โมเดลอนุรักษ์ ‘พระธาตุเมืองคอน’ ส่งมรดกไทย สู่มรดกโลก

โมเดลอนุรักษ์ ‘พระธาตุเมืองคอน’ ส่งมรดกไทย สู่มรดกโลก

ความก้าวหน้าของงานอนุรักษ์โบราณสถานบนเส้นทางสู่มรดกโลก

กองอิฐที่เคยเป็นโครงสร้างของเจดีย์ เป็นองค์ประกอบของโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เหลือเพียงซากปรักหักพังที่รอวันทำนุบำรุง นั่นคือความจริงที่ว่า ประเทศไทยมีแหล่งวัฒธรรมทางประวัติศาสตร์มากมายซ่อนตัวอยู่ในทุกภูมิภาค แต่ยังขาดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนจากคนในชาติ

กองอิฐที่ว่ามาจากเรื่องเล่าของ รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม หรือ ‘อาจารย์นคร’ หัวหน้าชุดโครงการ ‘อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม’ ที่ตั้งปณิธานว่าจะต้องเริ่มรักษาโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือไว้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีกองอิฐที่สองสามสี่เรื่อยๆ และสุดท้ายก็เหลือไว้เพียงภาพถ่ายในความทรงจำ

 

2

 

 อาจารย์นครมักจะพานักวิจัยชาวต่างชาติไปชมแหล่งประวัติศาสตร์ที่อยุธยา วันนั้นเมื่อนานมาแล้ว อาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งกำลังพูดกับเพื่อนของเขา โดยมีชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าบ้านยืนข้างๆ แปลกตรงที่ปกติเขาก็จะคุยกันด้วยภาษาญี่ปุ่น แต่วันนั้นกลับพูดด้วยภาษาอังกษฤษทำนองว่า

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่มาที่นี่ กองอิฐกองนี้ไม่ใช่อิฐที่พังทลาย ยังเป็นรูปทรงของโครงสร้างทางประวัติศาสตร์... ผมว่าเขากำลังสอนเราอยู่ว่าเราจะไม่ทำอะไรกับโครงสร้างที่เหลือเลยหรือ”

เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งหัวข้อโครงงานเล็กๆ เกี่ยวกับโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ในอยุธยา พานักศึกษาลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลรูปทรงต่างๆ ใช้ความรู้แบบพื้นฐาน โดยมีเครื่องมือคือกล้องถ่ายภาพสำรวจธรรมดาๆ นักศึกษาต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งโปรเจ็คยังไม่ได้รูปทรงเลย แต่นั่นกลับเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นอนุรักษ์โบราณสถานที่เคยสมบูรณ์ในอดีต

“หนึ่งปีผ่านไปอาจารย์คนที่จุดประกายความคิดให้กับเรา ก็นำทีมวิจัยของเขามาพร้อมกับเทคโนโลยีการถ่ายภาพสามมิติ โดยถ่ายทีละเฟรมๆ ใช้เวลา 3 วัน ในการถ่ายภาพและอีก 2 เดือนในการประมวลผล ตอนนั้นเราทำกันที่วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา กระทั่งได้เทคโนโลยีการบินโดรนจากอาจารย์กฤษฎา ไชยสาร ในทีมวิจัยเดียวกัน ภายในครึ่งวันก็ถ่ายภาพวัดได้ทั้งวัดอย่างง่าย นำไปประมวลผลต่ออีกหนึ่งวัน จากนั้นก็ส่งไปขึ้นรูปเป็นภาพสามมิติ” หัวหน้าโครงการวิจัย เล่าจุดเริ่มต้นอย่างละเอียด

 

บินโดรนถ่ายภาพ 3 มิติ

 

โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงวิศวกรรม เพื่อระบุและประเมินสภาพปัจจุบันของโครงสร้างในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร แห่งเมืองนครศรีธรรมราช โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีเบื้องหลังความสำเร็จคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานสู่มรดกโลกของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้ ซึ่งมีการทำงานในหลายๆ ส่วนด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่เก็บข้อมูลสามมิติ โดยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘ซีทีสแกน’ และโดรนสำหรับบินถ่ายภาพ 360 องศา เพื่อประมวลผลเป็นภาพสามมิติในมุมสูงที่เก็บรายละเอียดของตัววัดได้กว้างและครบถ้วนมากขึ้นกว่าภาพสามมิติทั่วไป เพื่อตรวจสอบขนาดของตัวเจดีย์หรือการเอียงที่เกิดขึ้น ซึ่งทีมวิจัยเองก็พบข้อมูลว่า ปัจจุบันตัวองค์พระบรมธาตุเจดีย์เอียงอยู่ที่ 1.45 องศา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแบบจำลอง 3 มิติ ยังสามารถใช้ในการประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้างจากพื้นผิวภายนอกและใช้ในการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และมีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วย GPS เพื่อตรวจหาวัตถุแปลกปลอมใต้พื้นดิน 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดการสั่นไหวที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์หาความถี่ธรรมชาติของเจดีย์พระมหาธาตุและเจดีย์รายอีกจำนวน 22 เจดีย์ จากการศึกษาการสั่นสะเทือนที่ได้จากการซีทีสแกนวัดค่าประเมินหาแรงสั่นสะเทือนที่มาจากการจราจรบริเวณรอบๆ วัด ว่ามีผลต่อการทรุดตัวหรือเอนเอียงของเจดีย์หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีผลต่อการเอียงมากพอ เว้นแต่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ค่าที่ได้ทั้งหมดนำไปขึ้นแบบจำลองสามมิติในการวิเคราะห์โครงสร้าง เพื่อประเมินความมั่นคงของเจดีย์และรักษาความปลอดภัยของโบราณสถาน

 

สำรวจธรณีฟิสิกส์

ในส่วนของทีมที่ดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนพระธาตุเมืองคอนสู่การเป็นมรดกโลกนั้น ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ฝ่ายวิชาการมรดกโลกจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าถึงความสำคัญของมรดกไทยแห่งนี้ว่า ประเทศไทยมีแหล่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 5 แห่งด้วยกัน สองแห่งแรกคือแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับดงพญาเย็น และอีกสามแห่งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม คือที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและพระนครศรีอยุธยา สุดท้ายที่ภาคอีสานของเรากับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานี

กรมศิลปากรและจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างมองเป็นภาพเดียวกันว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันตกมานาน นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-16 และเจริญอย่างต่อเนื่องที่พุทธศตวรรษที่ 18 โดยจารึกทางประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ บอกถึงการมีตัวตนจริงของวัดแห่งนี้ รวมไปถึงความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ องค์ระฆังที่สร้างโดยหลักธรรมพระพุทธศาสนา การออกแบบเจดีย์ราย 149 องค์มากที่สุดในไทย ทั้งได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องกับประเพณีการแห่พระธาตุประจำปี

กระทั่งปี 2555 จึงเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโก เพื่อบันทึกไว้ในทะเบียนเบื้องต้น (Tentative List) และในปีต่อมายูเนสโกได้บันทึกในบัญชีเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้เวลา 10 ปี ในการเตรียมความพร้อมทั้งเอกสารภาคภาษาไทย-อังกฤษ สภาพความมั่นคงของโบราณสถาน รวมถึงความพร้อมในการดูแลพระธาตุเมืองคอน

ในฐานะเจ้าบ้านที่เติบโตมากับที่แห่งนี้ 6 ปีที่ผ่านมา ผศ.ฉัตรชัย ในหมวกของประธานฝ่ายวิชาการ เล่าว่ามีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้านตามข้อกำหนดที่ยูเนสโกให้มา ทั้งศึกษาและวางแผนทำชุดข้อมูลที่เล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญ กระบวนการในการป้องกันและอนุรักษ์องค์พระธาตุ แต่ถึงอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชน ในฐานะสาธุชนคนไทยที่เกิดและโตมากับวัดพระมหาธาตุฯ และร่วมเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ บริบท ล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้กำลังจะนำเอกสารยื่นต่อยูเนสโกเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์

“นี่คือมรดกของมนุษยชาติที่อยู่ในคาบสมุทรมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมรดกทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ในแต่ละภูมิภาคของไทยต่างก็มีแหล่งมรดกวัฒนธรรมด้วยกันทั้งนั้น และที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ที่วัดแห่งนี้ ผมเห็นสมควรว่าถึงเวลาที่จะพาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจากมรดกไทยสู่มรดกโลก เพื่อจารึกเป็นประวัติศาสตร์และอนุรักษ์ไว้ชั่วลูกชั่วหลาน” ผศ.ฉัตรชัย กล่าว

ความรู้ที่ได้จากการการวิจัยนี้ จะเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจติดตามสภาพในอนาคตที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีจากทีมวิจัยที่ออกแบบไว้สามารถเรียนรู้และใช้ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในประเทศไทยยังมีโบราณสถานอีกมากมายที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและยังขาดการบูรณะด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง และร่วมกันสร้างคุณค่าจากงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม

หัวหน้าทีมวิจัยยังบอกอีกว่า เทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างเพื่อการดูแลรักษา มันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโบราณสถาน หลักสำคัญคือการเก็บข้อมูลสามมิติที่สามารถเรียนรู้และทำได้เองโดยที่ไม่ต้องพึ่งนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญเสมอไป เราสร้างเทคโนโลยีนี้แล้วส่งต่อเทคนิคให้คนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งซอฟแวร์ที่ใช้นี้ก็ฟรี เพียงมีโดรน มีคอมพิวเตอร์เป็นเซิร์ฟเวอร์ในการประมวลผล เพียงเครื่องพีซีที่เล่นเกมได้ก็สามารถใช้งานเทคโนโลยีตัวนี้ได้แล้ว

 

5

 

“ท้ายที่สุดแล้วงานวิจัยก็คืองานพัฒนา การรวมเป็นศูนย์ของฐานข้อมูลที่มีทั้งรูปทรง โครงสร้าง วัสดุต่างๆ นั้น นักโบราณคดี นักสำรวจ สถาปัตยกรรม สามารถใช้เป็นมาตราฐานในการจัดการข้อมูล และที่มากไปกว่านั้นเราอาจต่อยอดป้อนความสนุกของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ก็ต้องยอมรับว่า อาจจะน่าเบื่อ จำเจสำหรับคนรุ่นใหม่ ผ่านเกมโดยที่เราไม่ต้องมานั่งสอน ซึ่งนี่เป็นความจริงที่ว่าเด็กจะจดจำและรู้เรื่องราวของตัวคาแร็กเตอร์ สถานที่ในเกมได้อย่างลึกซึ้ง แม้จะไม่เคยไปสัมผัสสถานที่นั้นด้วยตัวเอง” เหล่าทีมวิจัยแสดงความเห็นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่การปลูกฝังความรู้ทางประวัติศาตร์อย่างแยบยล

สอดรับกับแนวคิดที่ว่า มรดกเหล่านี้เกิดขึ้นในอดีต โดยคนรุ่นก่อนส่งต่อมายังผู้คนในรุ่นปัจจุบัน แต่วันหนึ่งคนเหล่านี้ก็จะหายไป เหลือเพียงเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องมาดูแลต่อ ถ้าเขาไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคย เขาก็จะไม่เห็นความสำคัญที่จะรักษาไว้ ซึ่งก็ใช่ว่าจะไม่มีคนที่สนใจในเรื่องนี้เลย เพียงแต่ว่าอาจเป็นการอนุรักษ์เฉพาะกลุ่ม ดังนั้นน่าจะดีกว่าถ้าเราสามารถขยายกลุ่มคนที่อนุรักษ์มรดกนี้ให้กลายเป็นคนไทยทั้งประเทศ

และคงจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากเราให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกลุ่มคนที่จะต้องสืบทอดมรดกเหล่านี้ต่อไป เพราะพวกเขาคือเจ้าของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งโลกอนาคตด้วยเช่นกัน