ห่วงโซ่ Safe Food

ห่วงโซ่ Safe Food

การเชื่อมต่อความหวังและข้อจำกัดของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะทำให้แนวคิดเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นไปได้จริง

ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้สารเคมีและสารพิษจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งความเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทำให้สังคมเริ่มตระหนักลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เลิกการใช้สารเคมี ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น บางคนถึงกับละทิ้งชีวิตในเมืองไปอยู่ชนบท ปลูกผักเลี้ยงปลากินเอง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่ ความหวังนี้ถูกฝากไว้กับภาครัฐให้มีมาตรการทดแทนการใช้สารเคมีในการเกษตร ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคต่อไป 

  1_1

ต้นน้ำ

ประเทศไทยโชคดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะความหลากหลายของสัตว์ทะเล ทว่าระยะหลังสัตว์ทะเลเริ่มร่อยหรอ เพราะการจับปลาที่ไม่คำนึงถึงอนาคต สร้างความวิตกให้กับชาวประมงไม่น้อย

“สิบปีที่ผ่านมา มีบางอย่างทำให้ตลาดเปลี่ยนไป สัตว์น้ำที่จับได้เกินครึ่งถูกนำไปเป็นปลาป่น ปลาเป็ด ไปเป็นอาหารสัตว์ แล้วนำสัตว์นั้นมาเลี้ยงคนอีกทีหนึ่ง คนทั้งโลกมี 6000-7000 ล้านคน แต่มีคนที่เข้าถึงสัตว์น้ำจริงๆ ได้บริโภคจริงๆ ไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือไม่มีปลากิน ประมงขนาดเล็กที่เราช่วยเหลือ เขาผลิตสัตว์น้ำได้ดีมาก แต่ขายได้ราคาถูก อย่างปลาทู ในหมู่บ้านโลละ 20-30 บาท ในตลาด 100 บาท ถ้ารังสรรค์เมนูดีๆ ปลาทูตัวหนึ่งอาจได้ 300-400 บาท คนหาปลาได้ไม่คุ้มกับที่เขาลงแรง

6_1

ครั้งหนึ่งผมไปกินกุ้งในตลาด ต้องเข้าโรงพยาบาลแอดมิทสองคืนเพราะมีฟอร์มาลีน นี่คือปัญหาที่สอง ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ในตลาด 90 เปอร์เซ็นต์มีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะอาหารทะเล แล้วราคาก็สูงด้วย มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนจับได้มาเจอกับคนกินโดยตรง จึงทำ Fisherfolk in Bangkok ขึ้นมา” วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกล่าวในงานเสวนา CleanTalk In Farm In Sea ความมั่นคงทางอาหารและทะเลไทย ในงานจ่ายตลาดปลากลางกรุง Fisherfolk in Bangkok ครั้งที่ 6 ที่แบมบินี่ วิลล่า กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

5_1

 ขณะที่ ‘เชฟตาม’ ชุดารี เทพาคำ Top Chef Thailand เจ้าของร้านอาหาร Baan Tepa พูดในมุมของผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการนำเสนออาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคว่า “ตอนไปเดินตลาดสดมีคำถามว่าอาหารเหล่านี้ปลอดภัยแค่ไหน เราทำรีเสิร์ชมาเรื่อยๆ จนมาเจอคนจับปลา Fisherfolk in Bangkok เลยได้ทำงานด้วยกัน ลงไปดูที่จังหวัดสตูลจึงเลือกปลาที่นี่ เรารู้ว่าปลอดภัย อยากให้เชฟคนอื่นๆ ร้านอื่นๆ เห็นความสำคัญของการบริโภคอาหารทะเลที่ปลอดภัย คนที่มาทานอาหารกับเรา กลับมาเรื่อยๆ เพราะเขาสนใจและอยากรู้ว่าสิ่งที่เขารับประทานมันมาจากไหนแล้วปลอดภัยหรือเปล่า"

ไม่เพียงแต่อาหารทะเลเท่านั้น พืชผักผลไม้ ก็มีการตรวจสอบพบว่ามีสารเคมีตกค้างอยู่มากมายเกินกว่าที่คิด 

4

“จากการทำงานมา 7 ปี เห็นได้ชัดถึงความไม่ปลอดภัยของพืชผักผลไม้ เราใช้วิธีการตรวจในห้องปฏิบัติการ เห็นการตกค้างของสารเคมีจำนวนมาก ยิ่งห้องแล็ปสามารถขยายขอบเขตให้ตรวจได้มากเท่าไร ก็ยิ่งพบเห็นการตกค้างมากขึ้นเท่านั้น ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้สารเคมี 250 ชนิด ปกติเราสุ่มตรวจสารตกค้างจากสารกำจัดแมลง 4 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมสารแค่ 10 ชนิด อีก 90 เปอร์เซ็นต์เราไม่ได้สุ่มตรวจ พบว่าผักผลไม้ครึ่งหนึ่งมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน แล้วบางทีในหนึ่งตัวอย่างเราพบสารตกค้างมากสุดที่เราเคยเจอ 21 ชนิด

สถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ เราในฐานะผู้บริโภคจะแก้ไขร่วมกันได้อย่างไร เรารู้ไหมว่าต้นทางอาหารมาจากไหน เรารู้จักชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินไหม รู้จักชาวประมงที่จับปลามาให้เราไหม บางคนมีช่างตัดผมประจำตัว หรือจะเลือกโทรศัพท์สักครั้งก็ต้องดูอย่างละเอียด แต่กับอาหารที่กิน 3 มื้อ 5 มื้อ ไม่เคยรู้เลยว่าต้นทางมายังไง ปลูกมาแบบไหน มีอะไรตกค้างบ้าง รู้อีกทีก็เข้าโรงพยาบาลแล้ว มันไม่ได้ตกค้างแค่ในผัก ตรวจเลือดก็เจอ 1 ใน 3 ของเกษตรกรเป็นผู้เสี่ยง ปลูกคะน้า 45 วันต้องฉีดสารเคมี 20-25 ครั้ง แต่เมื่อไรผักมีรูก็ต้องฉีดมากขึ้นเป็น 36 ครั้งใน 45 วันเมื่อใช้ชุดตรวจแบบเดียวกับเกษตรกร เราก็เสี่ยง เราจะดูแลตัวเองยังไง 

สารเคมีภาคเกษตรไม่ได้ส่งผลเฉพาะผักผลไม้ แต่มันตกค้างไปในสิ่งแวดล้อม ลงแหล่งน้ำ ลงทะเล แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ในห่วงโซ่อาหาร สุดท้ายเป็นปลา แล้วก็มาที่เรา” ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)  แสดงความกังวล

  2_1

กลางน้ำ

ต้นน้ำเป็นอย่างไร กลางน้ำก็เป็นอย่างนั้น เมื่ออาหารมีสารพิษ ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ คนที่รู้ก็ปฏิเสธสิ่งนี้ ความต้องการในตลาดจึงทำให้เกิดอาหารกลุ่มใหม่ อาหารปลอดภัย อาหารเพื่อสุขภาพ เพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับคนรักสุขภาพ

“ในฐานะพ่อ มีลูกอายุสามขวบ ในฐานะผู้บริโภค ผมรู้จัก Fisherfolk หรือสินค้าอินทรีย์จากเลมอนฟาร์ม ผมว่าระบบฉลากสินค้าอาหารประเทศเรามันผิด มีปัญหาอยู่ ถ้าคุณจะทำอาหารออร์แกนิคในประเทศไทย คุณต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนในการสมัครให้เขามาตรวจสอบให้เขาเอาฉลากมาติดสินค้า คนที่ต้องการจะทำสินค้าดีๆ รับผิดชอบต่อผู้บริโภคจึงต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าคนอื่นเยอะมากๆ แต่ถ้าเป็น Industrial agriculture ใช้สารเคมีฉีดทีเดียวตายหมด ต้นทุนต่ำ ไม่เสียภาษีนำเข้า ไม่เสีย Vat แต่คนที่ทำออร์แกนิคถ้าใช้เครื่องจักรต้องเสียภาษีนำเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ โดน Vat อีก 5 เปอร์เซ็นต์ 

7_1

สินค้านำเข้าจากโอมาน อินเดีย ใส่ฟอร์มาลีนมา ผู้บริโภคก็ไม่สามารถจะแยกแยะได้ จึงต้องผลักดันไปที่กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องของฉลากอาหารที่ควรจะตอบสนองให้ผู้บริโภคสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ด้วยตัวเอง ถ้าเขาพร้อมที่จะผจญกับสารเคมีหรือการกระทำที่ไม่มีความยุติธรรมต่อห่วงโซ่อาหารเขาก็มีสิทธิที่จะรู้ หรือถ้ามีกลุ่มคนที่พร้อมจะจ่ายแพงกว่าเพื่อสุขภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อม เขาก็ควรจะมีทางเลือก" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พูดในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งถึงสถานการณ์อาหารที่ได้พบเจอ

เขามองว่าแม้ในปัจจุบันจะมีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่แปะป้าย ‘อินทรีย์’ แต่ก็ยังไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง 

"คำว่าอินทรีย์ก็ต้องมาคุยกันอีกว่าอินทรีย์แบบไหน certified หรือ ไม่ certified แล้ว certified โดยใคร ผมผลักดันไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตหลาย chain ในประเทศไทยจนกว่าจะมีบอกว่าระยะทางที่มาเท่าไร มี Carbon Foodprint เท่าไร มีสารเคมีหรือไม่มีสารเคมี ผมจะได้เลือกว่าผลไม้ที่ผมจะกินเดินทางมา 4,000 กิโลเมตรกับผลไม้ที่มาจากคลองโยง นครปฐม ผมจะเลือกอันไหน แต่ทุกวันนี้มันไม่มีบอก นอกจากคำว่า ออร์แกนิคกับไม่ออร์แกนิค นี่เป็นเรื่องที่สาธารณสุขหรือ อย.น่าจะเริ่มผลักดัน”

  3

ปลายน้ำ

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มปรากฏขึ้น เมื่อมีชาวประมงและเกษตรกรบางกลุ่มลุกขึ้นมาทำอาชีพแบบรับผิดชอบต่อสังคม แม้จะต้องเหนื่อย มีภาระมากขึ้นกว่าเดิม ความวิตกเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารนั่นเองทำให้พวกเขารู้สึกว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างก่อนที่จะสายเกินไป

“คนที่มาขายปลาที่นี่วันนี้ เวลากลับบ้านไป เขาไม่ได้นอนเฉยๆ แต่ไปทำซั้งกอ ไปทำธนาคารปู ทำยังไงให้ปลาให้ปูเข้ามาเยอะให้มันสมบูรณ์ ตัวเล็กอย่าไปจับ อนุรักษ์ไว้ นี่คือสิ่งที่เขาทำ เป็นภาษีที่เขาจ่ายให้กับทะเล อาซันอยู่ปากบารา หันมาขายปลาออนไลน์ ทำอย่างไรให้อาหารทะเลที่ดีจริงๆ ถึงมือผู้บริโภค ในราคาที่พอใจเป็นธรรมทั้งคนจับคนกิน เราไม่ควรจับปลาทูตัวเล็ก ปลาอินทรีย์ตัวเล็กไปทำอาหาร ควรจะรอ 6 เดือนให้ปลาโตเต็มวัยก่อน” วิโชคศักดิ์ กล่าวขณะที่เจ้าของร้านอาหารมองเห็นว่า ข้อมูลผู้ผลิตและผลผลิตในแต่ละฤดูกาลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย

“เรามี commitment ว่าจะไม่สร้างขยะอาหาร ไม่เบียดเบียนเกษตรกร ไม่ไปกดราคาเขา เราต้องการพื้นที่ที่สามารถเข้าไปดูได้ แล้วเขาพร้อมที่จะซัพพลายเรา เราต้องหาผู้ผลิตที่หาอาหารให้เราได้ ซึ่งยังไม่มีที่ซัพพอร์ตเลย เราไม่มีผู้ผลิตที่รวบรวมข้อมูลว่าฤดูนี้มีอย่างนี้นะ เวลาอยากได้ผักอย่างหนึ่งต้องโทรหา 8-9 เจ้า เรื่องฐานข้อมูล เกษตรกร หรือชาวประมงหลายๆ กลุ่มเชื่อมโยงกันยังไง จะวางแผนการปลูกยังไงไม่ต้องใช้สารเคมี ถ้าทุกคนร่วมมือกันเราทำได้ ทำเมนูเป็นอาหารตามฤดูกาล” เชฟตาม ชุดารี กล่าวถึงทางออกของการหาวัตถุดิบที่ดีมาทำอาหาร ซึ่งความหวังนี้จะเป็นจริงได้อาจต้องใช้เวลายาวนาน เพราะโครงสร้างการบริหารจัดการที่ภาครัฐมียังไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

“ประเทศเรามีกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับงบประมาณสามล้านล้าน ผมมีโอกาสได้เข้าไปนั่งในกระทรวงเกษตรกับกระทรวงทรัพยากรฯแล้วก็มหาดไทย เกษตรอินทรีย์มีอยู่ทุกโปรเจ็ค 20 กว่าโครงการ กระทรวงเกษตรต้องปรับโครงสร้าง เพราะจะรับผิดชอบเกษตรอินทรีย์ 20 กว่าโครงการมันเป็นไปไม่ได้ กระทรวงเกษตรต้องมีกรมเกษตรอินทรีย์มาเป็นแม่งานดูแลเรื่องนี้ ต้องมีกรมเกษตรแปรรูป ซึ่งทั้งสองอันนี้ไม่มีหน่วยงาน อย่างอ้อยหรือน้ำตาลก็ไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเลย โครงสร้างมันมีปัญหา

ปัญหาสาธารณสุขหมื่นกว่าล้านที่บัตรทองต้องจ่ายให้กับคนที่ป่วยจากสารเคมี ปัญหาจากเศรษฐกิจที่เราส่งผักไปยุโรปถูกตีกลับปีหนึ่ง 5,000 กว่าล้าน ที่เสียหายมากกว่านั้นคือภาพลักษณ์ safe Thailand มันหายไปทุกครั้่งที่เราโดนตีกลับ ปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมของที่ดินของน้ำ ต้องใช้ต้นทุนในการรักษา ไม่ได้รวมไปกับสินค้าการเกษตร ไม่ได้ไปรวมกับต้นทุนสารเคมี 

สารเคมีนอกจากไม่เสียภาษีไม่เสีย Vat ยังไม่ได้คำนึงถึงปัญหาของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับผลจากสารเคมีด้วยซ้ำ มันคิดไม่ครบตรงนี้เลยไม่สามารถทำให้แก้ปัญหาได้ สินค้าเกษตรอินทรีย์ควรได้รับการสนับสนุนจากโครงการของรัฐที่มีอยู่ แทนที่จะไปอุดหนุนที่ราคาข้าวอย่างเดียว ไปอุดหนุนที่ต้นทุนได้หรือเปล่า อะไรที่ชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ที่แพงกว่าสารเคมี ลดราคาครึ่งหนึ่งได้ไหม เป็นการ subsidy ที่ต้นทุน เกษตรกรก็จะลืมตาอ้าปากได้

ถ้าผมเป็นโรงงานแล้วผมผลิตแก๊สสู่ประเทศก็ต้องมีภาษีคาร์บอน ถ้าผมผลิตอาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้ต้นทุนดูแลคนสูงขึ้นก็ต้องมีภาษีสุขภาพ ถ้ามีสารเคมีที่มีผลกับเศรษฐกิจและสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีภาษีส่วนนี้ ขณะเดียวกันถ้าผมทำประมงที่รับผิดชอบ ก็ต้องเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ีทำประมงทำลายล้าง ผมไปดูตัวเลขมา มันไม่เป็นอย่างนั้น คนทำประมงจับมั่วไปหมดเสียภาษีน้อยกว่าประมงรับผิดชอบ ถ้าได้ภาษีตรงนี้มาเป็นกองทุนเกษตรอินทรีย์ เป็นกองทุนอนุรักษ์ทะเลไทย รัฐบาลบริหารดีๆ ไม่ต้องมีงบประมาณก็ได้ ขณะที่ อย.และกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องคิดเรื่องฉลากสินค้าใหม่ ถ้าทำได้ ระบบมันจะดีกว่านี้“ พิธา ชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

 อย่างไรก็ดี ทางออกของเรื่องนี้ นอกจากจะแก้ที่นโยบายของภาครัฐและความใส่ใจของผู้ประกอบการแล้ว ยังเริ่มได้ทันทีที่ตัวผู้บริโภคเอง โดยการเลือกสินค้าอินทรีย์-อาหารปลอดภัย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ดูแลสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค ยืนยันถึงเจตนารมย์ของการสร้างสังคมอินทรีย์ที่เป็นธรรมกับทุกคน