัวคู่กับสังคมไทยมานานนับสิบปี รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งจอเงินและจอแก้ว 

“ประเทศไทยนับว่าเป็นเมืองหลวงของวัฒนธรรมวาย”

ดร.นัทธนัย ประสานนาม ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาปรากฏการณ์วายในปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม โดยที่ใช้กรอบความคิดของ บูท (Paul Booth, 2015) เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมมาขยายการวิจัยวัฒนธรรมวายในบริบทไทยให้กว้างขึ้น เขาศึกษาจากผู้ผลิตซีรีส์วายรายใหญ่ในประเทศไทย และส่งซีรีส์โกอินเตอร์ในต่างแดนอย่างจีเอ็มเอ็มทีวี 

“จีเอ็มเอ็มทีวีขยายเครือข่ายแฟนผ่านอุตสาหกรรมหนังสือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมที่เด่นชัดคือ การเลียนแบบวัฒนธรรมแฟนโดยบริษัททำการชิปเองหรือจับคู่ศิลปินที่รับบทคู่วาย ผ่านภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่อ้างอิงเรื่องราวจากสื่ออื่นและรายการโทรทัศน์หรือ OPV ซึ่งปกติแล้วแฟนคลับจะเป็นคนทำ”

 

000

sotusS the sereis ซีรีส์วายจากค่ายจีเอ็มเอ็มทีวี ออกอากาศทางช่อง one 31

นอกจากนั้นยังขายกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความทรงจำที่คิดถึง ไม่ว่าจะเป็น fan meeting ต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยบริษัท ซึ่งเดิมทีแฟนจะเป็นผู้จัดขึ้นเอง พื้นที่กิจกรรมที่ว่าเป็นพื้นที่สำคัญแสดงให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในลักษณะที่อุตสาหกรรมเป็นผู้นำและแฟนเป็นผู้บริโภค ทั้งที่กิจกรรมดังกล่าวมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแฟน 

“แสดงว่าผู้ผลิตได้ศึกษาวัฒนธรรมแฟนมาอย่างดีจนจับไวยากรณ์มาทำตลาดเองได้ ความซับซ้อนก็คือ ปัจจุบันเราไม่รู้ว่า ใครเป็นคนซื้อและใครเป็นคนขาย คนที่ซื้อก็เหมือนซื้อในสิ่งที่ตัวเองเป็นคนทำ” 

ประเด็นที่ ดร.นัทธนัย เล่าว่ามักจะถูกถามเสมอเมื่อพูดถึงเรื่องทำนองนี้คือ ซีรีส์วายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกย์หรือไม่ ซึ่งคำตอบในเบื้องต้นคือ ‘ไม่ใช่’ เพราะมันเกิดจากจินตนาการของผู้หญิงในฐานะผู้สร้างและผู้เสพ ยิ่งถ้าได้ดูซีรีส์หรืออ่านนิยายมันจะมีความเอาตัวเองออกมาจากคำว่า ‘เกย์’ เสมอ เห็นได้จากประโยคบอกรักที่ว่า “เราไม่ได้ชอบผู้ชาย เราแค่ชอบนาย” ที่มักจะถูกฉายผ่านซีรีส์วายมานักต่อนัก จะเห็นว่าความสัมพันธ์ที่โลดแล่นอยู่จะไม่พูดถึงอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเกย์เลย เช่น การนัดเดท การไปเที่ยวกลางคืน แต่จะปรากฏในซีรีส์เรื่อง ‘GayOk Bangkok’ หรือ ‘Friend Zone เอา ให้ ชัด’ เนื่องจากว่าผู้ผลิตไม่ได้ใช้ไวยากรณ์ของวายมาครอบแต่ใช้วัฒนธรรมของเกย์แทน ซึ่งนี่คือความต่างที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคคนละแบบ 

 

มายาคติชายรักชาย  

เช่นเดียวกับ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศผ่านงานวิจัยหัวข้อ ‘การสถาปนาบุรุษเสน่หา (Androphilia) ในนิยายวายเดือนเกี้ยวเดือน’ ที่ถูกแต่งขึ้นโดยนักเขียนผู้หญิง (นามปากกา Chiffon-Cake) เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaiboyslove เมื่อปี 2557 ซึ่งได้รับความนิยมล้นหลาม จนถูกนำมาตีพิมพ์ในปี 2559 ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ในปี 2560 และต่อยอดภาคสองเมื่อปีที่ผ่านมา 

ดร.นฤพนธ์ เล่าว่าจากกระแสการศึกษานิยายวายในสังคม เนื้อหาหลักของนิยายเรื่องดังกล่าวเล่าเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ของนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัย ความรักที่เกิดขึ้นบอกถึงความผูกพันและความใกล้ชิดระหว่างวัยรุ่นชายรูปร่างหน้าตาดีซึ่งไม่ได้นิยามตัวเองเป็นเกย์ แต่เป็นการแสดงอารมณ์ความเสน่หาต่อคนเพศเดียวกันเท่านั้นเอง 

 

“นิยายเดือนเกี้ยวเดือนเป็นตัวแทนการสร้างความหมายใหม่ของภาพชายรักชาย ที่ละทิ้งภาพจำเก่าๆ ที่ว่าไม่ใช่ผู้ชาย เพราะมีบุคลิกนุ่มนิ่มและอารมณ์อ่อนหวานเหมือนผู้หญิงบนอยู่ แต่ตัวละครในเรื่องจะแสดงความเป็นชายที่แข็งแกร่งตามบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง ผู้เขียนนิยายได้เพิ่มความรักและความเสน่หาต่อเพศเดียวกันเข้าไปในตัวละคร” 

 

ในที่นี้จะเรียกว่า ‘บุรุษเสน่หา’ (Androphilia) เป็นคำที่ Jack Donovan ใช้เป็นคำอธิบายในหนังสือ Androphilia: A Manifesto ปี 2006 โดยระบุว่าชายสามารถแสดงความรักและความเสน่หาทางเพศต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งความแข็งแกร่งของตัวเอง “เดือนเกี้ยวเดือนจึงตอกย้ำความเป็นชาย ที่มีคุณค่าทางเพศและกามารมณ์ เป็นการผลิตซ้ำตัวแบบเพศภาวะของชายชาตรีตามอุดมคติที่จะต้องไม่เปราะบางและอ่อนแอแบบผู้หญิง”

 

นิยายเดือนเกี้นวเดือน สำนักพิมพ์ everY

นิยายวาย เรื่อง เดือนเกี้ยวเดือน สำนักพิมพ์ everY

เช่นนั้นจึงเปิดพื้นที่ให้สังคมมองเห็นความเป็นไปได้ที่ผู้ชายจะแสดงความรักต่อกัน ทว่านิยายเรื่องนี้กลับเลือกพูดเฉพาะประสบการณ์ของวัยรุ่นชายหน้าตาดีและมีการศึกษาเท่านั้น แฝงด้วยนัยยะการปิดกั้นและเบียดขับผู้ชายกลุ่มหน้าตาไม่ดี มีฐานะไม่ดี และมีอายุมากให้อยู่ชายขอบ สิ่งนี้คือวิธีการสร้างและหล่อหลอมมายาคติใหม่ที่ทำให้สังคมเชื่อว่าผู้ชายหน้าตาดีเท่านั้นที่จะรักและเสน่หาต่อกันได้

คำถามคือปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ มันกำลังพยายามขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปิดพื้นที่ให้คนรักเพศเดียวได้มีตัวตน มีการแสดงออกมากขึ้นจริงไหม ดร.นฤพนธ์ ทิ้งท้ายว่า นิยายแนว Boys Love อย่างเดือนเกี้ยวเดือน ไม่ใช่สื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมเรื่องเพศให้สังคม แต่มันกำลังควบคุมให้เรามองเรื่องเพศแค่เป็นไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าเราจะเอาตัวเองย้อนกลับมามองวิธีการควมคุมของมันอย่างไร

ประวัติศาสตร์ความรักระหว่างชายกับชายและหญิงกับหญิงนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์เสียอีก ดังนั้น ความรักระหว่างเพศเดียวกันจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นแค่กระแสนิยมหรือแฟชั่น 

คนเราจะรักกันไม่ได้อยู่ที่เขาเป็นเพศไหน แต่อยู่ที่รักกับใครและอุ่นใจที่จะรัก เพราะคุณค่าของความรักไม่ได้วัดด้วยเพศ และไม่มีเพศใดด้อยค่า...เกินกว่าจะมีความรัก