ศาลเจ้า ศรัทธา และ PM2.5

ศาลเจ้า ศรัทธา และ PM2.5

เมื่อฝุ่นจิ๋วกลายเป็นวาระแห่งชาติ ควันไฟจาการสักการบูชา จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องแก้ไข

ฝุ่นควันธูปฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่วัดและศาลเจ้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ นอกจากจะสะท้อนถึงศรัทธาความเชื่อของผู้คนแล้ว ยังสร้างมลภาวะทางอากาศ ส่งผลเสียต่อสุขภาพกับผู้ที่ทำมาหากินหรืออยู่อาศัยในบริเวณนั้น

การอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนสถานกับชุมชน ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นควันที่หลายคนกังวล จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ด้วยความเข้าใจทั้งในมิติของศาสนา วัฒธรรม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการไหว้เจ้าให้มิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีโมเดลต้นแบบอยู่ที่ย่านวัฒนธรรมไทย-จีน ...เยาวราช

1_1

เทศกาลแห่งฝุ่นควันและเสียง

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผู้คนต่างหลั่งไหลเดินทางมาเยาวราช เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ใกล้ๆ กันนั้นมีคนกลุ่มหนึ่งกับอุปกรณ์บางอย่าง จากโครงการ ‘การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช’ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กำลังทำการศึกษาวิจัยฝุ่นควันและเสียง ซึ่งดูแล้ววันนี้สภาพน่าจะหนักเอาการ

“เรามาตรวจวัดในสองเรื่องหลักๆ คือ ฝุ่น PM 2.5 แล้วก็เรื่องระดับเสียง ซ้ายมือที่เห็นนี่เป็นเครื่องวัดPM 2.5 ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเรียลไทม์ เราจะเก็บข้อมูลอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมงมาเฉลี่ย ซึ่งเราไม่ได้ทำแค่วัดนี้วัดเดียว เราทำมาแล้วในชุมชนต่างๆ ของเยาวราช แล้วก็ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ทรงวาด, ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ, ศาลเจ้าไต้ฮงกง และ ศาลเจ้ามูลนิธิเทียนฟ้า เอามาเปรียบเทียบกันว่า ย่านในชุมชน ย่านที่ติดถนน แล้วก็ย่านศาลเจ้าเป็นอย่างไร

ค่าฝุ่นตอนนี้วัดได้100 กว่าๆ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร บางทีขึ้นไป 150-200 หรือลงมา 90 ขึ้นอยู่กับปริมาณธูปและสถานที่ ถ้าเป็นสถานที่ปิดก็จะมีควันธูปเยอะ วัดนี้ได้ย้ายกระถางธูปออกมาข้างนอก ทำให้ควันธูปภายในอาคารลดลง ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราที่อยู่ไม่นานจะไม่เท่ากับคนอยู่ในพื้นที่นี้ต่อเนื่อง

2_1

ส่วนค่าเสียง เป็นมลพิษที่ถูกลืม เพราะเราชินชากับมัน การวัดจะบอกได้ว่า ระดับเสียงที่เราได้ยินมีผลกระทบกับเราหรือยัง และระดับเสียงมีความแตกต่างอย่างไรในแต่ละสถานที่ ผลตรวจออกมาว่า ที่นี่มีเสียงดัง 80-90 เดซิเบล นั่นเกิดจากการใช้ไมโครโฟนประกาศต่างๆ เรามีค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้ 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 70 เดซิเบล A ซึ่งเสียงที่เกินค่ามาตรฐานจะทำให้สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว หูอื้อ หรือถ้าได้รับเสียงดังต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการเสื่อมของการได้ยิน” ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงการทำงานในวันนี้ ซึ่งหลังจากผ่านไป 8 ชั่วโมง (8.00-16.00น.) ค่าฝุ่นPM 2.5  เท่ากับ 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไปมากพอสมควร

 ปัจจุบัน ศาลเจ้าในกรุงเทพฯมีจำนวน 261 ศาลเจ้า เฉพาะเขตสัมพันธวงศ์ (เยาวราช-เจริญกรุง) มีศาลเจ้ามากที่สุดถึง 22 แห่ง ย่านนี้เป็นแหล่งวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา และแหล่งจำหน่ายสินค้าในเทศกาลต่างๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีน นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปี ทำให้การจุดธูปและเผากระดาษมากขึ้น เกิดฝุ่นควันและเศษผงมากมาย จนชาวบ้านทนไม่ไหวลุกขึ้นมาร้องเรียน ภาครัฐจึงขอความร่วมมือมายังศาลเจ้า ก่อนจะกลายเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน วิชาการและศาสนสถาน โดยข้อมูลจากการวิจัยนี้จะถูกใช้ในการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

  3_1

ไหว้เจ้าแบบลดมลภาวะ

หลังจากได้ข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศและเสียง แนวทางการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงมิติทางวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนจึงเกิดขึ้นภายใต้โครงการ ‘การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช’

“เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะหาใครเป็นโจทย์เป็นจำเลย และไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกประเพณีวัฒนธรรมการไหว้แต่อย่างใด แต่เรากำลังดีไซน์การไหว้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้ชุมชนนี้ มีมิติทางอาหาร ขนม ประเพณี วัฒนธรรม การไหว้สักการะเทพเจ้า การท่องเที่ยว ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับคนที่อยู่ในชุมชน 

งานวิจัยของเราต้องการให้สังคมเกิดตระหนักเรียนรู้ มองว่าสังคมต้องเป็นส่วนสำคัญร่วมกันจัดการปัญหานี้ เราได้มาสำรวจเพื่อให้เห็นถึงปัญหาและกระบวนการ จากนั้นจึงไปออกแบบวิธีการ โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนเยาวราช โดยการ Compromise ส่วนของวิทยาศาสตร์ คือการศึกษาด้านเทคนิคในเรื่องของมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เสียงดัง ปัญหามลพิษอื่นๆ นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ด้วยความร่วมมือจากชุมชนและเครือข่ายภาครัฐเพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุด เข้ากับส่วนของสังคมศาสตร์ จะต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงของคนเยาวราชที่มาจากคนเยาวราชเอง ดำรงอยู่ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมเดิม" 

5_1

ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงหลักคิดของโครงการ พร้อมย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้เยาวราชเปลี่ยนไป แต่ต้องการให้คนในสังคมเห็นเยาวราชในมุมดีๆ "ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เราห้ามไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนให้อยู่ร่วมกันได้ครับ”  

ในมุมของผู้ที่ถูกร้องเรียน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมังกรฯ บอกว่า ทางวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหานี้แล้วตั้งแต่ 3-4 ปีก่อน โดยวัดได้ร่วมมือกับเขตเจริญกรุง ลดกระถางธูป ลดการเผาเครื่องกระดาษ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีข่าวความกังวลเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 เสียอีก

พระธวัชชัย แก้วสิงห์ ดร.(1)

"เราตระหนักถึงความสำคัญในสุขภาพของทุกท่าน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและน่ากลัวมาก ทางวัดกำชับให้คณะพระและลูกศิษย์ควบคุมเครื่องกระดาษ ที่ชาวจีนชาวไทยมาไหว้ในช่วงเทศกาล กระถางธูปเมื่อก่อนจะมีทุกวิหารเลย เทพเจ้า 50 กว่าองค์ หนึ่งองค์ก็หนึ่งกระถาง ก็ลดลงมาเหลือ 5 กระถาง จำนวนธูปจาก 21 ดอก 30 ดอก ก็เหลือ 15 ดอก ในอนาคตอาจจะเหลือ 3 กระถางก็ได้ บริเวณด้านในวัดค่อนข้างแออัดมาก เราจึงย้ายกระถางธูปไปอยู่กลางแจ้งทั้งหมด ให้อากาศถ่ายเท จากนั้นก็ติดเครื่องกรองอากาศแล้วก็ติดแอร์ทั่ววัด ส่วนเตาเผากระดาษในวัด เราปิดมา 3-4 ปีแล้ว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5” พระธวัชชัย แก้วสิงห์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส กล่าวและว่าในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำคัญอยู่ที่จิตใจมากกว่า

“อาตมาคิดว่ามันอยู่ที่จิต อยู่ที่เราตั้งจิตอธิษฐานมากกว่า ส่วนของเครื่องไหว้เป็นแค่กุศโลบายให้คนได้มาไหว้เท่านั้น อนาคตอาจจะมีการลดจำนวนธูปลงก็เป็นไปได้ วัดเล่งเน่ยยี่มีคนมาเยอะมาก วันหนึ่งมาหลายหมื่นท่าน ถ้า 15 ดอกหลายหมื่นคนก็ทำให้เกิดฝุ่นแถวนี้ค่อนข้างเยอะ เราเลยพยายามปรับเปลี่ยนให้ได้ไวที่สุด แจ้งให้ญาติโยมรู้ด้วยการประกาศ ประชาสัมพันธ์ทุกวัน สองติดป้ายบอกชาวจีนที่มากันเยอะว่า จุดนี้ ไหว้กระดาษเสร็จให้เอาไปวางรวมกันอยู่ที่ข้างๆ เตาเผา ทางวัดจะนำไปจัดการต่อเอง ส่วนเรื่องแก้ปีชง ก็ไม่ให้ใช้ธูปแล้ว มีแต่ไหว้พระอย่างเดียว ชุดสะเดาะเคราะห์ของทางวัดก็ไม่ได้ทำเสร็จแล้วเผาเลย แต่จะเก็บไว้ตลอดทั้งปีของปีนั้นไป ส่วนมากที่เห็นเผากัน เขาซื้อมาจากด้านนอก เป็นกระทง คนขายข้างนอกก็เคยเรียกเข้ามาประชุมอยู่” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเล่าถึงความพยายามที่ผ่านมาของทางวัดเพื่อลดมลภาวะที่เกิดขึ้้น

  03

จากเยาวราชสู่ศาลเจ้าทั่วไทย

คนที่มาเยาวราช ถ้าต้องการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่จะมาที่วัดมังกรกมลาวาส ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์กลางของคนเยาวราชและนักท่องเที่ยว สามารถเป็นองค์ความรู้ เป็นต้นแบบกุศโลบายในการไหว้ที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษให้กับศาลเจ้าต่างๆ ได้ ด้วยการไม่ใช้เครื่องกระดาษ หรือการสะเดาะเคราะห์ที่ไม่ต้องเผา เพราะที่วัดนี้มีแต่ชุดปัดตัว ส้ม และ พวงมาลัย เท่านั้น

 

“เราไม่สามารถจัดการปัญหาโดยห้ามไม่ให้ไหว้ ไม่ให้ใช้ธูปได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของเรา แต่จะเปลี่ยนอย่างไรให้วิถีชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้โดยไม่สร้างปัญหา การสักการะบูชา เราห้ามความเชื่อไม่ได้ คนที่จุดธูปก็เป็นส่วนหนึ่งของการก่อมลพิษ จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนและสังคม ในมิติที่สอง เราต้องทำให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม วัด ศาลเจ้า โรงเจ เริ่มปรับตัวเปลี่ยนแปลง ลดจำนวนกระถางธูป เคลื่อนย้ายบริเวณจุดธูปออกมากลางแจ้ง ในที่โล่ง ไม่ให้เป็นผลกระทบกับสุขภาพ ภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องการจัดการมลพิษในภาพรวมของประเทศ

โครงการวิจัย ณ ขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูล มีผู้ประกอบการวัฒนธรรม ศาลเจ้า วัดต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดมังกรฯ เป็นวัดที่สำคัญที่สุด ศูนย์กลางวัฒนธรรมของเยาวราช เมื่อวัดมังกรตอบรับเป็นพันธมิตรร่วมจัดการปัญหามลพิษร่วมกันกับเรา ก็จะเป็นพลังสำคัญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้กับศาลเจ้าต่างๆ ในเยาวราชที่มีอยู่มากกว่า 50 แห่ง เป็นตัวขับเคลื่อน เป็นกลไกสำคัญไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” ดร.วุฒิชัย กล่าว

เมื่อศรัทธาอยู่ที่จิตใจ การสักการะบูชาเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อแสดงถึงศรัทธานั้น เครื่องไหว้ ธูป เทียน หรือการเผากระดาษ จึงเป็นแค่ส่วนประกอบมิใช่จุดใหญ่ใจความ ซึ่งหากทำความเข้าใจในจุดนี้ได้ ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นบริเวณศาลเจ้าก็จะลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ประเพณีพิธีกรรมที่สืบต่อกันมายาวนาน การหาทางออกอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กรมการปกครอง ที่ดูแลศาลเจ้า 679 แห่งในประเทศไทย (รวมถึงสมาคมจีนต่างๆ), สำนักงานเขต ที่ดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน, กรมการศาสนา ที่ดูแลวัดวาอาราม, กรมอนามัย ที่ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชน และกรมควบคุมมลพิษ

ที่สำคัญ ต้องไม่ใช่แค่การย้ายที่เผา เอาขยะที่นี่ไปก่อมลพิษที่อื่น แต่ต้องเชื่อมต่อกระบวนการลดขยะและลดการเผาอย่างครบวงจร